วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

ซามูไรแห่งฟากฟ้า: ซาบูโร ซาไก



ปกรณ์ นิลประพันธ์

 


           เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 1916 (2459) ภรรยาของชาวนาในตระกูลซาไกผู้ขยันขันแข็งคนหนึ่งในหมู่บ้านเล็ก ๆ ในตำบลนิชิโยกะ จังหวัดซากะ (จังหวัดนี้อยู่ติดกับจังหวัดนางาซากิและจังหวัดฟูกูโอกะ) ทางตอนเหนือของเกาะกิวชิว เกาะใต้สุดของญี่ปุ่น ได้ให้กำเนิดบุตรชายอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นบุตรชายคนที่ 4 ของครอบครัว บิดาได้ตั้งชื่อบุตรชายผู้นี้ว่า ซาบูโร่ (三郎)
 
          บิดาของซาบูโร่นั้นสืบเชื้อสายมาจากตระกูลซามูไร เขาจึงอบรมสั่งสอนบุตรชายทั้งสี่ให้ยึดมั่นและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในหลักบูชิโด (武士道) ของนักสู้ซามูไรที่ต้องซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อเจ้านายโดยไม่เปลี่ยนแปลง ห้าวหาญและทำตามคำสั่งของเจ้านายโดยไม่ปริปากบ่นไม่ว่าจะลำบากยากเข็นเพียงใด และต้องพร้อมยอมพลีชีวิตเพื่อเจ้านายโดยไม่ลังเล ซึ่งซาบูโร่ได้ถือปฏิบัติตามหลักบูชิโดอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด และนี่เองทำให้เขาได้ฉายาจากนักบินรบข้าศึกที่ภายหลังกลับมาเป็นมิตรกันว่า เจ้าซามูไร
 
          เมื่อบิดาผู้ขันแข็งเสียชีวิตลงในปี 1927 (2470) ครอบครัวซาไกก็ประสบกับความยากลำบาก มารดาของเขาต้องดูแลลูก ๆ ซึ่งอยู่ในวัยกำลังกินกำลังนอนถึง 7 ชีวิต ขณะที่มีที่นาทำกินเพียง 2 ไร่ครึ่งเท่านั้น ลุงของเขาซึ่งทำงานในกระทรวงการสื่อสารจึงได้ยื่นมือมาช่วยเหลือโดยขอรับเด็กชายซาบูโร่ซึ่งเรียนเก่งที่สุดในบ้านและในตำบลไปเป็นบุตรบุญธรรมและส่งเสียให้เรียนต่อ ซาบูโร่ต้องย้ายไปอยู่บ้านลุงที่โตเกียวและต้องย้ายไปเรียนที่นั่น เด็กชายซาบูโร่จึงกลายเป็นความหวังของครอบครัวซาไกและชาวตำบลนิชิโยกะไปโดยปริยาย


          อย่างไรก็ตาม คุณภาพของโรงเรียนในโตเกียวกับโรงเรียนบ้านนอกของญี่ปุ่นในสมัยนั้นแตกต่างกันมากเกินไป เด็กเรียนเก่งจากบ้านนอกอย่างซาบูโร่จึงตามการเรียนการสอนที่เข้มงวดและมีการแข่งขันสูงในโรงเรียนใหม่ไม่ทันแม้จะมุมานะเท่าใดก็ตาม ประกอบกับเขาเป็นเด็กบ้านนอกที่มีฐานะยากจน จึงยิ่งทำให้เขาเข้ากับเพื่อนไม่ได้ และกลายเป็นแกะดำของห้องเรียนในเวลาไม่นาน เมื่อถูกกดดันมากเข้า ซาบูโร่จึงกลายเป็นเด็กมีปัญหาและมีเรื่องชกต่อยกับเพื่อนเป็นประจำแม้เขาจะตัวเล็กนิดเดียว จนเป็นที่เอือมระอาของครูอาจารย์ในโรงเรียนและถูกไล่ออกในที่สุด ลุงผู้หวังดีของเขาจึงต้องส่งตัวซาบูโร่กลับบ้านนอกทันทีเพื่อไม่ให้เขาเสียคนไปมากกว่านี้
 
          เมื่อกลับมาถึงนิชิโยกะ สถานการณ์กลับบีบคั้นเขามากกว่าเดิมเพราะทุกคนในบ้านและในตำบลคาดหวังความสำเร็จจากซาบูโร่สูงมาก แต่เมื่อปรากฏว่าเขาต้องกลับบ้านเพราะเกเรจนถูกไล่ออกจากโรงเรียน ซาบูโร่กลับกลายเป็นบุคคลที่สังคมรังเกียจ ซาบูโร่รู้สึกได้ทันทีว่าเขาคงไม่สามารถอยู่ในหมู่บ้านได้อีกต่อไปและคงต้องหนีไปอยู่ให้ไกล ๆ เขาจึงตัดสินใจสมัครเข้าเป็นทหารเรือที่ฐานทัพเรือซาเซโบในนางาซากิเมื่อปี 1933 (2476) ขณะที่มีอายุ 16 ปี ซึ่งฐานทัพเรือแห่งนี้เป็นที่ตั้งของกองเรือภาคที่ 3 ของจักรพรรดินาวีมาตั้งแต่ปี 1889 (2432) และอยู่ห่างจากนิชิโยกะประมาณ 90 กิโลเมตร ซึ่งนับว่าไกลมากในสมัยที่การคมนาคมยังไม่เจริญเช่นในปัจจุบัน




