วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

มิตซูโอะ ฟูชิดะ Tora-Tora-Tora

 มิตซูโอะ ฟูชิดะ  โทรา-โทรา-โทรา
 โดย ปกรณ์ นิลประพันธ์

                    จังหวัดนารา (奈良県) อยู่ในมณฑลคินกิ บนเกาะฮอนชู ของประเทศญี่ปุ่น เป็นจังหวัดที่อยู่ลึกเข้าไปในตอนกลางของเกาะ จังหวัดนี้จึงแปลกไปจากจังหวัดอื่น ๆ ของญี่ปุ่นที่มักจะติดทะเล โดยนารานั้นรายรอบไปด้วยหุบเขาอันสวยงามและมีอากาศอบอุ่นตลอดปี เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๑๙๐๒ (๒๔๔๕) อันเป็นปีขาลของญี่ปุ่น นางชิกะ ฟูชิดะ ภรรยาของนายยาโซะ ฟูชิดะ ผู้เป็นครูใหญ่ของโรงเรียนมัธยมกัมมากิซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอนากาโอะของจังหวัดนี้ ได้ให้กำเนิดบุตรชายคนที่สามของครอบครัว บิดามารดาจึงได้ตั้งชื่อเด็กชายหน้าตาน่ารักน่าชังผู้นี้ว่า มิตซูโอะ ซึ่งหมายถึงลูกคนที่สาม


มิตซูโอะ ฟูชิดะ

                    ยาโซะนั้นแม้จะมีอาชีพพ่อพิมพ์ แต่ในวัยเด็กนั้นเขาใฝ่ฝันที่จะเป็นทหารและตั้งใจจะสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบกที่อิชิกายะ ซึ่งถือเป็นเวสท์พอท์ยออฟเจแปน เพราะอาชีพทหารถือเป็นอาชีพที่มีเกียรติอย่างสูงในญี่ปุ่น แต่เขากลับไม่ได้ทำอย่างที่ได้ตั้งใจไว้เพราะก่อนที่จะสอบนั้นเขาถูกลูกเบสบอลเข้าที่ตาซ้ายอย่างจังจนทำให้ตาเกือบบอด ยาโซะจึงไม่สามารถสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยได้โดยปริยาย แต่เขาก็มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าลูกชายของเขาคงจะสามารถเติมเต็มความฝันในวัยเด็กของเขาได้ในที่สุด

                   ส่วนชิกะผู้ภรรยาของยาโซะเป็นบุตรสาวของซูเอ็ตซูกุ กามาเอมอน ซามูไรแห่งปราสาททากาโตริที่มีชื่อเสียงโด่งดังของจังหวัดนารา และเป็นผู้สนับสนุนโชกุนโตกูกาว่า โยชิโนบุ ในสมัยเอโดะ แต่หลังจากสงครามกลางเมืองในการปฏิรูปเมจิ หรือเมจิ-อิชิน (明治維新) ซึ่งฝ่ายโชกุนโตกูกาว่าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อฝ่ายของพระจักรพรรดิ บิดาของชิกะก็กลายเป็นกบฏ แต่กระนั้นชิกะก็สืบสายเลือดของซามูไรผู้จงรักภักดีมาอย่างเต็มตัว

                    ความเป็นมาของบิดามารดาของมิตซูโอะ คงสะท้อนแนวทางการอบรมเลี้ยงดูบุตรของครอบครัวฟูชิดะได้เป็นอย่างดีว่าจะเป็นไปในแนวทางใด และการอบรมตามหลักซามูไรนี้เองที่ทำให้เด็กชายมิตซูโอะ ฟูชิดะ เป็นผู้มีนิสัยเรียบร้อย มีระเบียบวินัยดี กล้าหาญ และรักที่จะเป็นทหารดังเช่นที่บิดาของเขาเคยตั้งใจไว้

                    เมื่ออายุ ๑๕ ปี มิตซูโอะได้มีโอกาสไปเที่ยวที่คาบสมุทรอิเซ ความหลงใหลคลั่งไคล้ในความมหัศจรรย์และลึกลับแห่งท้องทะเลได้เกาะกุมจิตใจของหนุ่มน้อยจากนาราผู้นี้ จนทำให้เขาตัดสินใจทันทีว่าเขาต้องเป็นนายทหารเรือแห่งราชนาวีอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระจักรพรรดิให้ได้ แทนที่จะเป็นทหารบกอย่างที่บิดาตั้งความหวังไว้ และเมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมต้นเมื่อปลายปี ๑๙๑๗ (๒๔๖๐) เขาเดินทางไปโอซาก้าอันเป็นที่ตั้งของกรมโรงเรียนนายร้อยทุกเหล่าเพื่อสอบเข้าเป็นนักเรียนนายร้อย


หอประชุมใหญ่โรงเรียนนายเรือที่อิตา จิม่า

                   ในสมัยนั้น นักเรียนนายร้อยทหารบกและนักเรียนนายเรือญี่ปุ่นไม่ได้สอบพร้อมกัน โดยนักเรียนนายร้อยทหารบกจะสอบเดือนมกราคม ส่วนนักเรียนนายเรือจะสอบเดือนพฤษภาคม ดังนั้น ผู้สอบเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบกไม่ได้ ก็ยังมีโอกาสที่จะสอบเข้าโรงเรียนนายเรืออีกครั้งหนึ่ง และในการสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบกในเดือนมกราคม ๑๙๑๘ (๒๔๖๑) นั้น มิตซูโอะผ่านการทดสอบข้อเขียนและสมรรถภาพทางกาย แต่กลับไม่ได้รับการคัดเลือกเนื่องจากน้ำหนักน้อยกว่าที่กำหนด

                   การสอบตกครั้งนี้ไม่ได้ทำให้มิตซูโอะเสียอกเสียใจมากมายนัก เพราะใจของเขานั้นเอนไปในทางทหารเรืออยู่แล้ว แต่มิตซูโอะก็มิได้ประมาท เขาไปสมัครเรียนต่อที่โรงเรียนพาณิชย์นาวีที่โกเบเมื่อเดือนมีนาคมโดยหวังว่าการเรียนและการฝึกที่โรงเรียนพาณิชย์นาวีจะเป็นประโยชน์กับเขาในการสอบเข้าโรงเรียนนายเรือที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม แต่กลายเป็นว่าคราวนี้เขาสอบข้อเขียนตก แต่ผ่านการทดสอบอื่นทั้งหมด ทั้งครอบครัวช๊อคกับผลการสอบครั้งนี้มาก แต่บิดามารดาผู้อารียังคงเป็นกำลังใจให้กับเขาเหมือนเช่นเคย และทำให้มิตซูโอะมุมานะในการเตรียมตัวสอบสอบครั้งใหม่ และสามารถสอบเข้าโรงเรียนนายเรือที่ตั้งอยู่ ณ เกาะอิตา จิม่า (江田島市)) ในอ่าวฮิโรชิมา ทางทิศตะวันตกฉียงใต้ของเมืองฮิโรชิมา ได้ในปี ๑๙๒๑ (๒๔๖๓) และนักเรียนนายเรือฟูชิดะยังมีโอกาสเป็นพระสหายของนักเรียนนายเรือเจ้าฟ้าชายทากามัทสุ พระอนุชาแห่งมกุฎราชกุมารฮิโรฮิโต ซึ่งต่อมาเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิ ฮิโรฮิโต รวมทั้งนักเรียนนายเรือมิโนรุ เก็นดะ อัจฉริยะของรุ่น ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นยอดเสนาธิการของจักรพรรดินาวีอันเกรียงไกรและเป็นหนึ่งในทีมวางแผนการโจมตีเพิร์ล ฮาเบอร์ ด้วย


