วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

นางฟ้าเจ้าเวหา (The Flying Angles)

นางฟ้าเจ้าเวหา (The Flying Angles)


Heroes of the Soviet Union

                ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง สตรีมีบทบาทสำคัญในกระบวนการผลิตอาวุธยุทธโทปกรณ์และเสบียงอาหารเพื่อสนับสนุนบุรุษซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับข้าศึกในแนวหน้า แต่สตรีกลุ่มหนึ่งกลับมีบทบาทในการต่อสู้กับข้าศึกในแนวหน้าเคียงบ่าเคียงไหล่กับบุรุษ ทั้งยังสร้างวีรกรรมที่ห้าวหาญจนเป็นที่เลื่องลือและยกย่องเชิดชูไม่แพ้บุรุษ แม้กระทั่งข้าศึกของเธอเหล่านั้นก็ให้เกียรติยกย่องว่าเป็นวีรสตรีแห่งสนามรบทีเดียว
                สำหรับการรบทางอากาศ กลุ่มวีรสตรีที่โด่งดังมากที่สุดเห็นจะไม่มีใครเกินหน่วยบินพิเศษ ที่ 122 แห่งโวเอนโน วอสดุซนี ซิลลี่ (VVS) หรือกองทัพอากาศรัสเซีย ที่ประกอบด้วยกองบินขับไล่ที่ 586 (586 IAP) กองบินทิ้งระเบิดทางยุทธวิธีที่ 587 (587 BAP) และกองบินทิ้งระเบิดกลางคืนที่ 588 (588 NBAP)
                จากการที่รัสเซียถูกรุกรานโดยกองทัพเยอรมันอันเกรียงไกรตามแผนยุทธการบาบารอสซ่าในเดือนมิถุนายน 1941 นั้นเป็นผลให้กองทัพแดงและกองทัพอากาศรัสเซียประสบความสูญเสียอย่างย่อยยับ  ชตาฟก้า (Stavka) หรือกองบัญชาการทหารสูงสุดรัสเซียเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสร้างกำลังรบเพื่อทดแทนกำลังรบหลักที่สูญเสียไปรวมทั้งเพื่อสร้างกำลังสำรองขึ้นใหม่ จึงได้อนุมัติให้จัดตั้งหน่วยบินพิเศษ ที่ 122 ขึ้น ในเดือนตุลาคม 1941 เพื่อให้สตรีผู้รักชาติและประสงค์จะร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับบุรุษในแนวหน้าในการทวงดินแดนคืนเข้ามาเป็นทหาร และเพื่อป้องกันบรรดาปัญหาทั้งปวงจึงกำหนดให้กำลังพลของกองบินนี้กอรปด้วยสตรีล้วน และผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นมารดาแห่งกองบินสตรีผู้กล้าหาญนี้ได้แก่ มาริน่า ราสโคว่า สตรีผู้เชี่ยวชาญการเล่นเปียโนและการบินที่จบการศึกษาทางดนตรีจากวิทยาลัยการดนตรีพุชกิ้น!!!



มาริน่า ราสโคว่า

                มาริน่าเป็นสตรีที่มีความสามารถรอบด้าน นอกจากการดนตรีแล้ว เธอยังจบการศึกษาทางด้านเคมีด้วย ทั้งยังสามารถพูดอ่านเขียนภาษาฝรั่งเศสและอิตาเลียนได้อย่างเชี่ยวชาญ โดยหลังจากจบการศึกษาทางเคมีแล้ว มาริน่าได้เข้าทำงานเป็นนักเคมีประจำสถาบันวิศวกรรมอากาศยานชูคอฟสกี้ และการทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องบินนี้เองที่ผลักดันให้มาริน่าหลงใหลการบินอย่างหัวปักหัวปำจนต้องไปสมัครเรียนการบินและได้รับใบอนุญาตผู้ทำการในอากาศในฐานะนักบินในปี 1935 หลังจากนั้นอีกสองปี มาริน่ากับวาเลนติน่า กริโซดูโบว่า เพื่อสนิทของเธอ ร่วมกันบินยัค 12 ระยะทาง 1,445 กิโลเมตร โดยไม่หยุดพัก ซึ่งเป็นสถิติโลกสำหรับสตรีในเวลานั้น ต่อมาในปี 1938 มาริน่ากับเพื่อสนิทอีกสองคนได้สร้างสถิติการบินจากมอสโคว์ไปชายฝั่งแปซิกฟิก ระยะทาง 6,450 กิโลเมตร ซึ่งเป็นสถิติโลกสำหรับสตรีขึ้นอีกสถิติหนึ่ง โดยคราวนี้บินกับแอนโตนอฟ 37 และความเก่งกาจนี้เองที่ทำให้เธอได้รับเหรียญโกลด์สตาร์ในฐานะวีรสตรีแห่งชาติ (Hero of the Soviet Union)