เรือประจัญบานคิริชิมา

          หลังจากฝึกลักษณะทหารอย่างเข้มงวดและรุนแรงตามแบบญี่ปุ่นอยู่ที่ซาเซโบได้ 6 เดือน จักรพรรดินาวีได้บรรจุพลทหารซาบูโร่เป็นพลปืนประจำเรือประจัญบานคิริชิมา ขนาด 32,156 ตัน ซึ่งประจำการมาตั้งแต่ปี 1915 (2458) ต่อมา ในปี 1935 (2478) ซาบูโร่สอบเข้าเรียนในโรงเรียนปืนใหญ่ทหารเรือได้ และเมื่อจบการศึกษา จักรพรรดินาวีได้เลื่อนยศซาบูโร่เป็นจ่าตรีและส่งเขาไปเป็นพลปืนประจำเรือประจัญบานฮารูนะ ขนาด 32,000 ตัน ซึ่งประจำการมาในปีเดียวกันกับเรือประจัญบานคิริชิมา และติดปืนใหญ่ขนาด 16 นิ้ว ซึ่งนับว่าใหญ่มากในเวลานั้น รองลงมาจากปืนเรือขนาด 18 นิ้วของเรือยามาโต้

 เรือประจัญบานฮารูนะ

          หลังจากทำงานยิงปืนใหญ่ 16 นิ้วได้ 2 ปี ในปี 1936 (2479) จักรพรรดินาวีได้ประกาศสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาในโรงเรียนการบินนาวี ที่ซูชิอูระ จังหวัดอิบารากิเพื่อปฏิบัติหน้าที่นักบินนาวีเมื่อสำเร็จการศึกษา การสอบคัดเลือกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่หนึ่ง นายทหารชั้นสัญญาบัตรที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ ที่อิตาจิม่า กลุ่มที่สอง นายทหารชั้นประทวนประจำเรือ และกลุ่มที่สาม ผู้จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา  ซาบูโร่ไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมการสอบแข่งขันในกลุ่มที่สองด้วยเพราะการเป็นนักบินนาวีในสมัยนั้นเป็นอาชีพที่มีเกียรติอย่างมาก จึงเป็นโอกาสที่เขาจะกู้ชื่อเสียงที่เคยด่างพร้อยเมื่อถูกไล่ออกจากโรงเรียนได้ กลุ่มที่สองนี้มีผู้สมัครถึง 1,500 คน แต่ผ่านการทดสอบเพียง 70 คนเท่านั้น ซึ่งซาบูโร่เป็นผู้หนึ่งที่ผ่านการทดสอบด้วย เมื่อเขาจดหมายแจ้งให้แม่ทราบข่าว ซาบูโร่ได้กลับกลายเป็นฮีโร่ของครอบครัวและตำบลนิชิโยกะอีกครั้งหนึ่ง ปมด้อยของเขาถูกลบล้างไปแล้ว


          เมื่อสำเร็จเป็นนักบินในปี 1937 (2480) เขาได้รับพระราชทานนาฬิกาพกเรือนเงินจากสมเด็จพระจักรพรรดิเนื่องจากจบการศึกษาด้วยคะแนนสูงสุด หลังจากนั้น จักรพรรดินาวีมีคำสั่งให้ซาบูโร่ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ฝูงบินที่ 12 กองบินนาวีประจำเกาะฟอร์โมซา (ไต้หวัน) ซึ่งอยู่ในความยึดครองของญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 1895 (2428) โดยมีฐานปฏิบัติการอยู่ที่เกาสง เมืองท่าทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะฟอร์โมซา เมื่อเกิดสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในปี 1938 (2481) จักรพรรดินาวีได้มีคำสั่งให้กองบินนาวีประจำการด้วยมิตซูบิชิ A5M ไปปฏิบัติหน้าที่ครองอากาศในการยึดพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน

นักบินกองบินนาวีประจำเกาะฟอร์โมซา
ซาบูโร่ ซาไก แถวกลางคนที่สองจากซ้ายมือ

          ซาบูโร่ได้ทำการรบทางอากาศเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 1938 หลังจากที่ขบวนบินของเขาถูกโจมตีโดยฝูงบินโปลิคาป๊อฟ I-16s ขับโดยนักบินจีน การปะทะครั้งนั้นไม่น่าจดจำเท่าใดนักสำหรับซาบูโร่ เพราะระบบการสื่อสารสับสนทำให้เขาแตกฝูงไปโจมตีข้าศึกคนเดียว แม้เขาจะยิงเจ้าลาน้อยไฟไหม้ไปหนึ่งลำ แต่ตัวเขาเองก็เกือบถูกยิงตก ซาบูโร่จึงถูกผู้บังคับฝูงตำหนิอย่างหนักเพราะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งระหว่างการรบ

 มิตซูบิชิ A5M

          ในปี 1939 (2482) ซาบูโร่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ไม่ใช่เพราะการรบทางอากาศ หากแต่เกิดจากการที่กองทัพอากาศจีนส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดฐานบินของเขาจนได้รับความเสียหายยับเยิน ซาบูโร่จึงถูกส่งตัวกลับไปพักฟื้นที่บ้าน หลังจากหายดีจึงกลับไปประจำที่ฟอร์โมซาเช่นเดิม ต้นปี 1941 (2484) เขาได้รับการเลื่อนยศเป็นจ่าเอกและกองบินนาวีจากฟอร์โมซาได้รับ มิตซูบิชิ A6M2 “ซีโร่ เข้าประจำการแทน มิตซูบิชิ A5M และในปลายปี 1941 นี้เอง ซาบูโร่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในหน้าแรก ๆ ของสงครามในแปซิกฟิกด้วย โดยก่อนที่กองเรือแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิจะเข้าโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ในวันที่ 7 ธันวาคม 1941 นั้น กองบินนาวีจากฟอร์โมซาได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อมในการบินไป-กลับฟอร์โมซา-ฟิลิปปินส์ ระยะทาง 1,200 ไมล์ เพื่อปฏิบัติการโจมตีฐานทัพอากาศคล๊ากในฟิลิปปินส์


