วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เกอร์ฮาร์ด บาร์คฮอน (Gerhard Barkhorn) "หมายเลขสองของโลก"

ปกรณ์ นิลประพันธ์


Gerhard Barkhorn
          ไม่ว่าในสังคมใด เมื่อพูดถึงคนเก่ง คนก็มักจะพูดถึงคนที่เก่งที่สุดเสมอ คนที่ได้ลำดับรอง ๆ ลงไปมักจะไม่เป็นที่รู้จักและจดจำเอาเสียเลย นักบินรบก็เช่นกัน เมื่อกล่าวถึงยอดเพชฌฆาตแห่งเวหา ชื่อที่คุ้นเคยและกล่าวถึงย่อมเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก อีริค ฮาร์ทมาน ผู้สร้างสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตกถึง ๓๕๒ เครื่อง แต่ถ้าถามว่าหมายเลขสองของโลกคือใคร เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะตอบได้ ทั้งที่ชายผู้นี้ทำสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตกมากถึง ๓๐๑ เครื่อง ห่างจากสถิติของอีริค ฮาร์ทมาน เพียง ๕๑ ลำเท่านั้น และเขายังเป็นเพื่อนสนิทกับอีริค ฮาร์ทมาน ด้วย ชายผู้นี้คือ เกอร์ฮาร์ด บาร์คฮอน 

             นักบินที่โลกลืมคนนี้เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ (พ.ศ. ๒๔๖๒) ที่เมืองเคอนิกส์แบร์ก (Königsberg) เมืองหลวงของปรัสเซียตะวันออกที่อยู่บนชายฝั่งทะเลบอลติกและห่างจากเยอรมนีโดยมีฉนวนโปแลนด์คั่นกลาง (ปัจจุบันเมืองเคอนิกส์แบร์ก กลายเป็นเมืองคาลินินกราด (Kaliningrad)) ของรัสเซีย) เมื่ออายุ ๑๘ ปี (พ.ศ. ๒๔๘๐) เกอร์ฮาร์ด บาร์คฮอน ได้เข้าเป็นนักเรียนนายร้อย (Fahnenjunker) ในส่วนของลุฟท์วาฟเฟ่ และเข้ารับการฝึกบินตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ (พ.ศ. ๒๔๘๑) เมื่อเขามีอายุ ๑๙ ปี
สัญลักษณ์ของ JG2
             บาร์คฮอนสำเร็จการศึกษาและติดยศเรืออากาศตรี.ในปี ค.ศ. ๑๙๔๐ (พ.ศ. ๒๔๘๓) เมื่อมีอายุเพียง ๒๑ ปี และลุฟท์วาฟเฟ่มีคำสั่งให้เขาไปปฏิบัติหน้าที่เป็นนักบินประจำฝูงบิน ๓ กองบิน ๒ (JG ๒) หรือกองบินริชโธเฟ่น (Richthofen) ซึ่งเป็นกองบินที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่มหาสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและเขาได้ออกปฏิบัติการรบครั้งแรกในการบุกเบลเยี่ยมและต่อมาในฝรั่งเศส หลังจากนั้น ลุฟท์วาฟเฟ่มีคำสั่งให้บาร์คฮอนย้ายไปปฏิบัติหน้าที่เป็นนักบินประจำฝูงบิน ๖ กองบิน ๕๒ (JG ๕๒) ประจำช่องแคบอังกฤษ และบาร์คฮอนได้ขับแมสเซอร์ชมิด Bf  ๑๐๙E เข้าร่วมปฏิบัติการในการยุทธแห่งเกาะอังกฤษ (Battle of Britain) ด้วย

สัญลักษณ์ของ III/JG2




            อย่างไรก็ดี ในระยะแรกของสงครามนั้นดูเหมือนว่าบาร์คฮอนจะทำบาปไม่ขึ้นทั้งที่ ฮาน โจอาคิม  มาซายล์ (Hans-Joachim Marseille) ซึ่งเป็นเพื่อนนักบินในฝูงบิน ๖ ของเขาส่งเครื่องบินข้าศึกลงไปกองเป็นเศษเหล็กอยู่ที่พื้นพสุธาเป็นว่าเล่น เพราะแม้บาร์คฮอนจะเข้าร่วมปฏิบัติการในสมรภูมิด้านตะวันตกมาแล้วถึงสามสมรภูมิ ซึ่งรวมทั้งการโจมตีตามแผนยุทธการสิงโตทะเลด้วย แต่เขายังไม่เคยยิงเครื่องบินข้าศึกตกเลยแม้แต่เครื่องเดียว ตรงกันข้าม บาร์คฮอนกลับถูกยิงตกถึงสองครั้ง แต่นับว่าโชคดีอยู่บ้างที่เขาไม่ได้รับบาดเจ็บอะไรเลย
                                
สัญลักษณ์ของ JG52
                                            
            ในปี ค.ศ. ๑๙๔๑ (พ.ศ. ๒๔๘๔) ฝ่ายเสนาธิการกำหนดแผนยุทธการบาบารอสซ่า (Barbarossa) ขึ้นเพื่อโจมตีรัสเซีย แผนยุทธการนี้ตั้งชื่อตามจักรพรรดิ เฟรเดอริค บาบารอสซ่า (Frederick Barbarossa) ของจักรวรรดิโรมันอันยิ่งใหญ่ (Holy Roman Empire) ลุฟท์วาฟเฟ่จึงมีคำสั่งในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ให้กองบิน ๕๒ (JG ๕๒) ไปปฏิบัติภารกิจครอบครองน่านฟ้าด้านตะวันออกแทน และไม่นานหลังจากนั้น บาร์คฮอนก็เริ่ม ทำบาปขึ้น โดยในการปฏิบัติการรบครั้งที่ ๑๒๐ เขายิงเครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิดแบบอิลยูชิล ดีบี ๓ (Iljuschin DB-๓) ของกองทัพแดงตกเป็นเครื่องแรกตอนโพล้เพล้ของวันที่ ๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ เหยื่อรายแรกนี้ทำให้บาร์คฮอนเกิดความมั่นอกมั่นใจในความสามารถของตนขึ้นทันทีทันใดและสร้างสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตกเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็วหลังจากอั้นมานาน โดยเขายิง เจ้าลาน้อย” (Little Donkey) โปลิคาป๊อฟ ไอ-๑๖ (Polikarpov I-๑๖ Ishak)ของกองทัพแดงตกเป็นลำที่ ๑๐ ในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๑ และในวัน  ถัดมา ลุพท์วาฟเฟ่เลื่อนยศเขาเป็นเรืออากาศโท (Oberleutenant)

         ในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๔๒ (พ.ศ. ๒๔๘๕) ลุพท์วาฟเฟ่มีคำสั่งให้เรืออากาศโท เกอร์ฮาร์ด บาร์คฮอน ปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับฝูงบิน ๔ กองบิน ๕๒ และผู้บังคับฝูงหน้าใหม่คนนี้ยังขับแมสเซอร์ชมิด Bf ๑๐๙ F๔ รหัสเรียกขาน “White หรือที่เขาตั้งชื่อมันตามชื่อแฟนสาวของเขาว่า คริสเตล (Christl) ทำคะแนนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในเดือนพฤษภาคมเขายิงเครื่องบินข้าศึกตกอีก ๗ เครื่อง มิถุนายน ๑๖ เครื่อง และอีก ๓๑ เครื่องในเดือนกรกฎาคม โดยในวันที่ ๑๙ มิถุนายน นั้นถือเป็นวันสำคัญของฝูงบิน ๔ เมื่อผู้บังคับฝูงบาร์คฮอนสาธิต วิธีที่เหมาะสม ในการจัดการนักบินของกองทัพแดงให้ผู้ใต้บังคับบัญชาดูเป็นตัวอย่าง โดยเขาจัดการเครื่องบินของกองทัพแดงร่วงลงไปถึง ๖ เครื่อง ในการออกปฏิบัติภารกิจ ๓ เที่ยว รอบเช้า ๗.๐๐ นาฬิกา เป็น LaGG-๓ หนึ่งเครื่องและเฮอริเคนสองเครื่อง รอบเที่ยง ๑๑.๐๐ นาฬิกา เป็น LaGG-๓ หนึ่งเครื่อง และรอบบ่าย ๑๕.๐๐ นาฬิกา เป็น LaGG-๓ และโปลิคาป๊อฟ ไอ-๑๖ อย่างละหนึ่งเครื่อง และบาร์คฮอนเปิดการสาธิตซ้ำอีกครั้งหนึ่งในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม โดยใช้เครื่องบิน LaGG-๓ ของกองทัพแดงเป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดง ซึ่งในวันนั้นผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาต้องละมือจากคันบังคับเพื่อปรบมือให้แก่ผู้บังคับฝูงถึง ๕ ครั้ง ในการออกปฏิบัติการสองเที่ยว เที่ยวเช้า ๑ ครั้ง และเที่ยวบ่าย ๔ ครั้ง                   
Bf 109-4 ของบาร์คฮอน
              บาร์คฮอนได้รับกางเขนเหล็กเพื่อแสดงความสามารถในการรบทางอากาศของเขาในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ หลังจากยิงเครื่องบิน LaGG-๓ ของข้าศึกตกลงไปเป็นเครื่องที่ ๖๔ และได้รับอนุญาตให้ลาพักเป็นเวลา ๒ เดือน เมื่อเขากลับไปปฏิบัติการรบอีกครั้งในเดือนตุลาคม บาร์คฮอนยิงเครื่องบินข้าศึกตก ๑๔ เครื่องในเดือนตุลาคม ๗ เครื่องในเดือนพฤศจิกายน และ ๑๗ เครื่องในเดือนธันวาคมอันหนาวเหน็บ โดยเขาสามารถยิงเครื่องบิน P-๔๐ Warhawk ตกเป็นลำที่ ๑๐๐ ในวันที่ ๑๙ ธันวาคม และได้รับใบโอ๊ค (Eichenlaub) มาประดับกางเขนเหล็กที่ได้รับมาก่อนหน้านี้เมื่อยิงเครื่องบินข้าศึกตกครบ ๑๐๕ เครื่อง ในวันที่ ๑๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๓ (พ.ศ. ๒๔๘๖) และได้รับการเลื่อนยศเป็นเรืออากาศเอก (Hauptmann) หลังจากนั้น ผู้บังคับฝูงบาร์คฮอนก็เพิ่มสถิติให้กับตัวเองและกองบิน ๕๒ เพิ่มขึ้น และเขาสามารถจัดการเหยื่อรายที่ ๑๕๐ ได้ในวันที่ ๘ สิงหาคม ลำนี้เป็นอิลยูชิล ๒ เอ็มเอช (Iljuschin m.H.)

            บาร์คฮอนได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับฝูง ๒ กองบิน ๕๒ เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๓ และทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาใหม่ยอมรับเขาโดยสนิทใจเมื่อเขาจัดการเครื่องบินข้าศึกตกลงไป ๑๕ เครื่องในเดือนกันยายน ๒๓ เครื่องในเดือนพฤศจิกายน และ ๒๘ เครื่องในเดือนธันวาคม โดยในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน เป็นวันที่เขาส่งเหยื่อรายที่ ๒๐๐ ของเขาลงไปจมอยู่ในกองหิมะ ในการนี้ ผู้บังคับฝูงคนใหม่สาธิตวิธีที่เหมาะสมในการจัดการนักบินของกองทัพแดงให้ผู้ใต้บังคับบัญชาใหม่ของเขาดูในวันที่ ๒๘ ธันวาคม เหมือนเช่นที่เคยเปิดการสาธิตมาแล้วที่ฝูงบิน ๔ โดยในวันนั้นเขาจัดการเครื่องบินของกองทัพแดงร่วงลงไปถึง ๗ เครื่องในภารกิจเดียว เป็น Yak-๑ จำนวน ๕ เครื่อง และอิลยูชิล ๒ เอ็มเอช กับพี-๓๙ แอร์คอบรา อีกอย่างละ ๑ เครื่อง
 
            ในวันที่ ๒๓ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๔ (๒๔๘๗) บาร์คฮอนกลายเป็นนักบินรบคนแรกที่ออกปฏิบัติภารกิจครบ ๑,๐๐๐ ภารกิจ และยิงเครื่องบินข้าศึกตกครบ ๒๕๐ ลำ ในอีก ๒๐ วันต่อมา และเป็นนักบินคนที่สองของลุฟท์วาฟเฟ่ที่สามารถทำได้ แต่นักบินของกองทัพแดงได้ฝากรอยแผลไว้เป็นที่ระลึกไว้ที่ศรีษะของบาร์คฮอนเช่นกัน แต่ไม่ร้ายแรงนัก ในวันที่ ๒ มีนาคม เขาได้รับดาบ (Schwerten) มาประดับกางเขนเหล็กของเขาเพิ่มจากใบโอ๊คที่มีอยู่แล้ว บาร์คฮอนนั้นเป็นเพื่อนสนิทกับอีริค ฮาร์ทมาน และในงานแต่งงานของฮาร์ทมานในเดือนมีนาคมนี้ บาร์คฮอนได้ทำหน้าที่เป็นเพื่อนเจ้าบ่าวในงานแต่งงานของอีริค ฮาร์ทมาน ด้วย                                                                                                                                                                      