มาริน่า (คนกลาง) กับเพื่อนและแอนโตนอฟ 37 หลังสร้างสถิติโลก

                ในฐานะสตรีผู้รักชาติและการบิน เมื่อรัสเซียถูกเยอรมันโจมตีและกำลังทางอากาศที่มีอยู่ถูกทำลายเสียหาญอย่างมาก มาริน่าซึ่งขณะนั้นเป็นหนึ่งในคณะกรมการป้องกันประเทศจึงไม่รอช้าที่เสนอแนวคิดในการจัดตั้งกองบินสตรีต่อโจเซฟ สตาลิน เพราะก่อนหน้าสงครามจะเกิดขึ้นนั้นสตรีรัสเซียจำนวนมากได้รับการฝึกบินจากสมาคมการบินต่าง ๆ และได้รับใบอนุญาตผู้ทำการในอากาศในฐานะนักบิน และประเทศจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ เมื่อสตาลินเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ชตาฟก้าจึงอนุมติให้จัดตั้งหน่วยบินพิเศษ ที่ 122 ขึ้นในที่สุด
                หน่วยบินพิเศษ ที่ 122 มีฐานปฏิบัติการที่เมืองแองเจิ้ล (Engels) เมืองเล็ก ๆ ริมฝั่งแม่น้ำโวลก้าทางตอนเหนือของซาราตอฟ (Saratov) และที่นี่เอง กองทัพอากาศรัสเซียได้จัดให้มีการฝึกบินรบหลักสูตรเร่งรัดให้แก่บรรดานางฟ้าผู้กล้าหาญเหล่านี้ก่อนออกปฏิบัติการจริง โดยพวกเธอต้องผ่านการฝึกการบินรบและนำร่องภายใน 6 เดือน หรือใช้เวลาน้อยกว่าหลักสูตรปกติถึงสามเท่า เมื่อผ่านการฝึกอันเข้มข้นนี้แล้ว จะมีการทดสอบฝีมือการบินก่อนมีคำสั่งให้เข้าประจำการในกองบินขับไล่ที่ 586 (586 IAP) กองบินทิ้งระเบิดทางยุทธวิธีที่ 587 (587 BAP) หรือกองบินทิ้งระเบิดกลางคืนที่ 588 (588 NBAP) โดยนักบินสตรีที่ได้รับคำสั่งให้เข้าประจำการในกองบินขับไล่ที่ 586 นั้น ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ปกป้องเมืองซาราตอฟซึ่งถือเป็นแนวหน้า ส่วนอีกสองฝูงที่เหลือจะออกปฏิบัติการตามที่ได้รับมอบหมาย
                ในขณะที่นางฟ้าเหล่านี้จบการฝึกบิน สถานการณ์รบของรัสเซียด้านสตาลินกราดอยู่ในขั้นวิกฤต  และสตาลินมีคำสั่งให้ยึดเมืองไว้ให้ได้ กองทัพอากาศรัสเซียจึงมีคำสั่งให้กองบินขับไล่ที่ 586 อยู่รักษาเมืองสตาลินกราด โดยให้นักบินประจำฝูงบินที่ 1 เตรียมพร้อมปฏิบัติหน้าที่นักบินอะหลั่ยเพื่ออกปฏิบัติการในกรณีกองบินใดขาดแคลนนักบินด้วย และต่อมามีคำสั่งให้จ่าอากาศเอกหญิง ลิดยา ลิฟยัค และจ่าอากาศเอกหญิง เยคาเทอริน่า คัทย่า บูดาโนว่า นักบินฝูงบินที่ 1 ไปปฏิบัติหน้าที่นักบินในกองบินที่ 73 หน่วยบินที่ 6 กองทัพอากาศส่วนแยกที่ 8 เพื่อควบคุมน่านฟ้าคราคอฟ โดยผู้บังคับกองบินจัดให้ลิดยาและคัทย่า ออกปฏิบัติการคู่กันเสมอ และสองสาวก็ทำให้สตรีรัสเซียต้องภูมิใจเมื่อลิดยาสามารถส่งนักล่าจากเยอรมันลงไปกองกับพื้นได้ถึง 12 ลำ โดยในวันที่ 22 มีนาคม 1943 นั้น ลิดยายิงแมสเซอชมิดต์ Bf-109 ตกถึง 2 ลำ ในการออกปฏิบัติการเที่ยวเดียว ส่วนคัทย่าคู่หูสามารถยิงเครื่องบินเยอรมันตกไปถึง 11 ลำ  อย่างไรก็ดี สถิติของวีรสตรีทั้งสองท่านได้ยุติเพียงเท่านั้น โดยลิดยาถูกยิงตกและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 1943 ส่วนคัทย่าถูกยิงตกและเสียชีวิตก่อนคู่หูของเธอ 14 วัน  วีรสตรีทั้งสองท่านนี้ได้รับเหรียญโกลด์สตาร์ในฐานะวีรสตรีแห่งชาติ (Hero of the Soviet Union)