มิตซูบิชิ A6M2 “ซีโร่

          หลังจากที่กองเรือหลักจัดการเพิร์ลฮาร์เบอร์ได้แล้ว จักรพรรดินาวีได้มีคำสั่งให้กองบินนาวีจากฟอร์โมซาปฏิบัติการโจมตีฐานทัพอากาศคล๊ากในวันที่ 8 ธันวาคม ผู้บัญชาการกองบินได้จัดให้ซีโร่ 45 ลำ ให้การคุ้มกันฝูงบินทิ้งระเบิด มิตซูบิชิ G4M3 เบ็ตตี้ ในการปฏิบัติการดังกล่าว โดยซาบูโร่ได้เข้าร่วมปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย และสามารถยิง Curtis P-40 ตกหนึ่งเครื่อง และยิง B-17 บนพื้นได้อีก 2 เครื่อง ต่อมาอีก 2 วัน เขายิง North American B-17 ซึ่งบินโดยร้อยเอกโคลิน พี เคลลี่ จูเนียร์ ตกอีกหนึ่งเครื่อง ซึ่งถือว่าเป็น B-17 เครื่องแรกที่ถูกยิงตกในสงครามมหาเอเชียบูรพา
 
          ต้นปี 1942 (2485) จักรพรรดินาวีได้มีคำสั่งให้ซาบูโร่ย้ายไปประจำกองบินนาวีที่ทาราคานในบอร์เนียวเพื่อครองน่านฟ้าอินโดนีเซีย เขายิงเครื่องบินข้าศึกตกอีก 11 เครื่อง ก่อนที่จะป่วยเป็นไข้ป่าจนต้องงดบินชั่วคราวเป็นเวลา 3 เดือน เมื่อหายดีแล้ว เขาได้รับคำสั่งในเดือนเมษายนให้ไปประจำกองบินนาวีที่เลย์ (Lae) ในนิวกีนีภายใต้การบังคับบัญชาของเรือโท จุนนิชิ ซาซาอิ สนามบินที่เลย์นี้ญี่ปุ่นสร้างแอบอยู่ในป่าและห่างจากสนามบินของพันธมิตรเพียง 180 ไมล์เท่านั้น สภาพมันย่ำแย่ที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมาเลยทีเดียว ซาบูโร่เล่าถึงสนามบินชั่วคราวแห่งนี้

       
              ในวันที่ 11 เมษายน เรือโท ซาซาอิ นำหมู่บินออกลาดตระเวนทะเลคอรัลตามปกติ แต่เที่ยวกลับขณะบินผ่านพอร์ท มอส์บี้ (Port Moresby) เมืองหลวงของนิวกีนีซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะ ห่างจากเลย์ประมาณ 300 ไมล์ นั้น ฝูงบินนาวีญี่ปุ่นสังเกตเห็นฝูงบิน P-39 แอร์คอบราของอเมริกัน 4 ลำอยู่ใกล้ ๆ จึงโฉบเข้าไปโจมตีโดยที่เหยื่อทั้ง 4 ราย ไม่ทันระวังตัว ซาบูโร่จัดการแอร์คอบราลงได้ 2 ลำ ส่วนฮิโรโยชิ นิชิซาว่า เสืออากาศหมายเลขหนึ่งของจักรพรรดินาวี กับโตชิโอะ โอตะ เสืออากาศอีกคนหนึ่งของจักรพรรดินาวีจัดการได้คนละลำด้วยการเข้าโจมตีเพียงครั้งเดียว จากผลงานอันยอดเยี่ยมนี้ ผู้บังคับฝูงจึงมักจัดนิชิซาว่า โอตะ และซาบูโร่ออกปฏิบัติการร่วมกันเสมอและสร้างผลงานอันโดดเด่นอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 23 เมษายน นิชิซาว่า โอตะ และซาบูโร่ กับซีโร่อีก 5 ลำ ออกปฏิบัติการลาดตระเวณตามปกติ ได้พบกับฝูง P-39 และ P-40 รวม 13 ลำ ที่ความสูง 18,000 ฟิต เหนือพอร์ท มอส์บี้  ซาบูโร่ นิชิซาว่า และโอตะพาพวกที่น้อยกว่าเข้าห้ำหั่นกับฝูงบินอเมริกันอย่างห้าวหาญ และส่งเครื่องบินอเมริกันไปกองอยู่บนพื้นดินได้ 8 ลำ โดยซาบูโร่เพิ่มสถิติให้ตัวเองได้ 2 เครื่องในการโจมตีครั้งนั้น ความสามารถของซาบูโร่ นิชิซาว่า และโอตะ ทำให้เพื่อน ๆ ถึงกับให้ขนานนามพวกเขาว่า สามภารโรง

                         
        รุ่งสางของวันที่ 15 พฤษภาคม สนามบินเลย์ที่เละเทะอยู่แล้วกลับเละเทะหนักกว่าเดิมเพราะพันธมิตรเพิ่งส่ง B-25 มิตเชล มาทิ้งระเบิด ขณะนั้นสามภารโรงอยู่ในห้องวิทยุและกำลังฟังเพลงจากสถานีวิทยุออสเตรเลียฆ่าเวลา นิชิซาว่าเกิดอารมณ์สุนทรีย์ขึ้นมาและเสนอไอเดียให้คู่หูทั้งสองฟังว่า ในการออกปฏิบัติการโจมตีพอร์ท มอส์บี้ เป็นการเอาคืนในวันมะรืนนี้ สามภารโรงควรบินผาดแผลงเหนือสนามบินของข้าศึกด้วย แต่ต้องปิดไม่ให้เรือโท ซาซาอิ ผู้เคร่งครัดรู้ หาไม่แล้วอาจถูกลงโทษได้  ดังนั้น หลังจากจบภารกิจโจมตีพอร์ท มอส์บี้ ในวันที่ 17 ซึ่งซาบูโร่จัดการแอร์คอบราลงได้ 2 ลำ และแน่ใจว่าไม่มีเครื่องบินข้าศึกอยู่ในพื้นที่แล้ว ทีมสามภารโรงได้ เปิดการแสดง การบินวงกลมตั้งชิดกันเหนือสนามบินข้าศึก 3 วงซ้อน หลังจบรอบแรก สามภารโรงยังมันส์ในอารมณ์อยู่จึงแถมให้ข้าศึกชมอีก 3 รอบ แล้วจึงบินกลับเลย์เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ต่อมาตอนสามทุ่มคืนนั้นเอง นักบินอเมริกันคนหนึ่งลงทุนบินฝ่าความมืดและฝูงบินซีโร่มาทิ้ง สาร ที่สนามบินเลย์ แสดงความขอบคุณและยกย่อง นักบินสามคนที่ผูกผ้าพันคอสีเขียว ที่ไป แสดงการบินผาดแผลงอันยอดเยี่ยมและสวยงาม ให้พวกเขาชม และหากเป็นไปได้ จะขอความอนุเคราะห์อีกสักรอบหนึ่งในวันพรุ่งนี้ เรือโท ซาซาอิ จึงเรียกตัวสามภารโรงไป อบรม เป็นการด่วนและห้ามไม่ให้พวกเขาทำเรื่อง ห่าม ๆ แบบนี้อีก