นักเรียนนายเรือญี่ปุ่นสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒

                   เมื่อเข้าเป็นนักเรียนนายเรือ ฟูชิดะตั้งใจเรียนอย่างมุ่งมั่นและมักจะเป็นคนแรกของชั้นที่ยกมือเพื่อตอบคำถามต่าง ๆ ที่ครูถามเสมอ และนิสัยมือไวใจเร็วนี้เองที่เปลี่ยนแปลงชีวิตเขาไปตลอดกาล โดยวันหนึ่งมีเครื่องบินทะเลแบบ F-ของกองบินทหารเรือมาจอดที่อิตาจิมาและได้ขึ้นสาธิตการบินให้นักเรียนนายเรือชม เมื่อแสดงเสร็จ เรือโทมิยาซากิได้ถามว่าใครอยากเป็นนักบินทหารเรือบ้าง ฟูชิดะยกมือขึ้นตามนิสัย มิยาซากิจึงพาเขาขึ้นบินด้วยและทำให้เขาหลงมนต์เสน่ห์ของการบินนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จุดนี้เองที่ทำให้เขากลายเป็นเพื่อนสนิทกับเก็นดะซึ่งหลงใหลในการบินเช่นเดียวกัน


เรือพิฆาตมิเนคาเซ่ เรือในชั้นเดียวกับเรือพิฆาตอากิกาเซ่

                   ฟูชิดะจบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๑๙๒๔ (๒๔๖๖) และได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยต้นหนประจำเรือยาฮากิ อันเป็นเรือฝึกนักเรียนนายเรือ และหลังจากเข้าโรงเรียนปืนใหญ่และโรงเรียนตอร์ปิโด จักรพรรดิ์นาวีมีคำสั่งให้เรือตรีฟูชิดะปฏิบัติหน้าที่ต้นหนประจำเรือพิฆาตอากิกาเซ่ แต่ระหว่างนั้นเขาก็เดินตามความฝันโดยการวิ่งเต้นสมัครเข้าเรียนการบินตลอดเวลา และในวันที่ ๑ ธันวาคม ๑๙๒๗ (๒๔๖๙) จักรพรรดินาวีมีคำสั่งเลื่อนยศเขาเป็นเรือโทพร้อมกับมีคำสั่งให้เขาพร้อมกับนายทหารเรืออื่นอีก ๘ คนไปเข้าเรียนที่โรงเรียนการบินทหารเรือที่คาซูมิกาอูระ ที่ห่างจากโตเกียวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๗๐ ไมล์

                   พิธีต้อนรับศิษย์การบินรุ่นฟูชิดะ ในวันที่พวกเขาย่างเท้าเข้าโรงเรียนการบินวันแรกไม่น่าจดจำเท่าใดนัก เนื่องจากวันนั้นศิษย์การบินรุ่นก่อนกำลังฝึกบินผาดแผลงแต่เกิดประสบอุบัติเหตุชนกันกลางอากาศ ศิษย์การบินเสียชีวิตสองนาย แต่เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ฟูชิดะตระหนักว่าการฝึกบินต้องใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ทุกครั้งที่ขึ้นบิน การผิดพลาดเพียงนิดเดียวหมายถึงความสูญเสียอย่างร้ายแรง และฟูชิดะก็แสดงความเป็นเอกทัคคะทางการบินให้เป็นที่ประจักษ์ด้วยการบินเดี่ยวได้ภายใน ๑๔ ชั่วโมงบิน ซึ่งนับเป็นสถิติปล่อยเดี่ยวเร็วที่สุดของโรงเรียนการบินนาวีนับตั้งแต่ก่อตั้งมาเลยทีเดียว


เรือบรรทุกเครื่องบินคากะ

                   เมื่อจบการศึกษา ณ โรงเรียนการบิน จักรพรรดิ์นาวีมีคำสั่งให้เรือโทฟูชิดะเป็นนักบินประจำเรือลาดตะเวณหนักอาโอบะ และในปี ๑๙๒๙ (๒๔๗๑) เขาเปลี่ยนเรืออีกครั้ง คราวนี้ไปประจำเรือบรรทุกเครื่องบินขนาด ๓๓,๖๙๓ ตัน ชื่อ คากะ ซึ่งเพิ่งต่อเสร็จและขึ้นระวางในเดือนมีนาคม ๑๙๒๖ วันหนึ่งหมอกลงจัดมาก เขากับเรือโทคิโยชิ คัทสุฮาตะ ได้รับคำสั่งให้ขึ้นบินลาดตะเวณตามปกติในบริเวณทะเลจีนใต้ ปรากฏว่าในขากลับพวกเขาหาคากะไม่พบ ฟูชิดะซึ่งทำหน้าที่นักบินตัดสินใจบินขึ้นไปที่ ๘,๐๐๐ ฟุต จนน้ำมันหมด แล้วค่อย ๆ ร่อนลงมา ระหว่างทางเขาสังเกตเห็นเรือประมงจีนลำเล็ก ๆ อยู่ข้างหน้าจึงร่อนเข้าไปหาและตกแหมะลงที่ใกล้ ๆ เรือประมงจีนลำนั้น แล้วรีบว่ายน้ำไปขอความช่วยเหลือ เป็นอันว่าวันนั้นชาวประมงจับนักบินตัวเป็น ๆ ได้แทนปลาอย่างเคย