                        
                                                                                                 เยคาเทอริน่า คัทย่า บูดาโนว่า



                                                                                                                


                                                                                                   ลิดยา ลิฟยัค

                สำหรับกองบินขับไล่ที่ 586 ส่วนที่อยู่รักษาสตาลินกราดนั้น อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนาวาอากาศตรีหญิง ทามาร่า คาซาริโนว่า พวกเธอขับ ยัค-1 ออกปฏิบัติการครองอากาศเหนือน่านฟ้าสติลินกราดอย่างกล้าหาญเช่นกันและในเดือนกันยายน 1942 วาเลอย่า คัมยาโคว่า แห่งกองบินนี้ได้กลายเป็นนักบินขับไล่สตรีคนแรกที่ยิงเครื่องบินข้าศึกตกในเวลากลางคืน มีส่วนสำคัญในความสำเร็จของปฏิบัติการแซทเทอร์นและยูเรนัสอันดุเดือดในเดือนพฤศจิกายน 1942 ที่มีเป้าหมายในการกวาดล้างกองทัพที่ 6 ของเยอรมันภายใต้การบังคับบัญชาของจอมพลเปาลุส และทำให้กองทัพที่ 6 ของเปาลุสยอมแพ้ต่อรัสเซีย อันเป็นจุดหักเหของแนวรบตะวันออก ในปี 1944 กองบินขับไล่ที่ 586 ได้รับการติดอาวุธใหม่โดยได้รับ ยัค-9 ซึ่งทันสมัยกว่ามาแทน ยัค-1 และได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหอกในการรุกเข้าฮังการีเพื่อกรุยทางสู่เบอร์ลิน และกองบินขับไล่ที่ 586 ปิดฉากสงครามโลกครั้งที่สอง ณ สนามบินที่รัสซียยึดได้ในออสเตรีย และในระหว่างสงครามอันโหดร้ายนี้ กองบินขับไล่ที่ 586 ออกปฏิบัติการทั้งสิ้น 4,419 เที่ยวบิน สามารถเก็บเกี่ยวชัยชนะได้ 38 ครั้ง