   
                          Bell P-39 Air Cobra                                  

          ต้นเดือนสิงหาคม 1942 กองบินนาวีจากฟอร์โมซาได้รับคำสั่งให้ย้ายไปประจำสนามบินสนามที่ราบวล (Rabaul) บนเกาะนิว บริเทน (New Britain) ทางตะวันออกของนิวกีนี และเป็นช่วงที่กองพลนาวิกโยธินที่ 7 ของสหรัฐฯยกพลขึ้นบกเพื่อรุกโต้ตอบที่เกาะกัวดาลคะแนล (Guadalcanal) และเกาะทูลากิ (Tulagi) ทางตอนใต้ของหมู่เกาะโซโลมอน ซาบูโร่และเหล่านักบินของกองบินนาวีจากฟอร์โมซาต้องบินจากราบวลไกลถึง 550 ไมล์เพื่อไปสกัดกั้นการโจมตีทางอากาศของฝูงบินนาวีอเมริกันที่ขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องบินมาสนับสนุนการรุกโต้ตอบของบรรดาคอหนัง แต่ระยะทาง 550 ไมล์นั้นถือว่าไกลเกินกว่าระยะทำการปกติในการปฏิบัติการของซีโร่

                                      Grumman F4 Wildcat                              

          ที่นี่ซาบูโร่พบว่านักบินนาวีอเมริกันมีความสามารถทางการบินสูงและห้าวกว่านักบินทหารบกอเมริกันที่เขาเคยประมือด้วยเป็นอย่างมาก ทั้งเครื่องบินก็ดูจะมีสมรรถนะดีกว่า และการรบที่กัวดาลคะแนลในวันที่ 8 สิงหาคม 1942 นี่เองที่ทำให้นักบินอเมริกันมอบสมญานามให้เขา โดยในวันนั้นเขากับเพื่อนอีก 17 คน ได้รับคำสั่งให้ไปโจมตีกัวดาลคะแนล และในยุทธบริเวณเขาจัดการ Grumman F4F Wildcat ได้แล้ว 2 ลำก่อนไปดวลกับ Grumman F4F Wildcat ของเรือโท เจมส์ ซุทเทอร์แลนด์ (James J Southerland) จากเรือบรรทุกเครื่องบินซาราโตกา (USS Saratoga) เป็นลำที่สาม หลังจากขับเคี่ยวกันได้พักใหญ่ เขาก็พลาดถูกซุทเทอร์แลนด์ยิงจนเลือดออกท่วมชุดบิน เขาคิดจะบินกลับฐาน แต่เมื่อเห็นนักบินอเมริกันหน้ากลม ๆ ซึ่งแก่กว่าเขาสัก 8 ปีผู้นั้นยิ้มให้ขณะบินสวนกัน ซาบูโร่จึงคิดจะเอาคืนบ้าง เขาเลี้ยววงแคบตามแมวป่าลำนั้นไปติด ๆ แล้วยิงไปชุดหนึ่งถูกจนไฟไหม้ เมื่อมองเห็นซุทเทอร์แลนด์กระโดดร่มหนีออกมาได้เขารู้สึกโล่งอกที่นักบินฝีมือดีผู้นี้ยังมีชีวิตอยู่ เขาจึงเลี้ยวกลับไปจั่วกับ SDB-3 Dauntless บินโดยเรือโท ดัดลีย์ อดัมส์ จากเรือบรรทุกเครื่องบินวอฟส์ (USS Wasp) จนตกไปอีกหนึ่งลำ แล้วจึงพาซีโร่คู่ชีพที่มีน้ำมันเหลืออยู่น้อยเต็มทีรวมทั้งลูกฝูงที่เหลือกลับฐานบินที่ราบวล  จากฝีมือบินฉกาจฉกรรจ์นี้เองทำให้นักบินนาวีอเมริกันเรียกนักบินซีโร่เครื่องนี้ว่าเจ้า ซามูไร


          ขากลับนี้เอง ซาบูโร่กับฝูงบินญี่ปุ่นที่เหลือต้องเผชิญหน้ากับฝูง SDB จากเรือบรรทุกเครื่องบินเอ็นเทอร์ไพรซ์ (USS Enterprise) แทนที่จะหนีเพราะเหนื่อยล้าจากการบินทางไกล ความเคร่งเครียดในการต่อสู้ที่เพิ่งผ่านมา น้ำมันก็ใกล้จะหมดและอาวุธก็เหลือน้อย นักบินนาวีผู้ห้าวหาญแห่งกองทัพเรือสมเด็จพระจักรพรรดิกลับบ่ายหน้าเข้าหาฝูงบิน SDB นั้นโดยไม่รอช้า ซาบูโร่ยิง SDB ตกไป 3 ลำ แต่เมื่อตามลำที่สี่ไป พลปืนหลังของ SDB ลำนั้น และลำอื่นที่อยู่ในขบวนบินได้ต้อนรับเขาอย่างดุเดือดด้วยปืนหลังขนาด .30 คาลิเบอร์ 16 กระบอก เครื่องบินของเขาถูกกระสุนปืนจนปรุและนัดหนึ่งโดนเขาที่หัวจนทำให้เขาช๊อคไปชั่วขณะและตาพร่าเลือนจนมองอะไรแทบไม่เห็น ซาบูโร่จึงดึงเครื่องออกจากสมรภูมิทันทีและบินกลับฐานด้วยสภาพที่โชกเลือดและกับตาซ้ายที่มองเห็นเพียงข้างเดียว และเขาต้องนำผ้าพันคอมาพันแผลเพื่อห้ามเลือดขณะบินกลับฐาน