บาร์คฮอนในงานแต่งงานของฮาร์ทมาน

             บาร์คฮอนได้รับการเลื่อนยศเป็นนาวาอากาศตรีในวันที่ ๑ พฤษภาคม แต่ในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม แมสเซอร์ ชมิด Bf ๑๐๙ G ของเขาถูก พี-๓๙ แอร์คอบรา ของกองทัพแดง ยิงได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่โชคยังดีที่เขาสามารถนำเครื่องลงจอดฉุกเฉินในเขตยึดครองของเยอรมัน กระนั้นก็ตาม บาร์คฮอนได้รับบาดเจ็บสาหัสและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนานถึง ๔ เดือน เขากลับไปอาละวาดบนน่านฟ้ารัสเซียอีกครั้งในเดือนตุลาคมด้วยความสุขุมกว่าเดิม แถมพกด้วยอาการบาดเจ็บที่คอยกำเริบระหว่างการบิน แต่ยังสร้างสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตก ๒๗๕ ลำ ในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน และเป็นนักบินคนที่สองต่อจากอีริค ฮาร์ทมาน เพื่อนสนิทของเขาที่สามารถยิงเครื่องบินข้าศึกตก ๓๐๐ ลำ

            หลังจากยิง LaGG-๕ ตกเป็นเครื่องสุดท้าย (ลำที่ ๓๐๑) เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘) ลุฟท์วาฟเฟ่มีคำสั่งเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ให้บาร์คฮอนปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บังคับกองบิน ๖ ฮอสท์ เวสเซ่ล (JG “Horst Wessel”) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ป้องกันอาณาจักรไรซ์ (Reichsverteidigung) โดยมีฐานปฏิบัติการที่โพเซ่น (Posen) (ปัจจุบันพื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของโปแลนด์และรู้จักทั่วไปในชื่อภาษาโปลว่า “Poznan”) แต่บาร์คฮอนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มที่เนื่องจากอาการบาดเจ็บกำเริบอย่างรุนแรง จนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอีกครั้ง เมื่ออาการบาดเจ็บทุเลาลง บาร์คฮอนได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติการบินในกองบินขับไล่ไอพ่นที่ ๔๔ (JV ๔๔) ภายใต้การบังคับบัญชาของพลอากาศตรี อด๊อฟ กัลลานด์ โดยใช้เครื่องบินแมสเซอร์ชมิด Me ๒๖๒ 

Me262 Schwalbe
                                       

           บาร์คฮอนยุติการปฏิบัติการรบในสงครามกับแมสเซอร์ชมิด Me ๒๖๒ ในเที่ยวบินที่สองเท่านั้นเอง โดยในระหว่างออกปฏิบัติการโจมตีเครื่องบินทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรที่เข้ามาทิ้งระเบิดฐานบินของเขา แผงควบคุมเกิดเพลิงไหม้ บาร์คฮอนไม่สามารถควบคุมเครื่องบินได้และมันได้พุ่งไปชนเครื่องบินขับไล่คุ้มกันมัสแตงของอเมริกัน เขาต้องบังคับเครื่องร่อนลงฉุกเฉิน แต่เหตุการณ์นี้ทำให้บาร์คฮอนได้รับบาดเจ็บหนักที่คอเนื่องจากถูกฝาครอบที่นั่งนักบินตกลงมาบาดเป็นแผลเหวอะหวะ เขาต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลจนกระทั่งสงครามยุติ

บาร์คฮอนและครอบครัว

             ในระหว่างสงคราม บาร์คฮอนออกปฏิบัติการทั้งสิ้น ๑,๑๐๔ ครั้ง เหนือน่านฟ้าเบลเยี่ยม ฝรั่งเศส อังกฤษ รัสเซีย และเยอรมัน และทำสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตกทั้งหมด ๓๐๑ ลำ โดยเป็นผลงานที่เขาทำได้ในแนวรบด้านตะวันออกทั้งหมด หลังสงครามบาร์คฮอนแต่งงานกับคริสเตลแฟนสาวและกลับเข้ารับราชการในลุฟท์วาฟเฟ่ โดยเป็นผู้บังคับการกองบิน ๓๑ โบเลค (Boelcke) และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งพลอากาศโทเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๗๖ (พ.ศ. ๒๕๑๙) เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ค.ศ. ๑๙๘๓ (พ.ศ. ๒๕๒๖) จากอุบัติเหตุทางรถยนต์





วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อนาบูกิ ซาโตรุ: เพชฌฆาตแห่งร่างกุ้ง

 ปกรณ์ นิลประพันธ์




           เหมือนกับเสืออากาศคนอื่น ๆ อนาบูกิ ซาโตรุ เป็นคนที่คลั่งไคล้การบินมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นเขาจึงเลือกที่จะเรียนที่โรงเรียนการบินของกองทัพญี่ปุ่น และจบการศึกษาในปี พ.ศ. 2481 ขณะที่มีอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นเขาได้เข้ารับราชการในตำแหน่งนักบินของกองบินนาวีของราชนาวีแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิ และออกปฏิบัติหน้าที่เป็นครั้งแรกที่ฐานทัพญี่ปุ่นประจำเกาะฟอร์มอซาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2484 ก่อนที่ญี่ปุ่นจะส่งกองเรือและฝูงบินเข้าถล่มเพิร์ลฮาเบอร์ในวันที่ 7 ธันวาคมปีเดียวกัน