เรือสนับสนุนเรือดำน้ำ จินเกอิ

                   หลังจากออกทะเลมา ๔ ปี จักรพรรดิ์นาวีเลื่อนยศฟูชิดะเป็นเรือเอกในเดือนธันวาคม ๑๙๓๐ และให้เขามาประจำฐานทัพเรือซาเซโบทางตะวันตกของกิวชิว และเข้าพิธีสมรสกับนางสาวฮารูโกะ คิตะโอกะ ลูกสาวคนสวยของคหบดีชาวซาเซโบในเดือนมกราคม ๑๙๓๒ แต่หลังสมรส จักรพรรดิ์นาวีมีคำสั่งให้ฟูชิดะทำหน้าที่แอร์บอสประจำเรือสนับสนุนเรือดำน้ำชื่อจินเกอิ โดยเรือจินเกอิจะสนับสนุนเรือดำน้ำรวม ๙ ลำ เรือดำน้ำแต่ละลำจะบรรทุกเครื่องบินทะเล ๑ เครื่อง ขณะที่เรือจินเกอิมีเครื่องบินทะเลขนาดใหญ่ประจำการรวม ๓ เครื่อง โดยฟูชิดะมีหน้าที่ควบคุมดูแลฝูงบินทั้ง ๑๒ เครื่องนี้ เขาทำหน้าที่นี้จนถึงเดือนพฤศจิกายน ๑๙๓๒ หลังจากนั้นก็ได้รับคำสั่งให้กลับเข้ามารับการฝึกบินหลักสูตรทิ้งระเบิดและตอร์ปิโดที่ระยะสูงเป็นเวลา ๖ เดือน ณ กองบินโยโกซูกะ และในการฝึกบินนี้เองที่ทำให้ฟูชิดะโคจรมาพบกับเก็นดะอีกครั้ง แต่คราวนี้ในฐานะที่เก็นดะเป็นครูและเขาเป็นศิษย์ ซึ่งฟูชิดะก็ไม่ทิ้งลายยอดนักบินเมื่อเขาทำคะแนนในการฝึกบินครั้งนี้ได้ในระดับดีเยี่ยมอีกครั้ง


เรือลาดตะเวณเบานาโตริ

                   เมื่อจบการฝึกอันเข้มข้นในเดือนพฤษภาคม ๑๙๓๓ เขาได้ย้ายเรืออีกครั้ง คราวนี้ไปอยู่เรือลาดตะเวณเบานาโตริ และต่อมาในเดือนตุลาคม ก็ย้ายไปอยู่เรือลาดตะเวนมายะ และเมื่ออยู่มาครบสามปีคราวนี้ จักพรรดิ์นาวีได้ย้ายเขาไปเป็นครูการบินหลักสูตรทิ้งระเบิดและตอร์ปิโดที่ระยะสูงที่กองบินโยโกซูกะ อย่างไรก็ดี ฟูชิดะไม่ชอบการทิ้งระเบิดที่ระยะสูงมากเท่าใดนักเพราะพลาดเป้าได้ง่าย โดยเฉพาะเรืออันเป็นเป้าหมายที่เคลื่อนไหวได้ การบินเดี่ยวเพื่อทิ้งระเบิดที่ระยะสูงให้ได้ดีนั้น นอกจากนักบินต้องสุดยอดแล้ว ยังต้องอาศัยโชคช่วยอีกด้วย

                   ความเบื่อหน่ายนี้เองที่ทำให้ฟูชิดะหาโอกาสทดลองจัดขบวนบินใหม่เพื่อช่วยให้การทิ้งระเบิดพลาดเป้าน้อยลง เขาทดลองใช้เครื่องบินหมู่ละ ๓ เครื่อง รวม ๓ หมู่มาประกอบเป็นฝูงบินทิ้งระเบิดระยะสูง จัดขบวนบินเป็นรูปหัวลูกศรขนาดใหญ่ เมื่อทดลองนำไปทิ้งระเบิดเป้าหมายทั้งเคลื่อนที่และไม่เคลื่อนที่ ปรากฏว่าเปอร์เซ็นต์การทำลายเป้าหมายสูงกว่าเดิมมาก ซึ่งต่อมาจักรพรรดิ์นาวีได้นำการจัดขบวนบินที่ฟูชิดะคิดค้นขึ้นนี้ไปใช้ตลอดระยะเวลาของสงคราม

                   ความโดดเด่นด้านการบินและความขึ้นชื่อด้านความมีระเบียบวินัยของฟูชิดะทำให้เขาได้เลื่อนยศเป็นนาวาตรีเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๑๙๓๖ ขณะที่มีอายุ ๓๔ ปี ซึ่งนับว่าหนุ่มมากในสมัยนั้น รวมทั้งผ่านการคัดเลือกให้เข้าเรียน ณ โรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ ซึ่งมีกระบวนการคัดเลือกอย่างเข้มข้นและต้องสอบแข่งขันกันอย่างดุเดือด เพราะรับเข้าเรียนเพียงรุ่นละ ๒๔ คนเท่านั้น ใครผ่านโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือจึงรับรองว่ามีอนาคตในจักรพรรดิ์นาวีแน่นอน

                   ที่โรงเรียนเสนาธิการทหารเรือนี้เอง ฟูชิดะได้พบกับเก็นดะอีกรอบหนึ่ง และเก็นดะผู้เป็นอัจฉริยะของนักเรียนนายเรือรุ่นเดียวกับฟูชิดะก็ได้มาเป็นครูของฟูชิดะอีกรอบหนึ่งในโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือแห่งนี้ แต่โดยที่กองทัพเรือขณะนั้นมีหลักนิยมในการทำสงครามทางเรือแบบคลาสสิค อาจารย์ผู้สอนจึงเป็นเอกทัคคะด้านการยุทธ์แบบเรือต่อเรือทั้งสิ้น และไม่มีการพัฒนาแนวคิดที่จะนำเวหานุภาพมาผนวกเข้ากับอำนาจการยิงทางเรือทั้งที่กองทัพเรือญี่ปุ่นใช้เครื่องบินควบคู่กับเรือรบมานานแล้ว และมีเรือบรรทุกเครื่องบินใช้แล้วด้วย เครื่องบินจึงกลายเป็นเพียงหูตาของกองเรือ และผู้พิทักษ์กองเรือจากการรุกรานของกองเรือข้าศึกเท่านั้น


USS Panay

                   เมื่อสงครามญี่ปุ่น-จีน ระเบิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ๑๙๓๗ ฟูชิดะยังเรียนอยู่ที่โรงเรียนเสนาธิการทหารเรือ และก็ไม่น่าที่เขาจะเข้าไปมีเอี่ยวกับสถานการณ์นี้ได้ แต่เมื่อเรือโท มัทสะตาเกะ โอคุมิยะ และเรือโท ชิเกฮารุ มูระตะ สองนักบินนาวีหนุ่มของญี่ปุ่นประจำกองบินนาวีที่ ๑๓ แห่งนานกิง ได้รับคำสั่งเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๑๙๓๗ ให้ทำลายเรือที่จอดอยู่ในแม่น้ำแยงซีใกล้เซี่งไฮ้ นักบินได้ออกปฏิบัติการตามคำสั่งรวมทั้งได้ทิ้งระเบิดเรือลาดตะเวณลำน้ำของอเมริกันชื่อ พานาย (USS Panay: PR-๕) ที่พวกเขาเห็นว่าจอดอยู่บริเวณปากแม่น้ำแยงซีด้วย ทั้งที่เรือพานายชักธงอเมริกัน จนเป็นเหตุให้ลูกเรือเสียชีวิต ๓ คน บาดเจ็บ ๔๓ คน เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างอเมริกากับญี่ปุ่น และญี่ปุ่นต้อง แสดงความเสียใจ ต่ออเมริกาที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น และจักพรรดิ์นาวีไม่ต้องการให้เกิดการเสียหน้าขึ้นอีก จึงมีคำสั่งให้ฟูชิดะผู้เคร่งครัดต่อหน้าที่ไปปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าแผนกปฏิบัติการบินของกองบินนาวีที่ ๑๓ แห่งนานกิง ซึ่งมีพื้นที่ปฏิบัติการในมณฑลหวูฮั่น