                                                     สภาพที่ดูไม่จืดของซาไก

           ซาบูโร่ใช้เวลาบินกลับราบวลนานถึง 4 ชั่วโมง 47 นาที เมื่อช่างเครื่องไปถึงก็พบว่าเครื่องบินเป็นรูพรุนราวกับคนออกหัดและน้ำมันหมดเกลี้ยงถัง ส่วนนักบินสลบอยู่ในห้องนักบินโดยมีบาดแผลฉกรรจ์ที่ศีรษะ อก ขา และแขน จนต้องหามลงจากเครื่องบิน และถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลทหารเรือทันที เมื่อหมอเห็นสภาพของเขาในครั้งแรกก็วินิจฉัยเบื้องต้นว่าเขาคงไม่มีทางกลับมาบินได้อีกแน่นอน ซาบูโร่ถูกนำไปผ่าตัดทันที หลังจากการผ่าตัดเขาถูกส่งตัวกลับญี่ปุ่นเพื่อพักฟื้น คณะสามภารโรงอันโด่งดังมาตั้งแต่เลย์จึงสลายตัวลงโดยปริยายนับแต่นั้นมา

          เมื่อกลับมาญี่ปุ่น ซาบูโร่ผู้เข้มแข็งใช้เวลาเพียง 5 เดือน ในการฟื้นฟูสมรรถภาพจนหายดีจนทำให้บรรดาหมอที่เคยฟันธงว่าเขาคงไม่มีทางกลับมาบินได้อีกแน่นอนต้องหน้าแตกไปตาม ๆ กัน เมื่อเขากลับไปรายงานตัวเข้าปฏิบัติหน้าที่ตอนต้นปี 1943 (2486) จักรพรรดินาวีได้ส่งตัวเขาไปเป็นครูฝึกนักบินใหม่ที่โรงเรียนการบินเป็นเวลา 1 ปี และในเดือนเมษายน 1944 (2487) จักรพรรดินาวีจึงมีคำสั่งให้เขาไปประจำกองบินโยโกซูกะเพื่อปฏิบัติการในอิโวจิมาในช่วงท้ายของสงคราม แต่ปัญหาทางสายตาทำให้เขาไม่สามารถล่าเหยื่อได้เหมือนอย่างเคย ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าเขากลายเป็นเสือสิ้นลายโดยสิ้นเชิง โดยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน เจ้าซามูไรได้แสดงให้เห็นฝีมือการบินชั้นครูให้นักบินนาวีอเมริกันชมอีกครั้งเมื่อเขาสามารถนำซีโร่คู่ชีพหลุดรอดจากการรุมกินโต๊ะของอุปกรณ์ใหม่ล่าสุดของอเมริกัน F6F Hellcat จำนวน 15 ลำ ได้โดยข้าศึกไม่สามารถฝากรอยกระสุนปืนไว้ที่เครื่องบินของเขาได้แม้แต่รูเดียวทั้งที่ถูกรุมอยู่นานถึง 20 นาที 

          ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามในวันที่ 15 สิงหาคม 1945 (2488) แต่สงครามเวหาของซาบูโร่กลับยุติลงหลังจากนั้น 2 วัน โดยเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม เวลาประมาณ 11.30 น. กองบินของเขาได้รับสัญญาณเตือนการรุกรานทางอากาศ เขาได้รับคำสั่งให้บินขึ้นเพื่อป้องกันตัวเอง ซาบูโร่ยิง Convair B-32 Dominator ตกเป็นลำสุดท้ายเหนืออ่าวโตเกียว แต่การโจมตีของเขาในครั้งนี้ไม่ถือเป็นการผิดกฎสงครามเนื่องจากการอเมริกันมิได้แจ้งก่อนว่าจะส่ง เครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดหนัก ฝูงนั้นมาปฏิบัติหน้าที่ ลาดตระเวน


  Convair B-32 Dominator

          ในระหว่างสงคราม ซาบูโร่ ซาไก ทำสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตก 64 เครื่อง ในการออกปฏิบัติการกว่า 200 เที่ยวบิน เขาเป็นเพชฌฆาตตัวจริงรองลงมาจากเพื่อสนิทของเขาฮิโรโยชิ นิชิซาว่า และโตชิโอะ โอตะ แต่นับจากวันที่เขาลงจากซีโร่ประจำตัวในวันที่ 17 สิงหาคม 1945 แล้ว ยอดเพชฌฆาตผู้นี้กลับกลายพุทธศาสนิกชนที่ไม่เคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิตใด ๆ อีกเลยแม้กระทั่งยุง เขาได้รับเชิญให้เดินทางไปสหรัฐฯหลายครั้งเพื่อพบปะกับนักบินอเมริกันซึ่งครั้งหนึ่งเคยขับเคี่ยวกันมาอย่างโชกโชน และกลายมาเป็นเพื่อกันในท้ายที่สุด
  
          เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2000 (2543) ซาบูโร่ ซาไก ที่มีอายุ 84 ปี ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่เพื่อนทหารอเมริกันจัดขึ้นที่ฐานทัพในอัตซูกิ หลังจากดื่มหนัก เขาถูกนำส่งโรงพยาบาล เมื่อพบแพทย์ ซาบูโร่ถามแพทย์ว่าจะให้เขานอนได้หรือยัง เมื่อแพทย์อนุญาต เขาจึงหลับตาลงและหลับใหลไปตลอดกาล......