          ประวัติการรบทางอากาศของอนาบูกิ ซาโตรุ เริ่มต้นเมื่อเขาได้รับคำสั่งให้ย้ายไปประจำฟิลิปปินส์ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2484 แต่ ครั้งแรก ของเขากลับเป็นการเรื่องที่ไม่น่าจดจำเท่าใดนัก เมื่อ นากาจิม่า Ki-27 นาเตะ เครื่องบินรุ่นลายครามที่เขาเป็นคนขับต้องเผชิญหน้ากับป้อมบิน B-17 แบบตัวต่อตัว แทนที่ซาโตรุจะจัดการเจ้ายักษ์ใหญ่ลงได้ กลับกลายเป็นว่าเขาต้องโกยอ้าวหลบห่ากระสุนที่โปรยปรายออกมาจากเจ้ายักษ์ลำนั้นแทบไม่ทัน

 Ki-27
                
          อย่างไรก็ดี หลังจากญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์ได้ไม่กี่วัน เขาก็สามารถจัดการส่งข้าศึกลงจากท้องฟ้าได้เป็นครั้งแรกในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2484 จากการต่อสู้เหนืออ่าวลิงกาเย่นที่ฟิลิปปินส์นี่เอง โดยผู้เคราะห์ร้ายรายแรกเป็นเครื่อง P-40 ของฝูงบินที่ 17 ของสหรัฐ ซึ่งมีประสิทธิภาพเหนือกว่า Ki-27 ของเขามาก หลังจากจัดการเหยื่อรายแรกได้ราวสองเดือน เขาได้แสดงศักยภาพของเพชฌฆาตบนเวหาออกมาให้เป็นที่ประจักษ์อีกครั้ง โดยในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 เขาใช้วัตถุโบราณคู่ทุกข์คู่ยาก Ki-27 สอย P-40 ร่วงลงถึงสองลำในวันเดียวกัน แต่หลังจากนั้นอีกไม่นาน ฝูงบินของเขาถูกส่งกลับญี่ปุ่นเพื่อฝึกบินเปลี่ยนแบบกับ นากาจิมา Ki-43 ฮายาบูซ่า ที่จะมาเป็นพาหนะลำใหม่แทน Ki-27

 

Ki-43 ฮายาบูซ่า

        เมื่อจบการฝึก ซาโตรุได้รับคำสั่งให้ไปประจำฐานทัพอากาศมากาลาดอน ชานกรุงร่างกุ้ง ประเทศพม่า ในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ฐานทัพอากาศมากาลาดอนถูกฝูงบินเฮอร์ริเคนของกองทัพอากาศอังกฤษโจมตีอย่างรุนแรง ซาโตรุต้องนำฮายาบูซ่าคู่ขาลำใหม่ขึ้นทำการต่อสู้ทั้งที่ไม่สามารถเก็บฐานล้อได้ แต่เขากลับแสดงความยอดเยี่ยมออกมาโดยส่งเฮอร์ริเคนที่มาเยี่ยมเยียนากาลาดอนเที่ยวนั้นโหม่งพื้นพสุธาได้ถึง 3 ลำ รวมทั้งเฮอร์ริเคนที่ขับโดยนักบินอังกฤษมากประสบการณ์ชื่อ C.D. Fergusson ด้วย

          แม้การรบที่มาลากาดอนจะฟังดูเป็นเรื่องยิ่งใหญ่สำหรับนักบินคนอื่น ๆ แต่ในสายตาของ   ซาโตรุแล้ว การยุทธ์ครั้งนั้นกลายเป็นเพียงการต่อสู้พื้น ๆ เท่านั้น เมื่อเทียบกับยุทธเวหาที่เกิดขึ้นในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2486 โดยในวันนั้นเวลา 12.10 น. ฝูงบินของเขาได้รับคำสั่งให้ไปจัดการกับป้อมบิน B-24 ที่แห่กันมาโจมตีขบวนขนส่งของกองทัพญี่ปุ่นที่อ่าวร่างกุ้ง แต่เครื่องของซาโตรุมีปัญหาระบบจุดระเบิดขัดข้อง จึงต้องขึ้นบินช้าไปถึง 5 นาที เมื่อเขาบินตามไปตามพิกัดที่กำหนด เขากลับไม่สามารถหาฝูงพบเนื่องจากท้องฟ้าวันนั้นมีเมฆมาก แต่สิ่งที่เขาพบกลับกลายเป็น B-24 จำนวน 11 ลำ กับ P-38 ไลท์นิ่ง ซึ่งรับหน้าที่เป็นเครื่องบินคุ้มกันอีก 2 ลำ และดูเหมือนว่าไม่มีใครสังเกตเห็นเขาด้วยเพราะขณะนั้นเมฆหนามาก หากเขาตัดสินใจโจมตีตามคำสั่งที่ได้รับ เขาต้องต่อสู้กับข้าศึกในลักษณะ 14 รุม 1 เพราะไม่มีเพื่อนอยู่แถวนั้นเลย ซึ่งมีโอกาสรอดยากมาก แต่แทนที่จะถอย วิญญาณเพชฌฆาตทำให้เขาบังคับเจ้าฮายาบูซ่าคู่ทุกข์คู่ยากพุ่งเข้าใส่ขบวนบินมรณะนั้นอย่างไม่รั้งรอ
 
     เริ่มแรก ซาโตรุเลือกที่จะสาดกระสุนใส่ไลท์นิ่งลูกหมู่บินซึ่งอยู่ใกล้เขาที่สุดก่อน การยิงครั้งแรกกระสุนไม่ถูกเป้าหมายและเครื่องของเขาเกือบชนกับเครื่องบินลำนั้นเข้าด้วย เขาจึงวกกลับไปโจมตีอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้กระสุนถูกเข้าที่หางของเป้าหมายอย่างจังจนเกิดไฟไหม้ ไลท์นิ่งเคราะห์ร้ายลำนั้นจึงควงสว่านตกลงพื้นดินใกล้กับแม่น้ำร่างกุ้ง หนึ่งละ ต่อจากนั้น ซาโตรุพลิกกลับไปหาไลท์นิ่งหัวหน้าหมู่บิน แต่ดูเหมือนว่าข้าศึกรายนี้มีประสบการณ์มาก เขาบังคับไลท์นิ่งพลิกท้องและดำลงเพื่อหนีการโจมตีของซาโตรุเนื่องจากไลท์นิ่งมีอัตราไต่ที่ดีกว่าฮายาบูซ่ามาก ซาโตรุก็รู้คุณสมบัติดังกล่าวดีจึงไม่ไล่ตามไป เขาจึงหันหัวไปจัดการป้อมบินที่ไร้ผู้คุ้มกันแทน