เรือบรรทุกเครื่องบินอกากิ

                   แม้จะไม่ได้เรียนโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือจนจบหลักสูตร แต่จักรพรรดิ์นาวีไม่ถือว่าฟูชิดะขาดเรียน และถือว่าเขาจบจากโรงเรียนเสนาธิการทหารเรือเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๑๙๓๘ และได้รับคำสั่งให้ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับฝูงบินประจำเรือบรรทุกเครื่องบินเบาเรียวโจในช่วงสั้น ๆ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ครองอากาศในการบุกมณฑลกวางตุ้ง ก่อนกลับมาประจำฐานทัพเรือที่ซาเซโบในเดือนธันวาคม ก่อนที่จะออกไปรับงานใหม่ใหญ่กว่าเดิมในเดือนพฤศจิกายน ๑๙๓๙ ในฐานะผู้บังคับฝูงบินประจำเรือบรรทุกเครื่องบินอกากิ (赤城) ที่แปลว่า ปราสาทเพลิง ซึ่งตั้งชื่อตามชื่อภูเขาไฟอกากิในมณฑลคันโต และเขาได้นำความรู้ในการทิ้งระเบิดที่ระยะสูงมาประยุกต์ใช้ในการทิ้งตอร์ปิโด จนกลายเป็นผู้ชำนาญการบินทิ้งตอร์ปิโดในที่สุด และได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นเสนาธิการประจำกองบินนาวีที่สามที่ประกอบด้วยเครื่องบินประจำเรือบรรทุกเครื่องบินเรียวโจและโชโฮในอีกหนึ่งปีต่อมา


 พลเรือโท ชูอิชิ นากูโม

                   กลางเดือนสิงหาคม ๑๙๔๑ จักรพรรดิ์นาวีมีคำสั่งด่วนให้ฟูชิดะกลับไปปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับฝูงบินประจำเรือบรรทุกเครื่องบินอกากิอีกคำรบหนึ่ง สร้างความงุนงงให้ฟูชิดะซึ่งทุกคนคาดหมายว่าจะได้รับการเลื่อนยศเป็นนาวาเอกในอีกสองเดือนข้างหน้าเป็นอย่างมากเพราะการย้ายแบบนี้เหมือนกับเขาถูกลดตำแหน่งลง แต่เขาก็ไม่ถามไถ่อะไรมากตามแบบฉบับของทหารที่ดี และไปรายงานตัวตามคำสั่ง

                   เมื่อฟูชิดะเข้ารายงานตัวต่อพลเรือโท ชูอิชิ นากูโม ผู้เชี่ยวชาญสงครามตอร์ปิโด ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองเรือบรรทุกเครื่องบินที่หนึ่ง เขาจึงทราบว่าเก็นดะเพื่อนซี้ของเขาเป็นเสนาธิการฝ่ายปฏิบัติการทางอากาศของกองเรือบรรทุกเครื่องบินนี้ และปรากฏว่าเขาได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชานักบินของกองเรือบรรทุกเครื่องบินที่หนึ่งอันประกอบด้วยเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ ๔ ลำ คือ อกากิและคากะ (ความหรรษา) ที่เป็นหมวดเรือที่หนึ่ง และซอยุ (มังกรฟ้า) และฮีร์ยุ (มังกรบิน) ที่เป็นหมวดเรือที่สอง มิใช่แค่ผู้บังคับฝูงบินประจำเรือบรรทุกเครื่องบินอกากิอย่างที่ได้รับคำสั่งแต่แรก ฟูชิดะเริ่มงงใหม่เพราะเรื่องเข้าสู่โหมดลึกลับอีกครั้ง

                   เมื่อเขาเข้ารับหน้าที่ก็พบว่าบรรดานักบินที่มารวมตัวกันอยู่ในกองเรือบรรทุกเครื่องบินนี้เป็นนักบินระดับหัวกระทิของจักรพรรดินาวีทั้งสิ้น ฟูชิดะก็ยิ่งงงหนักขึ้นไปอีกว่ากองทัพมีความประสงค์ใดกันแน่ แต่โดยที่ฟูชิดะเป็นทหารที่มีระเบียบวินัย สิ่งที่เขาทำคือปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่มีการสอบถาม ซักไซ้ไล่เลียง หรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้บังคับบัญชาตามหน้าหนังสือพิมพ์เหมือนทหารในประเทศสารขัณฑ์  ทั้งนี้ คำสั่งที่เขาได้รับคือให้เคี่ยวนักบินของกองเรือบรรทุกเครื่องบินนี้ให้เชี่ยวชาญในการฝึกทิ้งระเบิดและตอร์ปิโดในแนวระดับ และการดำทิ้งระเบิด


เครื่องบินขับไล่มิตซูบิชิ เอ ๖-เอ็ม ซีโร่ (A หมายถึง attack ส่วน M หมายถึงมิตซูบิชิที่เป็นผู้ผลิต)

                   แม้ฟูชิดะจะอยู่เรือลำเดียวกับเก็นดะ แต่ยอดนักบินกับยอดเสนาธิการคู่นี้แทบจะไม่ได้พบกันเลย จนปลายเดือนกันยายน ๑๙๔๑ เพื่อนสนิทคู่นี้จึงมีโอกาสพบปะพูดคุยกันฉันท์เพื่อนเป็นครั้งแรก โดยเก็นดะเล่าให้เขาฟังว่าสถานการณ์ระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐได้เลวร้ายลงเรื่อย ๆ  ถ้าหากมีความจำเป็นต้องทำสงคราม แม่ทัพเรือยามาโมโต้ได้วางแผนที่จะเริ่มต้นด้วยการโจมตีอ่าวเพิร์ล แผนนี้ได้รับการอนุมัติแล้ว กระทรวงทหารเรือจึงมีคำสั่งให้จัดตั้งกองเรือบรรทุกเครื่องบินที่หนึ่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่นี้ โดยนักบินของกองเรือที่หนึ่งจะเป็นผู้นำการโจมตี และตัวเก็นดะเองเป็นผู้เสนอชื่อฟูชิดะเป็นผู้อำนวยการโจมตี และเป็นผู้บังคับบัญชานักบินของกองเรือบรรทุกเครื่องบินที่หนึ่งด้วยเพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการโจมตีทิ้งระเบิดจนเป็นที่ยอมรับในหมู่นักบิน ซึ่งพลเรือเอกยามาโมโต้เห็นด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมฟูชิดะถึงต้องย้ายมาทำหน้าที่นี้ และพาเขาไปพบกับนากูโมและเหล่าเสนาธิการในห้องประชุมเพื่อรับทราบรายละเอียดของแผนปฏิบัติการเพื่อเตรียมการฝึกให้สมจริงที่สุด