วาเลอย่า คัมยาโคว่า

                สำหรับกองบินทิ้งระเบิดกลางคืนที่ 588 นั้น ในช่วงแรกบังคับบัญชาโดยนาวาอากาศตรีหญิง มาริน่า ราสโคว่า และมีฐานปฏิบัติการที่ยูเครนนั้น และเป็นกองบินสตรีที่โด่งดังที่สุดของรัสเซีย หน้าที่หลักของกองบินเป็นการทิ้งระเบิดพื้นที่เคิชร์-ทามาน  นาวาอากาศตรี โยฮัน สไตนฮอฟ ของเยอรมันและเป็นผู้บังคับฝูงบิน 2 กองบินขับไล่เครื่องยนต์เดียวที่ 52 (JG 52) ผู้ทำสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตก 101 เครื่อง และเคยประมือกับสตรีเหล็กแห่งฝูงบินนี้มาแล้วเคยบันทึกถึงสตรีผู้กล้าเหล่านี้ไว้ว่า พวกเรา(นักบินขับไล่เยอรมัน)ทำใจไม่ได้ว่าเหล่านักบินรัสเซียที่สร้างปัญหาให้กับพวกเรานั้นเป็นผู้หญิง พวกเธอบ้าบิ่นมาก กล้าบินเครื่องบินทิ้งปีกสองชั้นเก่า ๆ ช้า ๆ มาทิ้งระเบิดใส่พวกเราคืนแล้วคืนเล่า จนพวกเราไม่เป็นอันหลับอันนอนกัน และนักบินเยอรมันเรียกบรรดานักบินทิ้งระเบิดกลางคืนเหล่านี้ว่า แม่มดราตรี (Night Witches)
                 เนื่องจากสภาพอากาศในรัสเซียไม่ค่อยจะดีนักและเครื่องบินที่แม่มดราตรีเหล่านี้ใช้เป็นเครื่องบินเก่าแบบ Po-2 มีระบบนำร่องแบบโบราณ การทิ้งระเบิดกลางคืนจึงไม่สามารถสร้างความเสียหายใหญ่หลวงเท่าใดนัก แต่เน้นการทำลายขวัญข้าศึกมากกว่า แต่ในวันที่ 25 ตุลาคม 1942 แม่มดราตรีโด่งดังเป็นพลุแตกในชั่วข้ามคืน เมื่อบินฝ่าความมืดและสภาพอากาศที่ย่ำแย่ไปทิ้งระเบิดกวนประสาทสนามบินเยอรมันที่อามาเวียเหมือนเคย แต่โชคช่วยเมื่อทิ้งไปโดนคลังน้ำมันเชื้อเพลิงของสนามบินเข้าอย่างจังจนระเบิดเสียงดังได้ยินไปไกล ทั้งยังทำให้เครื่องบินทิ้งระเบิดของฝูงบินที่ 2 กองบินทิ้งระเบิดที่ 51 (II./KG 51) ของเยอรมัน ไฟไหม้เสียหายเหลือแต่ซากจำนวน 6 เครื่อง รอดไปได้เครื่องเดียวเท่านั้น และทำให้ลุฟท์วาฟเฟ่มีคำสั่งให้ถอนฝูงบินที่ 2 กองบินทิ้งระเบิดที่ 51 ออกจากแหลมเคิชร์ (Kerch Peninsular) ทันที อันเป็นประโยชน์ต่อกองทัพรัสเซียในการยึดพื้นที่เคิชร์-ทามาน คืนจากเยอรมัน

                                                                                                                 