นางฟ้าเจ้าเวหา (The Flying Angles)

นางฟ้าเจ้าเวหา (The Flying Angles)


Heroes of the Soviet Union

                ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง สตรีมีบทบาทสำคัญในกระบวนการผลิตอาวุธยุทธโทปกรณ์และเสบียงอาหารเพื่อสนับสนุนบุรุษซึ่งทำหน้าที่ต่อสู้กับข้าศึกในแนวหน้า แต่สตรีกลุ่มหนึ่งกลับมีบทบาทในการต่อสู้กับข้าศึกในแนวหน้าเคียงบ่าเคียงไหล่กับบุรุษ ทั้งยังสร้างวีรกรรมที่ห้าวหาญจนเป็นที่เลื่องลือและยกย่องเชิดชูไม่แพ้บุรุษ แม้กระทั่งข้าศึกของเธอเหล่านั้นก็ให้เกียรติยกย่องว่าเป็นวีรสตรีแห่งสนามรบทีเดียว
                สำหรับการรบทางอากาศ กลุ่มวีรสตรีที่โด่งดังมากที่สุดเห็นจะไม่มีใครเกินหน่วยบินพิเศษ ที่ 122 แห่งโวเอนโน วอสดุซนี ซิลลี่ (VVS) หรือกองทัพอากาศรัสเซีย ที่ประกอบด้วยกองบินขับไล่ที่ 586 (586 IAP) กองบินทิ้งระเบิดทางยุทธวิธีที่ 587 (587 BAP) และกองบินทิ้งระเบิดกลางคืนที่ 588 (588 NBAP)
                จากการที่รัสเซียถูกรุกรานโดยกองทัพเยอรมันอันเกรียงไกรตามแผนยุทธการบาบารอสซ่าในเดือนมิถุนายน 1941 นั้นเป็นผลให้กองทัพแดงและกองทัพอากาศรัสเซียประสบความสูญเสียอย่างย่อยยับ  ชตาฟก้า (Stavka) หรือกองบัญชาการทหารสูงสุดรัสเซียเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสร้างกำลังรบเพื่อทดแทนกำลังรบหลักที่สูญเสียไปรวมทั้งเพื่อสร้างกำลังสำรองขึ้นใหม่ จึงได้อนุมัติให้จัดตั้งหน่วยบินพิเศษ ที่ 122 ขึ้น ในเดือนตุลาคม 1941 เพื่อให้สตรีผู้รักชาติและประสงค์จะร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับบุรุษในแนวหน้าในการทวงดินแดนคืนเข้ามาเป็นทหาร และเพื่อป้องกันบรรดาปัญหาทั้งปวงจึงกำหนดให้กำลังพลของกองบินนี้กอรปด้วยสตรีล้วน และผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นมารดาแห่งกองบินสตรีผู้กล้าหาญนี้ได้แก่ มาริน่า ราสโคว่า สตรีผู้เชี่ยวชาญการเล่นเปียโนและการบินที่จบการศึกษาทางดนตรีจากวิทยาลัยการดนตรีพุชกิ้น!!!



มาริน่า ราสโคว่า

                มาริน่าเป็นสตรีที่มีความสามารถรอบด้าน นอกจากการดนตรีแล้ว เธอยังจบการศึกษาทางด้านเคมีด้วย ทั้งยังสามารถพูดอ่านเขียนภาษาฝรั่งเศสและอิตาเลียนได้อย่างเชี่ยวชาญ โดยหลังจากจบการศึกษาทางเคมีแล้ว มาริน่าได้เข้าทำงานเป็นนักเคมีประจำสถาบันวิศวกรรมอากาศยานชูคอฟสกี้ และการทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องบินนี้เองที่ผลักดันให้มาริน่าหลงใหลการบินอย่างหัวปักหัวปำจนต้องไปสมัครเรียนการบินและได้รับใบอนุญาตผู้ทำการในอากาศในฐานะนักบินในปี 1935 หลังจากนั้นอีกสองปี มาริน่ากับวาเลนติน่า กริโซดูโบว่า เพื่อสนิทของเธอ ร่วมกันบินยัค 12 ระยะทาง 1,445 กิโลเมตร โดยไม่หยุดพัก ซึ่งเป็นสถิติโลกสำหรับสตรีในเวลานั้น ต่อมาในปี 1938 มาริน่ากับเพื่อสนิทอีกสองคนได้สร้างสถิติการบินจากมอสโคว์ไปชายฝั่งแปซิกฟิก ระยะทาง 6,450 กิโลเมตร ซึ่งเป็นสถิติโลกสำหรับสตรีขึ้นอีกสถิติหนึ่ง โดยคราวนี้บินกับแอนโตนอฟ 37 และความเก่งกาจนี้เองที่ทำให้เธอได้รับเหรียญโกลด์สตาร์ในฐานะวีรสตรีแห่งชาติ (Hero of the Soviet Union)