แผนที่เกาะโอฮาอู

                   ห้องประชุมนั้นมีโมเดลจำลองของเกาะโอฮาอูอันเป็นที่ตั้งของอ่าวเพิร์ลวางอยู่กลางห้อง และเก็นดะเป็นผู้บรรยายสรุปสภาพพื้นที่เป้าหมายและชี้ที่จอดประจำของเรือรบต่าง ๆ ของกองเรือแปซิกฟิกของสหรัฐฯในอ่าวเพิร์ลให้ฟูชิดะดูด้วย สำหรับวิธีการโจมตีบรรดาเรือรบเหล่านี้ เก็นดะเสนอให้ใช้การทิ้งตอร์ปิโดเข้าทำลายเป้าหมายเพราะมันสร้างความเสียหายให้แก่ตัวเรือได้รุนแรงกว่าระเบิดธรรมดามาก ฟูชิดะในฐานะผู้อำนวยการโจมตีและต้องเป็นผู้ปฏิบัติในสนามได้ฟังแล้วถึงกับสะอึก เพราะน้ำในอ่าวเพิร์ลลึกแค่ ๔๐ ฟุตเท่านั้น ซึ่งถือว่าตื้นมากสำหรับการทิ้งตอร์ปิโด และญี่ปุ่นก็ยังไม่มีตอร์ปิโดน้ำตื้นใช้ ขืนใช้ตอร์ปิโดธรรมดาทิ้งลงไป ตอร์ปิโดก็มุดลงโคลนก้นอ่าวเพิร์ลเท่านั้น อีกทั้งการจอดเรือก็จอดซ้อนกันสองชั้น หากใช้ตอร์ปิโดสำเร็จเรือที่จอดด้านนอกเท่านั้นที่จะเสียหายหรือถูกทำลาย เรือที่จอดอยู่ด้านในติดกับท่าจะไม่เสียหายเลย แต่เก็นดะยังคงยืนยันให้ใช้วิธีดังกล่าว ฟูชิดะจึงประนีประนอมโดยขอให้พัฒนาตอร์ปิโดน้ำตื้นมาใช้ และใช้วิธีการโจมตีอื่นประกอบด้วยเพื่อประกันความสำเร็จ ทั้งการทิ้งระเบิดระยะสูงและการดำทิ้งระเบิด และการโจมตีจะแบ่งออกเป็น ๒ ระลอก ๆ ละ ๓ กลุ่ม เพื่อสร้างความเสียหายให้มากที่สุด ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบและมอบหมายให้ฟูชิดะเริ่มการฝึกจริงได้ พร้อมกันนั้น จักรพรรดิ์นาวีมีคำสั่งให้กองเรือบรรทุกเครื่องบินที่ห้าที่ประกอบด้วยเรือบรรทุกเครื่องบินโชกากุ (นกกระสาเหินหาว) และซุยกากุ (นกกระสาแห่งโชค) มาประกอบกำลังกับกองเรือบรรทุกเครื่องบินที่หนึ่งด้วย


เครื่องบินดำทิ้งระเบิดไอชิ ดี ๓-เอ วาล (D หมายถึง driving ส่วน A หมายถึงไอชิที่เป็นผู้ผลิต)

                   ในการฝึกบินทิ้งระเบิดที่ระยะสูง ฟูชิดะทดลองลดจำนวนเครื่องบินทิ้งระเบิดลงเหลือฝูงละ ๕ เครื่อง และบินชิดกันมากขึ้นเพื่อให้หัวลูกศรเล็กลง ผลปรากฏว่าทิ้งระเบิดตรงที่หมายถึงร้อยละ ๗๐ ส่วนการบินดำทิ้งระเบิดนั้นยังคงใช้ฝูงละ ๑๒ เครื่องเช่นเดิม แต่เน้นความแม่นยำในการทิ้งระเบิด ผลปรากฏว่าทิ้งระเบิดตรงที่หมายถึงร้อยละ ๔๐ ซึ่งนับว่ามีความแม่นยำสูงมากในสมัยนั้น และผลการฝึกอันยอดเยี่ยมเช่นนี้เองที่ทำให้ฟูชิดะเลื่อนยศเป็นนาวาเอก ส่วนตอร์ปิโดนั้น ญี่ปุ่นได้พัฒนาตอร์ปิโดน้ำตื้นแบบ ๙๑ ขึ้นมาใช้ในการโจมตีอ่าวเพิร์ลเป็นการเฉพาะ โดยพัฒนามาจากตอร์ปิโดขนาดเล็กที่ใช้กับเรือดำน้ำขนาดจิ๋วมิดเจ็ตนั่นเอง


เครื่องบินทิ้งระเบิดและตอร์ปิโด นากาจิมา บี ๕-เอ็น คาเตะ (B หมายถึง bomber ส่วน N หมายถึงนากาจิมาที่เป็นผู้ผลิต)

                   ตอนเที่ยงของวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๑๙๔๑ กองเรือรบอันเกรียงไกรของญี่ปุ่นซึ่งประกอบด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน ๖ ลำ เรือพิฆาต ๙ ลำ เรือประจัญบาน ๒ ลำ เรือลาดตระเวณหนัก ๒ ลำ เรือลาดตระเวณเบา ๑ ลำ เรือน้ำมัน ๘ ลำ เรือดำน้ำ ๒๓ ลำ และเรือดำน้ำจิ๋วอีก ๕ ลำ พร้อมเครื่องบิน ๔๑๔ เครื่อง ได้ออกเดินทางไปจุดนัดพบที่อ่าวฮิโตคับปุ ของเกาะอิโตโรฟุ ในหมู่เกาะคูริว ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังหมู่เกาะฮาวาย ระหว่างทาง ฟูชิดะมีคำสั่งให้นักบินทุกนายฝึกทดสอบการบินทิ้งระเบิดโดยใช้เครื่องวัดจำลองทุกวัน จนเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๑๙๔๑ กองเรือญี่ปุ่นได้เติมน้ำมันครั้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่น่านน้ำอเมริกัน และนักบินทุกนายได้รับคำสั่งให้พักผ่อนให้เต็มที่ก่อนออกปฏิบัติการในวันรุ่งขึ้น