          ขณะนั้นเขาอยู่ที่ความสูง 5,500 เมตร เจ้ายักษ์สี่เครื่องยนต์ลำซ้ายสุดของฝูงที่อยู่ใกล้เขาที่สุดนั้นอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 5,000 เมตร ห่างจากเขาประมาณ 1,200 เมตร ซาโตรุทราบดีว่าวิธีเดียวที่ฮายาบูซ่าที่มีเพียงปืนกลอากาศขนาด 7 มิลลิเมตร จำนวน 12 กระบอก จะจัดการกับป้อมบิน B-24 ได้คือการมุดเข้ายิงจากทางด้านล่าง เขาจึงบังคับฮายาบูซ่าให้ดำลง แล้วพุ่งกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เมื่อได้ระยะ 300 เมตร ใต้ท้องของเหยื่อ เขาจึงเริ่มยิงชุดแรกและเห็นกระสุนพุ่งตรงเข้าไปยังเป้าหมายอย่างจังจนเกิดไฟลุกไหม้ แทนที่จะออกมาตั้งหลัก ซาโตรุกลับพุ่งตรงไปหาเหยื่อท่ามกลางม่านกระสุนที่ B-24 ที่เหลืออีก 10 ลำ กระหน่ำยิงมาเพื่อป้องกันผู้เคราะห์ร้าย แต่ซาโตรุไม่สนใจ เขายิงซ้ำอีกครั้งหนึ่งเมื่อเข้าใกล้ในระยะ 100 เมตร แล้วเบรคออกทางซ้าย นักบินและลูกเรือ B-24 เคราะห์ร้ายลำนั้นไม่สามารถบังคับเครื่องได้อีกต่อไปจึงพากันโดดร่มออกมา และอวสานของผู้เคราะห์ร้ายก็มาถึงในพริบตาเมื่อมันกระแทกพื้นแหลกละเอียด สองละ

          แต่ซาโตรุมีเวลาดีใจกับความสำเร็จนี้ไม่นานนักเนื่องจากเจ้าไลท์นิ่งของหัวหน้าหมู่บินอเมริกันได้วกกลับมาเกาะอยู่ทางด้านหลังของเขาในช่วงที่เขาพุ่งความสนใจไปที่ป้อมบินยักษ์เมื่อสักครู่นี้ และนักบินอเมริกันเริ่มระดมยิงอย่างรุนแรง ฮายาบูซ่าของเขาโดนเข้าหลายนัดและนัดหนึ่งทะลุมือซ้ายของเขา เลือดออกราวกับน้ำพุ ถึงแม้จะเจ็บปวด ซาโตรุได้แสดงคุณสมบัติโดดเด่นของฮายาบูซ่าออกมาให้นักบินอเมริกันเห็นโดยเลี้ยววงแคบ และทำให้เครื่องบินของเขากลายเป็นผู้ล่าแทนผู้ถูกล่าในพริบตา เขาตามไลท์นิ่งไปใกล้ประมาณ 30 เมตร แล้วจึงระดมยิงหัวหน้าหมู่บินอเมริกันอย่างรุนแรง ทำให้น้ำมันจากเครื่องบินอเมริกันกระจายเข้าใส่ค็อกพิทของซาโตรุจนบดบังทัศนวิสัยของเขาไปชั่วขณะ เมื่อเขามองเห็นอีกครั้ง ซาโตรุพบว่าไลท์นิ่งลำนั้นดำหนีไปพร้อมกับกลุ่มควันเป็นทางยาว คราวนี้ก็เหลือเพียง B-24 ที่ไม่มีผู้คุ้มกัน 10 ลำ เท่านั้น ซาโตรุพุ่งเข้าหาป้อมบินยักษ์ลำหนึ่งและระดมยิงเข้าใส่หนึ่งชุดจนเกิดเพลิงไหม้บริเวณลำตัว เมื่อเขาวกกลับมาก็พบว่าลูกเรือลำนั้นกำลังโดดร่มออกมา เขาจึงพุ่งเข้าหา B-24 อีกลำหนึ่งจากด้านบน แต่เมื่อเหนี่ยวไก เขาจึงพบว่ากระสุนหมดเสียแล้ว

          วันนี้ซาโตรุส่งเหยื่อลงพสุธามาแล้ว 3 ลำ อีก 1 ลำเสียหายหนัก เขาเองก็ได้รับบาดเจ็บหนักที่มือซ้าย เสียเลือดไปมาก และฮายาบูซ่าของเขาก็ได้รับความเสียหายไม่น้อยจากการโจมตีของหัวหน้าหมู่บินไลท์นิ่ง แต่เมื่อพบว่ากระสุนหมด แทนที่เขาจะกลับมากาลาดอน ซาโตรุกลับทำในสิ่งตรงข้าม เขาบินทื่อฝ่าดงกระสุนที่ยิงออกมาจากเป้าหมายโดยกะจะชนให้ตกไปพร้อมกัน แต่อาจเป็นเพราะว่าชะตาของซาโตรุและลูกเรือของ B-24 ลำนั้นคงยังไม่ถึงฆาต แทนที่ฮายาบูซ่าของเขาจะอัดเข้ากับเป้าหมายตรง ๆ กลับกลายเป็นว่าเครื่องบินของเขาร่อนไปทับอยู่บนหลังของ B-24 ลำนั้นอย่างพอเหมาะพอดี โดยใบพัดของเขากำลังฟันหลังเจ้ายักษ์ใหญ่อยู่ เหตุการณ์นี้ทำให้ทั้งซาโตรุและนักบินอเมริกันทั้งฝูงชะงักไปชั่วขณะ ปืนจาก B-24 เครื่องอื่น ๆ ที่เมื่อสักครู่ยังระดมยิงมาที่เขาต้องหยุดยิงทั้งหมดเพราะเกรงว่าจะไปโดนพวกเดียวกันเข้า ซาโตรุเองก็เกรงว่าหากต้องติดไปด้วยกันเช่นนี้เขาต้องตกเป็นเชลยศึกอย่างแน่นอน