มาริน่า (คนกลาง) กับเพื่อนและแอนโตนอฟ 37 หลังสร้างสถิติโลก

                ในฐานะสตรีผู้รักชาติและการบิน เมื่อรัสเซียถูกเยอรมันโจมตีและกำลังทางอากาศที่มีอยู่ถูกทำลายเสียหาญอย่างมาก มาริน่าซึ่งขณะนั้นเป็นหนึ่งในคณะกรมการป้องกันประเทศจึงไม่รอช้าที่เสนอแนวคิดในการจัดตั้งกองบินสตรีต่อโจเซฟ สตาลิน เพราะก่อนหน้าสงครามจะเกิดขึ้นนั้นสตรีรัสเซียจำนวนมากได้รับการฝึกบินจากสมาคมการบินต่าง ๆ และได้รับใบอนุญาตผู้ทำการในอากาศในฐานะนักบิน และประเทศจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ เมื่อสตาลินเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ชตาฟก้าจึงอนุมติให้จัดตั้งหน่วยบินพิเศษ ที่ 122 ขึ้นในที่สุด
                หน่วยบินพิเศษ ที่ 122 มีฐานปฏิบัติการที่เมืองแองเจิ้ล (Engels) เมืองเล็ก ๆ ริมฝั่งแม่น้ำโวลก้าทางตอนเหนือของซาราตอฟ (Saratov) และที่นี่เอง กองทัพอากาศรัสเซียได้จัดให้มีการฝึกบินรบหลักสูตรเร่งรัดให้แก่บรรดานางฟ้าผู้กล้าหาญเหล่านี้ก่อนออกปฏิบัติการจริง โดยพวกเธอต้องผ่านการฝึกการบินรบและนำร่องภายใน 6 เดือน หรือใช้เวลาน้อยกว่าหลักสูตรปกติถึงสามเท่า เมื่อผ่านการฝึกอันเข้มข้นนี้แล้ว จะมีการทดสอบฝีมือการบินก่อนมีคำสั่งให้เข้าประจำการในกองบินขับไล่ที่ 586 (586 IAP) กองบินทิ้งระเบิดทางยุทธวิธีที่ 587 (587 BAP) หรือกองบินทิ้งระเบิดกลางคืนที่ 588 (588 NBAP) โดยนักบินสตรีที่ได้รับคำสั่งให้เข้าประจำการในกองบินขับไล่ที่ 586 นั้น ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ปกป้องเมืองซาราตอฟซึ่งถือเป็นแนวหน้า ส่วนอีกสองฝูงที่เหลือจะออกปฏิบัติการตามที่ได้รับมอบหมาย
                ในขณะที่นางฟ้าเหล่านี้จบการฝึกบิน สถานการณ์รบของรัสเซียด้านสตาลินกราดอยู่ในขั้นวิกฤต  และสตาลินมีคำสั่งให้ยึดเมืองไว้ให้ได้ กองทัพอากาศรัสเซียจึงมีคำสั่งให้กองบินขับไล่ที่ 586 อยู่รักษาเมืองสตาลินกราด โดยให้นักบินประจำฝูงบินที่ 1 เตรียมพร้อมปฏิบัติหน้าที่นักบินอะหลั่ยเพื่ออกปฏิบัติการในกรณีกองบินใดขาดแคลนนักบินด้วย และต่อมามีคำสั่งให้จ่าอากาศเอกหญิง ลิดยา ลิฟยัค และจ่าอากาศเอกหญิง เยคาเทอริน่า คัทย่า บูดาโนว่า นักบินฝูงบินที่ 1 ไปปฏิบัติหน้าที่นักบินในกองบินที่ 73 หน่วยบินที่ 6 กองทัพอากาศส่วนแยกที่ 8 เพื่อควบคุมน่านฟ้าคราคอฟ โดยผู้บังคับกองบินจัดให้ลิดยาและคัทย่า ออกปฏิบัติการคู่กันเสมอ และสองสาวก็ทำให้สตรีรัสเซียต้องภูมิใจเมื่อลิดยาสามารถส่งนักล่าจากเยอรมันลงไปกองกับพื้นได้ถึง 12 ลำ โดยในวันที่ 22 มีนาคม 1943 นั้น ลิดยายิงแมสเซอชมิดต์ Bf-109 ตกถึง 2 ลำ ในการออกปฏิบัติการเที่ยวเดียว ส่วนคัทย่าคู่หูสามารถยิงเครื่องบินเยอรมันตกไปถึง 11 ลำ  อย่างไรก็ดี สถิติของวีรสตรีทั้งสองท่านได้ยุติเพียงเท่านั้น โดยลิดยาถูกยิงตกและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 1943 ส่วนคัทย่าถูกยิงตกและเสียชีวิตก่อนคู่หูของเธอ 14 วัน  วีรสตรีทั้งสองท่านนี้ได้รับเหรียญโกลด์สตาร์ในฐานะวีรสตรีแห่งชาติ (Hero of the Soviet Union)

                        
                                                                                                 เยคาเทอริน่า คัทย่า บูดาโนว่า



                                                                                                                


                                                                                                   ลิดยา ลิฟยัค

                สำหรับกองบินขับไล่ที่ 586 ส่วนที่อยู่รักษาสตาลินกราดนั้น อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนาวาอากาศตรีหญิง ทามาร่า คาซาริโนว่า พวกเธอขับ ยัค-1 ออกปฏิบัติการครองอากาศเหนือน่านฟ้าสติลินกราดอย่างกล้าหาญเช่นกันและในเดือนกันยายน 1942 วาเลอย่า คัมยาโคว่า แห่งกองบินนี้ได้กลายเป็นนักบินขับไล่สตรีคนแรกที่ยิงเครื่องบินข้าศึกตกในเวลากลางคืน มีส่วนสำคัญในความสำเร็จของปฏิบัติการแซทเทอร์นและยูเรนัสอันดุเดือดในเดือนพฤศจิกายน 1942 ที่มีเป้าหมายในการกวาดล้างกองทัพที่ 6 ของเยอรมันภายใต้การบังคับบัญชาของจอมพลเปาลุส และทำให้กองทัพที่ 6 ของเปาลุสยอมแพ้ต่อรัสเซีย อันเป็นจุดหักเหของแนวรบตะวันออก ในปี 1944 กองบินขับไล่ที่ 586 ได้รับการติดอาวุธใหม่โดยได้รับ ยัค-9 ซึ่งทันสมัยกว่ามาแทน ยัค-1 และได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหอกในการรุกเข้าฮังการีเพื่อกรุยทางสู่เบอร์ลิน และกองบินขับไล่ที่ 586 ปิดฉากสงครามโลกครั้งที่สอง ณ สนามบินที่รัสซียยึดได้ในออสเตรีย และในระหว่างสงครามอันโหดร้ายนี้ กองบินขับไล่ที่ 586 ออกปฏิบัติการทั้งสิ้น 4,419 เที่ยวบิน สามารถเก็บเกี่ยวชัยชนะได้ 38 ครั้ง