มิตซูโอะ ฟูชิดะ ในชุดบินก่อนออกปฏิบัติการ

                   ฟูชิดะตื่นนอนเวลาตีห้าและรับประทานอาหารเช้าอย่างเร่งรีบ แต่เขาก็ไม่ตื่นเต้นกับภารกิจสะท้านโลกที่กำลังจะต้องออกไปทำหลังจากฝึกมานาน และเมื่อเวลา ๖.๑๕ นาฬิกา เขาได้รับคำสั่งให้นำคลื่นการโจมตีแรกฝ่าหมอกอันหนาทึบเดินทางออกไปปฏิบัติภารกิจ ซึ่งคลื่นการโจมตีแรกนี้แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งประกอบด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดและตอร์ปิโด นากาจิมา บี ๕-เอ็น คาเตะ โดยในจำนวนนี้บรรทุกระเบิด ๑,๗๖๐ ปอนด์ จำนวน ๕๐ ลำ ส่วนอีก ๔๐ เครื่อง บรรทุกตอร์ปิโดแบบ ๙๑ ขนาด ๑๗.๗ นิ้ว เพื่อจัดการกับเรือรบต่าง ๆ ที่ทอดสมออยู่ในอ่าวเพิร์ล กลุ่มที่สองประกอบด้วยเครื่องบินดำทิ้งระเบิดไอชิ ดี ๓-เอ วาล จำนวน ๕๕ เครื่อง มีหน้าที่จัดการกับโรงเก็บเครื่องบินและสนามบินบนเกาะฟอร์ดและสนามบินวีลเล่อร์บนเกาะฮอโนลูลู ส่วนกลุ่มที่สามเป็นเครื่องบินขับไล่คุ้มกัน เอ ๖-เอ็ม จำนวน ๔๕ เครื่อง


เครื่องบินญี่ปุ่นเตรียมออกปฏิบัติการ

                   ฟูชิดะในฐานะผู้อำนวยการโจมตีบินไปกับคาเตะโดยมีเรือโท มัทสุซากิ เป็นนักบิน และพันจ่าเอก โทโกโนบุ มิซูกิ เป็นพลวิทยุ ระหว่างที่ออกเดินทางเขาเกรงว่าทัศนวิสัยจะไม่เอื้อต่อการโจมตีและจะทำงานพลาดเพราะตอนขึ้นจากเรือนั้นหมอกลงจัดมาก แต่เมื่อเวลาประมาณ ๗.๓๐ นาฬิกา เมื่อบินไปถึงนอร์ทพอยท์ของโอฮาอู เขากลับพบว่าอากาศที่นั่นดีเหลือเกิน พระอาทิตย์อันเป็นสัญลักษณ์ของญี่ปุ่นส่องแสงแรงจ้าเหมือนจะอวยชัยให้พรแก่พวกเขา ทำให้ฟูชิดะและบรรดาลูกพระอาทิตย์มีความฮึกเหิม ฟูชิดะจึงออกคำสั่งให้ปรับขบวนบินเพื่อเตรียมการโจมตี และเครื่องคุ้มกันก็เริ่มกวาดตาหาข้าศึก แต่ประหลาดว่าไม่มีการบินลาดตระเวนเลยทั้งที่เป็นที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์ระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐในขณะนั้นอยู่ในภาวะที่คับขันมาก ฟูชิดะจึงเริ่มมั่นใจว่าการโจมตีครั้งนี้จะเป็นเซอร์ไพรส์สำหรับอเมริกันอย่างแน่นอน

                   เมื่อเข้าเขตโจมตี ฟูชิดะเห็นเรือเป้าเก้าลำจอดนิ่งอยู่ที่ท่าตามตำแหน่งที่เก็นดะแจ้งทุกประการ แต่ไม่มีเงาของเรือบรรทุกเครื่องบินเลยสักลำ เขาจึงสั่งให้ยิงพลุชี้เป้า ทุกหมู่บินแสดงอาการรับทราบและเตรียมพร้อม และเมื่อเวลา ๗.๔๙ นาฬิกา เหนือลาลาลาไฮพอยท์ ฟูชิดะมีคำสั่ง โท-โท-โท ซึ่งย่อมาจากคำว่า โทสุเกกิ (突撃) ที่แปลว่าโจมตี มิซูกิจึงวิทยุแจ้งนักบินทุกลำทราบ และแยกย้ายกันเข้าโจมตีขณะที่ฝ่ายอเมริกันไม่รู้ตัว พร้อมกับสั่งให้มิซูกิส่งสัญญาณ โทรา-โทรา-โทรา (--) ที่แปลว่า เสือ-เสือ-เสือ อันเป็นรหัสแจ้งการโจมตีกลับไปที่กองบัญชาการ และรหัสนี้เองที่ทำให้โลกต้องตกตะลึงกับการกระทำของญี่ปุ่นและเป็นการเปิดฉากสงครามอันโหดร้ายขึ้นในทวีปเอเซีย


ภาพถ่ายของเรือรบที่จอดอยู่ที่อ่าวเพิร์ล ถ่ายจากเครื่องบินญี่ปุ่นขณะที่เข้าโจมตี

                   เมื่อสิ้นคำสั่งของฟูชิดะ ฝูงเครื่องบินคุ้มกันซีโร่ภายใต้การควบคุมของนาวาโท ชิเกรุ อิตายะ ก็เปิดฉากการแสดงเหนือดินแดนอเมริกันโดยยิงอุปกรณ์สงครามของอเมริกันทุกอย่างที่มองเห็น เครื่องดำทิ้งระเบิดภายใต้การกำกับของนาวาโท คากูชิ ทากาฮาชิ จากเรือบรรทุกเครื่องบินโชกากุ ดำลงโจมตีเรือที่จอดติดกับท่าและลงบอมบ์สนามบินที่เกาะฟอร์ดและสนามบินวีลเล่อร์ ส่วน บี ๕-เอ็น ที่บรรทุกตอร์ปิโดที่ควบคุมโดยเรือโท ชิเกฮารุ มูระตะ ที่เคยมีประสบการณ์จมเรือพานายของสหรัฐที่เซี่ยงไฮ้ ก็เริ่มสาธิตการส่งตอร์ปิโดลงน้ำไปทำลายเรือรบที่จอดอยู่ด้านนอกตามแผนของเก็นดะ


นาวาโท ชิเกรุ อิตายะ

                  ฟูชิดะลุ้นมากกับงานของมูระตะเพราะหากไม่สำเร็จ เรือทั้งหมดก็จะมีทางหนีออกมาได้และนั่นก็จะทำให้แผนล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เขาสั่งให้มัทสุซากิบินไปอยู่เหนือเรือเป้าเพื่อดูผลงานของตอร์ปิโด ทันใดนั้นปืนต่อสู้อากาศยานประจำเรือก็ยิงขึ้นมาเป็นสาย พวกอเมริกันเริ่มตั้งตัวได้แล้ว ฟูชิดะรู้สึกว่าเครื่องของเขาถูกยิงจนสะเทือนไปหมดได้ แต่ก็คุ้มกับที่เห็นผลงานของมูระตะ ตอร์ปิโดแบบ ๙๑ กระทบเป้าเกือบทุกลูกและเรือเป้าระเบิดอย่างรุนแรง และหลังจากบินผ่านเรือแคลิฟอร์เนียในรอบที่สาม ฟูชิดะก็สั่งให้มัทสุซากิเทไข่ระเบิดประจำเครื่องของเขาใส่เรือแคลิฟอร์เนียซึ่งโดนเข้าอย่างจังจนเกิดระเบิดอย่างรุนแรงก่อนจะจมลงอย่างรวดเร็ว ส่วนเรืออริโซนาก็โดนทั้งตอร์ปิโดและระเบิดจากเครื่องบินจนจมลง (แต่ภายหลังจัดรพรรดิ์นาวีกลับประกาศว่าเรืออริโซนาจมลงโดยการระเบิดพลีชีพของเรือดำน้ำมิดเจ็ตเพื่อผลทางจิตวิทยา ซึ่งทำให้ฟูชิดะและนักบินผู้ร่วมปฏิบัติการถล่มอ่าวเพิร์ลที่รู้ความจริงโกรธมาก)