          แต่เทพีแห่งโชคยังคงเป็นของซาโตรุ เครื่อง B-24 ที่แบกน้ำหนักของฮายาบูซ่าอยู่เกิดเสียกำลัง เครื่องบินของซาโตรุจึงร่วงลงมาจากหลังของเจ้ายักษ์และร่อนอยู่ในอากาศ และโชคยังดีที่ซาโตรุสามารถติดเครื่องยนต์ได้อย่างรวดเร็ว แต่กระนั้นเครื่องยนต์ที่ชำรุดจากกระสุนปืนของไลท์นิ่งและใบพัดที่เสียหายจากการฟันหลังของเจ้ายักษ์ B-24 ช่วยได้เพียงประคับประคองไม่ให้ฮายาบูซ่าตกลงมาอย่างหมดท่าเท่านั้น เขาต้องร่อนลงฉุกเฉินที่ริมฝั่งแม่น้ำร่างกุ้ง และหน่วยพยาบาลมารับตัวเขาไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล และซาโตรุผู้โชคดีได้กลับมาล่าเหยื่ออีกครั้งหลังจากพักรักษาตัว 5 วัน

          วีรกรรมของซาโตรุในครั้งนี้ทำให้กองบัญชาการทหารสูงสุดเรียกตัวเขากลับญี่ปุ่นเพื่อทำหน้าที่ครูการบินแก่ศิษย์การบินที่โรงเรียนการบินรบอาเคโนะ จนกระทั่งเดือนตุลาคม พ.ศ. 2487 ซาโตรุจึงได้รับคำสั่งให้ออกปฏิบัติราชการสนามอีกครั้งหนึ่งที่ฟิลิปปินส์โดยได้รับคู่ขาตัวใหม่เป็น Ki-84 ฮายาเตะ ที่นี่เขาสอย F6F Hellcat ร่วงลงไปอีก 6 ลำ ก่อนได้รับคำสั่งให้กลับไปป้องกันเกาะญี่ปุ่น เครื่องบินข้าศึกลำสุดท้ายที่เขายิงตกเป็นเครื่อง B-29 เหนือน่านฟ้าฮอนชู

          เมื่อสงครามสงบ ซาโตรุทำสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตก 51 ลำ โดยเป็นเฮอริเคนถึง 25 ลำ และในปี พ.ศ. 2493 เขากลับเข้ารับราชการในกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นและเปลี่ยนมาขับเฮลิคอปเตอร์แทน

                  





วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ฮายริช “พริทซึล” แบล์ (Heinrich “Pritzl” Bär) ผู้ครอบครองทุกน่านฟ้า

                                                                                                      ปกรณ์ นิลประพันธ์


 
ฮายริช พริทซึล แบล์ เกิดที่เมืองซอมเมอร์เฟลด์ ใกล้ไลป์ซิก เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๓ (พ.ศ. ๒๔๕๖) ชีวิตวัยเด็กของเขาไม่มีอะไรแตกต่างจากเด็กชายคนอื่น ๆ แต่เมื่อเขาเลือกที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนการบินในปี ค.ศ. ๑๙๓๕ (พ.ศ. ๒๔๗๘) ชีวิตของแบล์ก็เปลี่ยนแปลงไป



เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนการบิน แบล์ได้เข้ารับราชการทหารในตำแหน่งนักบินสำรองของลุฟท์วาฟเฟ่และได้รับมอบหมายให้เป็นนักบินขนส่งโดยบินกับเครื่องบินยุงเคอร์ Ju ๕๒/๓m ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๓๙ (พ.ศ. ๒๔๘๒) เขาเข้ารับการฝึกบินเปลี่ยนแบบเพื่อเป็นนักบินขับไล่กับสุดยอดเครื่องบินขับไล่ของเยอรมันในยุคนั้นคือแมสเซอร์ชมิด Bf ๑๐๙E หลังจบการฝึก ลุฟท์วาฟเฟ่เลื่อนยศเขาเป็นสิบเอกและมีคำสั่งให้เขาย้ายไปเป็นนักบินขับไล่สำรองของฝูงบิน ๑ กองบิน ๕๑ (Jagdgeschwader ๕๑: JG ๕๑)[๑]
                           
                                    
 สิบเอกแบล์ได้เข้าสู่สมรภูมิตั้งแต่แรกที่สงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้นในยุโรป ในการรบเหนือน่านฟ้าเมืองวีเซ่นเบอร์กในเยอรมนี แบล์เริ่มต้นสถิติของเขาด้วยการส่งเคอร์ติส ฮอว์ค ๗๕A แห่งฝูงบิน CG I/๔ ของกองทัพอากาศฝรั่งเศส (French Armee de L’Air) ตกเป็นเครื่องแรกในวันที่ ๒๕ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ และในระหว่างการบุกฝรั่งเศส เขายิงเครื่องบินข้าศึกตกอีก ๗ เครื่อง เป็นเครื่องบินของกองทัพอากาศฝรั่งเศส ๓ เครื่อง และเครื่องบินของกองบินหลวงของอังกฤษ (Royal Air force) ๔ เครื่อง

ต่อมา ในระหว่างการโจมตีเกาะอังกฤษตามยุทธการสิงโตทะเล เขาเป็นนักบินขับไล่สำรองที่มีสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตกจำนวน ๑๗ เครื่อง ซึ่งนับว่ามากที่สุดในบรรดานักบินขับไล่สำรองด้วยกัน แต่ก็มิใช่ว่าเขาจะประสบความสำเร็จทุกเที่ยวบิน ในวันที่ ๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๐ (พ.ศ. ๒๔๘๓) แบล์ถูกนักบินของกองบินหลวงอังกฤษยิงร่วงลงจากท้องฟ้าเหนือช่องแคบอังกฤษ และเป็นครั้งแรกที่เขามีประสบการณ์ในการว่ายน้ำทะเลอันหนาวเหน็บของช่องแคบอังกฤษ  อย่างไรก็ดี เขาสามารถกลับมาทำการรบได้อีกครั้งและด้วยความสุขุมรอบคอบมากขึ้นกว่าเดิม

ในวันที่ ๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ (พ.ศ. ๒๔๘๔) เขาสามารถจัดการเครื่องบินข้าศึกได้ครบ ๒๗ เครื่อง และได้เลื่อนยศเป็นเรืออากาศตรีและได้รับเหรียญกางเขนเหล็ก (Ritterkreuz) เป็นเครื่องการันตีความสามารถ หลังจากนั้น เขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บังคับฝูงบินที่ ๔ แห่งกองบิน ๕๑ นอกจากนี้ ลุฟท์วาฟเฟ่มีคำสั่งให้ฝูงบินของเขาไปประจำแนวรบด้านตะวันออกเพื่อร่วมการรุกด้านตะวันออกโดยให้ไปขึ้นตรงต่อกองบิน ๕๓ (JG ๕๓) หนึ่งโพดำ (Pik As) และเขาได้เปลี่ยนมาบินกับแมสเซอร์ชมิด Bf ๑๐๙F ที่แนวรบด้านตะวันออกนี้เอง