                                                                                                      Po-2

                อย่างไรก็ดี เยอรมันกู้วิกฤตการณ์แม่มดราตรีโดยนำเอา Bf-110s มาทำหน้าที่นักล่าแม่มด โดยติดไฟฉายเข้าไป ซ้ำร้ายยังฉายไฟจากภาคพื้นดินช่วยด้วย การบุกเข้าไปทิ้งระเบิดในเวลากลางคืนของบรรดาแม่มดราตรีจึงไม่ต่างจากแมลงเม่าที่บินเข้าหากองไฟ นักบินสตรีผู้กล้าหาญเหล่านี้ถูกเครื่องบินขับไล่กลางคืนของเยอรมันยิงตกเป็นจำนวนมากและเครื่องใดที่ถูกยิงเข้าก็เป็นอันว่านักบินต้องเสียชีวิตแน่นอนเพราะนักบินรัสเซียไม่มีร่มชูชีพติดตัวเหมือนนักบินชาติอื่น และเพิ่งจะจัดหาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานของนักบินเมื่อกลางปี 1944 เท่านั้น
                เซอราฟิม่า อาโมโซว่า อดีตแม่มดราตรีแห่งกองบินทิ้งระเบิดกลางคืนที่ 588 เล่าว่า คืนหนึ่งเมื่อพวกเราบินไปถึงเป้าหมาย พวกเยอรมันได้ฉายไฟฉายขึ้นมาแล้ว ปตอ.ก็เริ่มระดมยิงใส่พวกเรา ขณะที่พวกเราก็เริ่มทิ้งระเบิด อยู่ ๆ ก็มีการยิงพลุไฟสีเขียวขึ้นมาบนท้องฟ้า มันสว่างจ้าไปหมด และ ปตอ.ก็หยุดยิงกระทันหัน ทันใดนั้นเครื่องบินขับไล่เยอรมันก็เข้ามาจากไหนไม่รู้ยิงพวกเราตกลงไปถึง 4 เครื่องในชั่วพริบตา เราเห็นเครื่องบินของเพื่อนเราที่ถูกยิงติดไฟลุกท่วมเหมือนกับเปลวเทียน มันน่าสยดสยองมาก พวกเราที่เหลือจึงหันกลับทันที เมื่อกลับไปรายงานผู้บังคับบัญชา เขาสั่งพวกเรางดบินภารกิจที่เหลือในคืนนั้นและให้พักได้ แต่ลองนึกดูว่าพวกเราจะรู้สึกอย่างไรเมื่อไปถึงโรงนอน เราเห็นเตียงไม้ว่างเปล่าแปดเตียงก็ใจหาย และเมื่อจะหลับตา เรามองเห็นแต่เครื่องบินที่ไฟลุกท่วมเมื่อไม่กี่ชัวโมงก่อนนั้นอย่างติดตา
                กองบินทิ้งระเบิดกลางคืนที่ 588 ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญจนได้รับเหรียญกล้าหาญและได้เปลี่ยนชื่อกองบินนี้เป็นกองบินทิ้งระเบิดกลางคืนที่ 46 ผู้คุ้มครองทามาน ในวันที่ 6 มกราคม 1943 และมีแม่มดราตรีที่ได้รับเหรียญโกลด์สตาร์ในฐานะวีรสตรีแห่งชาติ (Hero of the Soviet Union) ในเวลานั้นถึง 23 ท่าน เช่น เรืออากาศโทหญิง ไอริน่า เซโบรว่า ที่ออกปฏิบัติการถึง 1,008 เที่ยวบิน เรืออากาศเอกหญิง นาตาลิย่า เมกลิน ที่ออกปฏิบัติการ 980 เที่ยวบิน เรืออากาศเอกหญิง เยฟกีนิย่า ซิกูเชนโก ที่ออกปฏิบัติการ 968 เที่ยวบิน เรืออากาศเอกหญิง มาริน่า สเมียโนว่า ที่ออกปฏิบัติการ 950 เที่ยวบิน เป็นต้น และยังมีอีก 1 ท่านที่ได้รับเหรียญโกลด์สตาร์ในฐานะวีรสตรีแห่งชาติเมื่อปี 1995 ซึ่งนับว่าเป็นกองบินที่นักบินได้รับเหรียญกล้าหาญมากที่สุดของกองทัพอากาศรัสเซีย พวกเธอออกปฏิบัติการทั้งหมดรวม 23,672 เที่ยว ทิ้งระเบิดไปทั้งสิ้น 3,000 ตัน (Po-2 แต่ละเครื่องบรรทุกระเบิดได้ไม่เกิน 300 กิโลกรัมเท่านั้น)



                                                                                              ไอริน่า เซโบรว่า        นาตาลิย่า เมกลิน         เยฟกีนิย่า ซิกูเชนโก        มาริน่า สเมียโนว่า