เรือ USS California กำลังจม

                   เวลา ๘.๔๐ นาฬิกา เมื่อนาวาโท ชิเกคาสุ ชิมาซากิ นำคลื่นการโจมตีระลอกที่สองมาถึงยุทธบริเวณ ฟูชิดะก็มอบอำนาจบังคับบัญชาการโจมตีให้แก่ชิมาซากิ แล้วเขาสั่งให้มัทสุซากิบินขึ้นหาระยะสูงเพื่อตรวจสอบผลการปฏิบัติงานในฐานะผู้อำนวยการโจมตี สำหรับคลื่นการโจมตีที่ชิมาซากินำมาด้วยนี้แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มเช่นกัน กลุ่มที่หนึ่งประกอบด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดและตอร์ปิโด นากาจิมา บี ๕-เอ็น คาเตะ บรรทุกระเบิด ๕๕๐ ปอนด์ และ ๑๒๐ ปอนด์ จำนวน ๕๔ ลำ กลุ่มที่สองประกอบด้วยเครื่องบินดำทิ้งระเบิดไอชิ ดี ๓-เอ วาล จำนวน ๘๑ เครื่อง โดยกลุ่มที่หนึ่งและกลุ่มที่สองมีหน้าที่จัดการกับโรงเก็บเครื่องบินและสนามบินให้สิ้นทราก ส่วนกลุ่มที่สามเป็นเครื่องบินขับไล่คุ้มกัน เอ ๖-เอ็ม จำนวน ๓๖ เครื่อง

                   เมื่อคลื่นการโจมตีระลอกที่สองเสร็จภารกิจ ฟูชิดะได้สั่งให้มัทสุซากิบินสำรวจเที่ยวสุดท้ายและบินกลับไปยังอกากิ และได้เข้าไปรายงานต่อนากูโมว่าเขาเห็นเรือเป้าจมแน่ ๆ ๔ ลำ เสียหายหนัก ๓ ลำ สนามบินและโรงเก็บเสียหายยับเยิน แต่อู่แห้งและคลังน้ำมันเสียหายบางส่วน และเขาเสนอให้เปิดการโจมตีระลอกที่สามเพื่อปัดกวาดสิ่งเหล่านี้เสีย เพราะขณะนี้ญี่ปุ่นครองอากาศเหนือฮาวายได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว แต่สิ่งที่นากูโมถามขึ้นมากลับกลายเป็นว่า ฟูชิดะคิดว่าเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกันอยู่ที่ไหน ซึ่งเขาเห็นว่าน่าจะออกไปซ้อมรบในน่านน้ำอเมริกันเพราะไม่เห็นเครื่องบินขับไล่ของกองทัพเรืออเมริกันเลย นากูโมขอบคุณเขาและสั่งให้กองเรือมุ่งหน้ากลับญี่ปุ่นทันทีเพราะภารกิจในการทำลายอ่าวเพิร์ลสำเร็จแล้วท่ามกลางความงุนงงของบรรดาเสนาธิการทั้งหลายรวมทั้งฟูชิดะด้วย

                   เมื่อรับประทานอาหารกลางวันเสร็จ ฟูชิดะเดินไปดูเครื่องบินของเขาและพบว่ามันถูกยิงเป็นรูขนาดเอากำปั้นยัดเข้าไปได้ถึง ๒๑ รู แต่ก็น่าแปลกที่ว่าลูกเรือทั้งสามนายไม่เป็นอะไรเลย แต่สิ่งที่น่าขนลุกดูเหมือนจะเป็นลวดโยงคันบังคับที่ถูกยิงแหว่งจากขนาดเกือบเท่านิ้วก้อยคงเหลือเท่าเส้นด้ายเท่านั้น เขารู้สึกเย็นวาบขึ้นมาทันที และเข้าใจความหมายของสัจธรรมที่ว่าชีวิตของคนเราแขวนอยู่บนเส้นด้ายอย่างชัดเจน ความเป็นและความตายของมนุษย์มีเส้นแบ่งเล็ก ๆ เพียงนิดเดียวเท่านั้น และแม้ปฏิบัติการของฟูชิดะทำให้เขากลายเป็นวีรบุรุษของชาติ และได้มีโอกาสถวายรายงานต่อองค์สมเด็จพระจักรพรรดิ์ด้วย แต่เขาก็ไม่เคยลืมบทเรียนที่ได้จากลวดโยงคันบังคับนั้นเลย

                   หลังจากโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์แล้ว กองเรือบรรทุกเครื่องบินที่หนึ่งได้รับคำสั่งให้ล่องใต้ไปตีหัวออสเตรเลียเป็นลำดับต่อไป โดยแผนปฏิบัติการนี้กำหนดในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๑๙๔๒ หรือหลังจากจัดการกับอเมริกาได้เพียงสองเดือนเศษเท่านั้น ตามแผนนั้นกองเรือบรรทุกเครื่องบินที่หนึ่งจะส่งเครื่องบินออกไปทิ้งระเบิดดาร์วินอันเป็นเมืองเอกของเขตปกครองเหนือ (Northern Territory) ของออสเตรเลีย รวม ๒ ระลอก และแน่นอน ผู้ชำนาญการอย่างฟูชิดะได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการโจมตีอีกครั้งหนึ่ง


USS Peary

                   เมื่อคลื่นการโจมตีระลอกแรก จำนวน ๑๘๘ ลำ ไปถึงเป้าหมาย ฟูชิดะและคณะถึงกับเหวอกับสภาพเป้าหมายที่เห็น มันต่างจากอ่าวเพิร์ลลิบลับ มีท่าจอดเรือเล็ก ๆ แห่งเดียว มีเรือพิฆาตอายุ ๒๑ ปี ของอเมริกันจอดอยู่หนึ่งลำ คือ เรือพิฆาตพีรี (USS Peary) เรือขนส่งของกองทัพบกอเมริกันหนึ่งลำ เรือลาดตระเวนเบามาวี (HMAS Marvie) ของกองทัพเรือออสเตรเลีย นอกนั้นเป็นเรือพาณิชย์  มีสนามบินเก่า ๆ และโรงเก็บเครื่องบินผุ ๆ พัง ๆ อยู่สองสามหลัง แม้จะมีปืน ปตอ.จำนวนมาก แต่ยิงแบบขอไปทีไม่ได้น่ากลัวเหมือนที่อ่าวเพิร์ล โดยที่สภาพเป้าหมายออกจะกันดารเช่นนี้ ความเสียหายจากการโจมตีจึงเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับอาวุธยุทธปัจจัยและเวลาที่ทุ่มเทลงไป และกองทัพเรือจึงได้ยุติแนวคิดที่จะยึดออสเตรเลียลงเพื่อนำยุทธปัจจัยไปทุ่มเทด้านอื่นต่อไป และได้มีคำสั่งให้กองเรือบรรทุกเครื่องบินที่หนึ่งไปอาละวาดที่มหาสมุทรอินเดียแทน