จากการประจำการที่แนวรบด้านรัสเซียนี้เองที่ทำให้แบล์สามารถเพิ่มสถิติการรบของเขาได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากคู่ต่อสู้มีฝีมือและเครื่องบินที่ด้อยกว่าแนวรบด้านตะวันตกมาก โดยในช่วงเดือนเศษระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ แบล์สามารถยิงเครื่องบินรัสเซียตกมากมายถึง ๓๓ ลำ จนทำให้สถิติของเขาเพิ่มเป็น ๖๐ ลำ และได้รับใบโอ๊ค (Eichenlaub) มาประดับกางเขนเหล็กของเขาในวันที่ ๑๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ หลังจากนั้น ในวันที่ ๓๐ สิงหาคม เขาแสดงให้พวกรัสเซียเห็นว่าเขาเป็นนักบินมีระดับอย่างแท้จริงเมื่อจัดการส่งเครื่องบินรัสเซีย ๖ เครื่องลงไปกองเป็นเศษเหล็กอยู่ที่พื้นดินได้ภายในวันเดียว

ในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๒ (พ.ศ. ๒๔๘๕) หลังจากเขาเพิ่มสถิติการยิงเครื่องบินข้าศึกตกรวมเป็น ๙๐ เครื่อง แบล์ได้รับดาบ (Schwertern) มาประดับกางเขนเหล็กประดับใบโอ๊คของเขา พร้อมกันนั้นลุฟท์วาฟเฟ่มีคำสั่งเลื่อนยศเขาเป็นเรืออากาศเอก
                          
เมื่อสถานการณ์การสู้รบทางตอนใต้ของแนวรบรัสซีย-เยอรมัน บริเวณแหลมเคิชร์ (Kerch Peninsular) ทางตอนใต้ของยูเครนด้านฝั่งตะวันออกของแหลมไครเมียรุนแรงขึ้น ฝ่ายยุทธการเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เยอรมันต้องยึดครองน่านฟ้าแถบนั้นไว้ให้ได้เพื่อให้การปฏิบัติการภาคพื้นดินประสบความสำเร็จ ลุฟท์วาฟเฟ่จึงมีคำสั่งให้แบล์ซึ่งขณะนั้นทำสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตก ๙๑ เครื่องย้ายมาทำหน้าที่ผู้บังคับฝูงบิน ๑ กองบิน ๗๗ (JG ๗๗) หนึ่งโพแดง (Herz As) ในวันที่ ๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ และมีคำสั่งให้ยอดนักบินรบอีกคนหนึ่งคือเรืออากาศเอก กอร์กอน โกลลอบ (Gordon Gollob) ซึ่งขณะนั้นทำสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตก ๘๖ เครื่อง มาทำหน้าที่ผู้บังคับฝูงบิน ๒ ด้วย คำสั่งนี้ทำให้นักบินฝูงบิน ๑ และฝูงบิน ๒ พิศวงงงงวยเป็นอย่างมากว่าปฏิบัติการยึดครองน่านฟ้าเคิชร์-ทามาน (Kerch-Taman) นี้จะประสบความสำเร็จได้อย่างไรในเมื่อผู้บังคับฝูงบินทั้งสองคนนี้มีบุคลิกที่แตกต่างกันมาก และไม่น่าจะทำงานร่วมกันได้ โดยผู้บังคับฝูงแบล์เป็นคนไม่ถือเนื้อถือตัว ไม่เคร่งครัดในระเบียบวินัยมากนัก และมีอารมณ์สุนทรีซึ่งเป็นลักษณะของคนไลป์ซิก แบล์ยอมปฏิเสธที่จะออกปฏิบัติการบินทันทีที่เขารู้สึกว่าเขาไม่อยากบิน ขณะที่ผู้บังคับฝูงโกลลอบซึ่งมีเชื้อสายปรัสเซียยึดถือในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด แต่ถึงกระนั้นก็ตาม แบล์และโกลลอบได้ใช้ความเหมือนกันในการเป็นเพชฌฆาตเวหาบนพื้นฐานของความแตกต่างด้านบุคลิกในการยึดครองน่านฟ้าเคิชร์-ทามาน ไว้ได้สำเร็จตามแผนยุทธการ แม้ว่าทั้งสองคนจะไม่ค่อยกินเส้นกันเท่าใดนัก

ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ แบล์ยิงเครื่องบิน Ishak ตกลงไปถึง ๕ ลำ และทำให้สถิติของเขาเพิ่มเป็น ๑๐๓ เครื่อง ขณะที่สถิติรวมของกองบิน ๗๗ หนึ่งโพแดง เพิ่มเป็น ๒,๐๑๑ เครื่อง

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๒ ฝูงบิน ๑ กองบิน ๗๗ ได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติการในบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งนับว่าเป็นน่านฟ้าที่สี่ของแบล์ (นับจากน่านฟ้ายุโรป น่านฟ้าอังกฤษ และน่านฟ้ารัสเซีย) ที่นี่แบล์ต้องกลับมาพบกับคู่รักคู่แค้นเก่าคือเฮอร์ริเคนและสปิตไฟร์และนักบินอังกฤษและอเมริกันที่เชี่ยวชาญการรบมากกว่านักบินรัสเซียอีกครั้งหนึ่ง แต่เมื่อมาถึงเขาก็แสดงตัวให้คู่ต่อสู้ได้รับรู้ถึงการมาของผู้ครองฟ้าโดยจัดการเฮอร์ริเคนและสปิตไฟร์ร่วงลงไป ๑๕ ลำ ก่อนที่จะได้รับคำสั่งให้เข้าไปปฏิบัติการเหนือน่านฟ้าที่ห้า คือ น่านฟ้าแอฟริกาเหนือ โดยฝูงบินของแบล์ต้องเขาไปตั้งฐานปฏิบัติการในภูมิประเทศที่เป็นทะเลทรายอันแสนจะร้อนอบอ้าวของตูนิเซียซึ่งต่างจากภูมิประเทศและภูมิอากาศของรัสเซียที่เขาเพิ่งจากมาไม่นานอย่างสิ้นเชิง