                ส่วนกองบินทิ้งระเบิดทางยุทธวิธีที่ 587 นั้น กองทัพอากาศรัสเซียได้ย้ายนาวาอากาศตรีหญิง มาริน่า ราสโคว่า มาเป็นผู้บังคับบัญชา โดยมีเรืออากาศเอกหญิง มิลิตซ่า คาซาริโนว่า น้องสาวของนาวาอากาศตรีหญิง ทามาร่า คาซาริโนว่า ผู้บังคับกองบินขับไล่ที่ 586 เป็นผู้ช่วย โดยในตอนแรกกองบินทิ้งระเบิดทางยุทธวิธีที่ 587 นี้ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ Su-2 ที่ล้าสมัยเป็นเครื่องบินประจำฝูง ต่อมากองทัพอากาศรัสเซียได้เปลี่ยนให้ใช้เครื่องบินดำทิ้งระเบิดสองเครื่องยนต์แบบ Pe-2 แทน เมื่อจบการฝึกบินเปลี่ยนแบบในวันที่ 22 พฤสจิกายน 1942 โวเอนโน วอสดุซนี ซิลลี่ มีคำสั่งให้กองบินนี้ไปปฏิบัติการทิ้งระเบิดบริเวณแนวรบสตาลินกราด และเครื่องบินดำทิ้งระเบิดของกองบินนี้มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของปฏิบัติการแซทเทอร์นและยูเรนัสอันดุเดือดในเดือนพฤศจิกายน 1942 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการยึดเมืองบอริสซอฟ (Borisov) คืนจากกองทัพที่ 6 ของเยอรมัน หลังจากนั้นได้มีส่วนในการรุกยึดพื้นที่ของรัสเซียคืนในอีกหลายสมรภูมิเลือด จนปี 1943 เมื่อกองทัพอากาศรัสเซียสามารถผลิตนักบินใหม่ได้เป็นจำนวนมากและภัยคุกคามจากลุฟท์วาฟเฟ่จำกัดอยู่ที่การคุ้มกันเบอร์ลิน กองทัพอากาศรัสเซียจึงถอนพวกเธอออกจากแนวหน้าโดยให้พวกเธอทำหน้าที่นักบินพร้อมรบ ณ สนามบินใกล้เมืองเอลแบลกในโปแลนด์ และได้ขนานนามกองบินนี้ใหม่ว่า กองบินทิ้งระเบิดที่ 125 มาริน่า ราสโคว่า ผู้คุ้มครองบอริสซอฟ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความกล้าหาญของวีรสตรีแห่งกองบินนี้ที่โยนระเบิดใส่ผู้รุกรานบอริสซอฟอย่างไม่กลัวตาย ธงประจำหน่วยของกองบินนี้ติดเหรียญ Order of Suvorov and Kutuzov ชั้นที่สาม พวกเธอออกปฏิบัติการรวมทั้งสิ้น 1,134 เที่ยว ทิ้งระเบิดไป 980 ตัน นักบินที่โด่งดังที่สุดของกองบินนี้ได้แก่มาริยา โดลิน่า โดยวันหนึ่งที่ออกปฏิบัติการดำทิ้งระเบิด เธอยังมีเวลาเหลือพอที่จะจัดการ Bf-109 และ Fw-190 ตกอีกอย่างละเครื่องด้วยก่อนกลับฐาน



Pe-2

                ความสำเร็จของบรรดานักบินสตรีผู้ห้าวหาญเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากทหารหญิงเหล่าอื่นของกองบินด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารช่างและทหารสรรพาวุธที่แม้จะไม่ต้องออกไปเสี่ยงตายกับเขา แต่ก็ต้องทำงานกันอย่างหนักหน่วงทั้งกลางวันกลางคืนและไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไรเพื่อให้นักบินออกปฏิบัติการได้ทุกเวลา หลายคนถูกหิมะกัด ถูกแดดเผา หลายคนถึงกับมีอาการป่วยทางประสาท
                อย่างไรก็ดี นาวาอากาศตรีหญิง มาริน่า ราสโคว่า มิได้มีโอกาสชื่นชมความสำเร็จของหน่วยบินพิเศษที่ 122 ที่เธอปลุกปั้นมากับมือ โดยเธอเสียชีวิตเนื่องจากเธอได้รับคำสั่งให้นำเครื่อง Pe-2s ไปเปลี่ยนในแนวหน้าให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ มาริน่าจึงตัดสินใจนำเครื่อง Pe-2s บินฝ่าพายุหิมะไปส่งตามคำสั่ง แต่เครื่องบินไม่สามารถต้านพลังธรรมชาติอันโหดร้ายได้จึงตกลงบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโวลก้าทางตอนเหนือของสตาลินกราดในวันที่ 4 มกราคม 1943



มาริน่า ราสโคว่า

                                

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น