                                 


HMS Cornwall                     เหยื่อของฟูชิดะ                         HMS Dorsetshire


                   ในการโจมตีสถานีทหารเรือภาคตะวันออกของอังกฤษที่ศรีลังกาเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๑๙๔๒ ฟูชิดะได้รับคำสั่งให้นำลูกน้องออกไปโจมตีทิ้งระเบิดสถานีทหารเรือภาคตะวันออกของอังกฤษจนเรืออังกฤษจมไป ๒ ลำที่ท่าเรือ พร้อมเครื่องบินรบ ๒๗ ลำ หลังจากนั้น พวกเขาตามไปพบเรือคอนวอลและเรือดอว์เส็ตเชียร์ที่กลางทะเลห่างจากศรีลังกาไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ๒๐๐ ไมล์ นักบินนาวีภายใต้การบังคับบัญชาของฟูชิดะจึงช่วยกันจมเรือทั้งสองลำเสีย


แผนที่แสดงการปฏิบัติการที่ทะเลคอรัลจากรายงานของนายพลแม็คอาร์เธอร์

                   หลังจากอาละวาดในมหาสมุทรอินเดียอยู่ไม่นาน จักรพรรดิ์นาวีมีคำสั่งให้กองเรือบรรทุกเครื่องบินที่หนึ่งไปร่วมการยุทธ์ที่ทะเลคอรัลระหว่างวันที่ ๔-๘ พฤษภาคม ๑๙๔๒ ก่อนที่จะไปยึดมิดเวย์ในแปซิกฟิกในเดือนมิถุนายน แต่ระหว่างทางฟูชิดะมีอาการเครียดเนื่องจากต้องออกปฏิบัติการถี่ยิบและดับเครียดด้วยการดื่มสุรามากจนทำให้กระเพาะทะลุและมีอาการชาตามมือตามเท้าจึงต้องพักรักษาตัวและไม่สามารถเข้าร่วมการรบที่ทะเลคอรัลที่นักบินนาวีสามารถจมเรือบรรทุกเครื่องบินเล็กซิงตันได้ ขณะที่เรือบรรทุกเครื่องบินจอร์จทาวน์เสียหายอย่างหนัก ฟูชิดะรู้สึกผิดหวังที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการยุทธ์ครั้งนี้ทั้งที่ตัวเองเป็นผู้บังคับการการปฏิบัติการทางอากาศของกองเรือ จึงพยายามพักผ่อนเต็มที่หลังจากการผ่าตัดเพื่อให้สามารถเข้าร่วมการยุทธ์ที่มิดเวย์ได้ทัน


Curtiss SB2C Helldiver

                   แต่เช้าตรู่ของวันที่ ๔ มิถุนายน ๑๙๔๒ อันเป็นวันเริ่มปฏิบัติการนั้น ฟูชิดะเพิ่งตัดไหม เขาจึงทำได้แต่เพียงโบกมือให้กำลังใจเครื่องบินของกองเรือจำนวน ๑๐๘ ลำ บนสะพานเดินเรือก่อนออกบินไปถล่มมิดเวย์ตามแผนก่อนที่จะส่งทหารบกเข้ายึด แต่คราวนี้พวกอเมริกันไม่ยอมโดนตีข้างเดียว ในตอนสาย ๆ ประมาณ ๑๐.๒๐ นาฬิกา เรือบรรทุกเครื่องบินเอ็นเตอร์ไพร้ซ์ได้ส่งเฮลไดร์เวอร์ (Curtiss SB2C Helldiver) และดอนท์เลส (Douglass SBD Dauntless) มาแจกตอร์ปิโดและระเบิดกองเรือบรรทุกเครื่องบินที่หนึ่งเป็นการตอบแทนด้วย สำหรับเรือบรรทุกเครื่องบินอกากิที่ฟูชิดะอยู่บนสะพานเดินเรือด้วยนั้นแม้จะโดนระเบิดเพียงลูกเดียว แต่ก็ดันผ่าไปโดนตรงโรงเก็บเครื่องบินที่กำลังเติมน้ำมันและติดอาวุธอยู่พอดี ทำให้ระเบิดลูกเล็กกลายเป็นการระเบิดครั้งใหญ่ ฟูชิดะซึ่งอ่อนระโหยโรยแรงอยู่บนสะพานเดินเรือรีบลงบันไดมาเพื่อช่วยดับเพลิงนรกที่กำลังลุกโหมอย่างรุนแรง แต่อาการป่วยของเขาทำให้ฟูชิดะหน้ามืดจนร่วงลงมาจากบันไดตกลงมาจนขาหักทั้งสองข้างและถูกนำส่งโรงพยาบาล และจักรพรรดิ์นาวีก็มิได้ส่งเขาออกแนวหน้าอีกตลอดสงคราม โดยให้ปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายเสนาธิการแทน


Douglass SBD Dauntless

                        ในวันที่ ๕ สิงหาคม ๑๙๔๕ ขณะที่ฟูชิดะและคณะเสนาธิการกองทัพเรือกำลังประชุมร่วมกับคณะเสนาธิการทหารบกอยู่เกี่ยวกับสงครามที่เข้าใกล้แผ่นดินญี่ปุ่นเข้ามาทุกที แต่เขาได้รับคำสั่งด่วนให้เดินทางกลับกองบัญชาการกองทัพเรือโตเกียว เขาจึงเดินทางกลับทันทีในวันนั้น ก่อนที่อีโนล่าเกย์จะหย่อนลิตเติลบอยลงสู่ฮิโรชิมาในวันรุ่งขึ้น

                   หลังสงคราม ฟูชิดะซึ่งรับรู้สัจธรรมแห่งชีวิตอย่างมากมายระหว่างสงครามได้บวชเป็นพระในคริสตศาสนา และเข้าร่วมกองทัพธรรมกับบรรดานักบินทุกชาติระหว่างสงครามที่บวชเป็นพระในคริสตศาสนาเพื่อเผยแผ่พระธรรมตามหลักคำสอนของคริสตศาสนาไปทั่วสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นทั่วโลก


                   เจ้าของคำพูด โทรา-โทรา-โทรา ที่ก้องโลกผู้นี้เสียชีวิตอย่างสงบด้วยโรคเบาหวานในเมืองคาชิวาระใกล้ ๆ กับโอซากา เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๑๙๗๖ เมื่อมีอายุ ๗๔ ปี และหากผู้ใดเคยชมภาพยนต์เรื่อง โทรา-โทรา-โทรา ในปี ๑๙๗๐ ผู้แสดงเป็นฟูชิดะในภาพยนต์เรื่องนั้นชื่อ ทากาฮิโร ทามูระ