ที่น่านฟ้าแอฟริกาเหนือนี้ แบล์ยังคงยอดเยี่ยมเหมือนเช่นเดิม แต่เนื่องจากปฏิบัติการเหนือน่านฟ้าแอฟริกาเหนือชุกชุมมากเพราะฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการยึดให้ได้เพื่อตัดการครอบครองแหล่งน้ำมันของเยอรมัน ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่ร้อนอบอ้าวมาก ทำให้แบล์มีความเครียดสูงจนไม่สามารถปฏิบัติการได้ ลุฟท์วาฟเฟ่จึงเรียกตัวเขากลับมาพักเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจที่เยอรมนี แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แบล์ทิ้งสถิติที่น่าจดจำไว้ที่แอฟริกาเหนือ โดยเขาสามารถจัดการเครื่องบินข้าศึกลงได้ถึง ๖๑ เครื่องด้วยกัน (ลำดับที่ ๑๑๘-๑๗๙)

ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. ๑๙๔๔ (พ.ศ. ๒๔๘๗) เมื่อได้พักผ่อนเต็มที่แล้ว ลุฟท์วาฟเฟ่ได้แต่งตั้งแบล์เป็นผู้บังคับฝูงบิน ๒ กองบิน ๑ “Oesau” ซึ่งเป็นฝูงบินป้องกันน่านฟ้าของประเทศบ้านเกิด และเลื่อนยศเขาเป็นนาวาอากาศตรี ที่นี่เขาต้องเปลี่ยนแบบเครื่องบินมาใช้เครื่องบินโฟลเก้ โวฟล์ (FW) ๑๙๐A-๗ ที่มีความสามารถในการสกัดกั้นสูงมาก และเขาสามารถเพิ่มสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตกจำนวน ๒๐๐ เครื่อง ในวันที่ ๒๒ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๔  และวันในที่ ๒๙ เมษายน แบล์เปลี่ยนมาใช้เครื่องบินโฟลเก้ โวฟล์ (FW) ๑๙๐A-WNr ๔๓๑๐๐๗ ที่นักบินในกองบิน ๑ รู้จักในนาม เรด ๑๓ (Red ๑๓) และเขาจัดการ P-๔๗ Thunderbolt และเครื่องบินทิ้งระเบิด B-๒๔ Liberator ได้เป็นลำดับที่ ๒๐๑ และ ๒๐๒ ในเช้าวันนั้นเอง

ในเดือนมิถุนายน เขาได้รับการเลื่อนยศเป็นนาวาอากาศโทและลุฟท์วาฟเฟ่ย้ายเขาไปทำงานกับเครื่องบินขับไล่ที่เขาถนัดมากกว่าในกองบิน ๓ “Udet”

ต้นปี ค.ศ. ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘) ลุฟท์วาฟเฟ่ได้แต่งตั้งแบล์เป็นผู้บังคับการแผนก ๓ กองโรงเรียนการบินขับไล่ไอพ่นที่เลชเฟลด์ เพื่อฝึกบินกับเครื่องบินขับไล่แบบแรกของโลก แมสเซอร์ชมิด Me ๒๖๒A และในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน ลุฟท์วาฟเฟ่ได้ยกฐานะของแผนก ๓ กองโรงเรียนการบินนี้เป็นฝูงบินขับไล่ไอพ่น แบล์สามารถใช้พาหนะใหม่ของเขาขิงเครื่องบินข้าศึกตกเป็นเครื่องแรกเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ เหยื่อรายแรกของเขาในวันนั้นเป็นสุดยอดเครื่องบินขับไล่เครื่องยนต์ลูกสูบของอเมริกา P-๕๑ Mustang  จากนั้นแบล์สามารถจัดการกับเครื่องบินข้าศึกได้อีก ๑๒ เครื่อง ก่อนที่จะได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติหน้าที่ในฝูงบินที่ ๓ กองบินขับไล่ไอพ่นที่ ๔๔ ภายใต้บังคับบัญชาของเพื่อเก่าของเขา พลอากาศตรี อด๊อฟ กัลลานด์ (Adolf Galland) ซึ่งกองบินนี้รวบรวมยอดนักบินรบของเยอรมันไว้ด้วยกัน เมื่อกัลลานด์ได้รับบาดเจ็บจากการรบ ลุฟท์วาฟเฟ่ได้เลื่อนยศเขาเป็นนาวาอากาศเอกและมีคำสั่งให้แบล์ดำรงตำแหน่งผู้บังคับฝูงบินนี้แทน ณ ฝูงบินที่ ๓ กองบินขับไล่ไอพ่นที่ ๔๔ นี้เอง แบล์จัดการ P-๔๗ Thunderbolt ได้อีกสามเครื่อง เครื่องสุดท้ายถูกเขายิงตกในวันที่ ๒๙ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕  หลังจากนั้นสงครามโลกครั้งที่สองได้ยุติลง

 นาวาอากาศเอก ฮายริช พริทซึล แบล์ สร้างสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตก จำนวน ๒๒๑ ลำ รั้งลำดับที่ ๘ ของยอดนักบินแห่งลุฟท์วาฟเฟ่และของโลก และเป็นนักบินขับไล่ไอพ่นที่ยิงเครื่องบินข้าศึกตกมากที่สุดเป็นลำดับที่สองด้วยจำนวน ๑๖ ลำ นอกจากนี้ แบล์ยังเป็นเจ้าของสถิติเข้าร่วมทำการบินในทุกสมรภูมิของเยอรมันทั้งน่านฟ้ายุโรป อังกฤษ รัสเซีย เมดิเตอร์เรเนียน แอฟริกา และแม้แต่น่านฟ้าเยอรมันเอง รวมทั้งสถิติการบินกับยอดเครื่องบินขับไล่และสกัดกั้นทุกแบบของเยอรมัน เขาถูกยิงตกรวม ๑๘ ครั้ง แต่สามารถรอดชีวิตมาได้ทุกครั้งจนกระทั่งเลิกสงคราม

แบล์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินเล็กตกที่เมืองบราวชไวน์ เยอรมนี ในวันที่ ๒๘ เมษายน ค.ศ. ๑๙๕๗ (พ.ศ. ๒๕๐๐) รวมอายุ ๔๔ ปี


[๑]กองบินนี้ต่อมาในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๑ (พ.ศ. ๒๔๘๔) ได้รับการขนานนามว่ากองบินโมลเดอร์ (Mölders) เพื่อเป็นเกียรติแก่นายพลอากาศตรี Werner Mölders ยอดนักบินอีกคนหนึ่งของเยอรมันผู้ทำสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตก ๑๐๑ เครื่อง และเสียชีวิตในการสู้รบทางอากาศ