วาเลอย่า คัมยาโคว่า

                สำหรับกองบินทิ้งระเบิดกลางคืนที่ 588 นั้น ในช่วงแรกบังคับบัญชาโดยนาวาอากาศตรีหญิง มาริน่า ราสโคว่า และมีฐานปฏิบัติการที่ยูเครนนั้น และเป็นกองบินสตรีที่โด่งดังที่สุดของรัสเซีย หน้าที่หลักของกองบินเป็นการทิ้งระเบิดพื้นที่เคิชร์-ทามาน  นาวาอากาศตรี โยฮัน สไตนฮอฟ ของเยอรมันและเป็นผู้บังคับฝูงบิน 2 กองบินขับไล่เครื่องยนต์เดียวที่ 52 (JG 52) ผู้ทำสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตก 101 เครื่อง และเคยประมือกับสตรีเหล็กแห่งฝูงบินนี้มาแล้วเคยบันทึกถึงสตรีผู้กล้าเหล่านี้ไว้ว่า พวกเรา(นักบินขับไล่เยอรมัน)ทำใจไม่ได้ว่าเหล่านักบินรัสเซียที่สร้างปัญหาให้กับพวกเรานั้นเป็นผู้หญิง พวกเธอบ้าบิ่นมาก กล้าบินเครื่องบินทิ้งปีกสองชั้นเก่า ๆ ช้า ๆ มาทิ้งระเบิดใส่พวกเราคืนแล้วคืนเล่า จนพวกเราไม่เป็นอันหลับอันนอนกัน และนักบินเยอรมันเรียกบรรดานักบินทิ้งระเบิดกลางคืนเหล่านี้ว่า แม่มดราตรี (Night Witches)
                 เนื่องจากสภาพอากาศในรัสเซียไม่ค่อยจะดีนักและเครื่องบินที่แม่มดราตรีเหล่านี้ใช้เป็นเครื่องบินเก่าแบบ Po-2 มีระบบนำร่องแบบโบราณ การทิ้งระเบิดกลางคืนจึงไม่สามารถสร้างความเสียหายใหญ่หลวงเท่าใดนัก แต่เน้นการทำลายขวัญข้าศึกมากกว่า แต่ในวันที่ 25 ตุลาคม 1942 แม่มดราตรีโด่งดังเป็นพลุแตกในชั่วข้ามคืน เมื่อบินฝ่าความมืดและสภาพอากาศที่ย่ำแย่ไปทิ้งระเบิดกวนประสาทสนามบินเยอรมันที่อามาเวียเหมือนเคย แต่โชคช่วยเมื่อทิ้งไปโดนคลังน้ำมันเชื้อเพลิงของสนามบินเข้าอย่างจังจนระเบิดเสียงดังได้ยินไปไกล ทั้งยังทำให้เครื่องบินทิ้งระเบิดของฝูงบินที่ 2 กองบินทิ้งระเบิดที่ 51 (II./KG 51) ของเยอรมัน ไฟไหม้เสียหายเหลือแต่ซากจำนวน 6 เครื่อง รอดไปได้เครื่องเดียวเท่านั้น และทำให้ลุฟท์วาฟเฟ่มีคำสั่งให้ถอนฝูงบินที่ 2 กองบินทิ้งระเบิดที่ 51 ออกจากแหลมเคิชร์ (Kerch Peninsular) ทันที อันเป็นประโยชน์ต่อกองทัพรัสเซียในการยึดพื้นที่เคิชร์-ทามาน คืนจากเยอรมัน

                                                                                                                 

                                                                                                      Po-2

                อย่างไรก็ดี เยอรมันกู้วิกฤตการณ์แม่มดราตรีโดยนำเอา Bf-110s มาทำหน้าที่นักล่าแม่มด โดยติดไฟฉายเข้าไป ซ้ำร้ายยังฉายไฟจากภาคพื้นดินช่วยด้วย การบุกเข้าไปทิ้งระเบิดในเวลากลางคืนของบรรดาแม่มดราตรีจึงไม่ต่างจากแมลงเม่าที่บินเข้าหากองไฟ นักบินสตรีผู้กล้าหาญเหล่านี้ถูกเครื่องบินขับไล่กลางคืนของเยอรมันยิงตกเป็นจำนวนมากและเครื่องใดที่ถูกยิงเข้าก็เป็นอันว่านักบินต้องเสียชีวิตแน่นอนเพราะนักบินรัสเซียไม่มีร่มชูชีพติดตัวเหมือนนักบินชาติอื่น และเพิ่งจะจัดหาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานของนักบินเมื่อกลางปี 1944 เท่านั้น
                เซอราฟิม่า อาโมโซว่า อดีตแม่มดราตรีแห่งกองบินทิ้งระเบิดกลางคืนที่ 588 เล่าว่า คืนหนึ่งเมื่อพวกเราบินไปถึงเป้าหมาย พวกเยอรมันได้ฉายไฟฉายขึ้นมาแล้ว ปตอ.ก็เริ่มระดมยิงใส่พวกเรา ขณะที่พวกเราก็เริ่มทิ้งระเบิด อยู่ ๆ ก็มีการยิงพลุไฟสีเขียวขึ้นมาบนท้องฟ้า มันสว่างจ้าไปหมด และ ปตอ.ก็หยุดยิงกระทันหัน ทันใดนั้นเครื่องบินขับไล่เยอรมันก็เข้ามาจากไหนไม่รู้ยิงพวกเราตกลงไปถึง 4 เครื่องในชั่วพริบตา เราเห็นเครื่องบินของเพื่อนเราที่ถูกยิงติดไฟลุกท่วมเหมือนกับเปลวเทียน มันน่าสยดสยองมาก พวกเราที่เหลือจึงหันกลับทันที เมื่อกลับไปรายงานผู้บังคับบัญชา เขาสั่งพวกเรางดบินภารกิจที่เหลือในคืนนั้นและให้พักได้ แต่ลองนึกดูว่าพวกเราจะรู้สึกอย่างไรเมื่อไปถึงโรงนอน เราเห็นเตียงไม้ว่างเปล่าแปดเตียงก็ใจหาย และเมื่อจะหลับตา เรามองเห็นแต่เครื่องบินที่ไฟลุกท่วมเมื่อไม่กี่ชัวโมงก่อนนั้นอย่างติดตา
                กองบินทิ้งระเบิดกลางคืนที่ 588 ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญจนได้รับเหรียญกล้าหาญและได้เปลี่ยนชื่อกองบินนี้เป็นกองบินทิ้งระเบิดกลางคืนที่ 46 ผู้คุ้มครองทามาน ในวันที่ 6 มกราคม 1943 และมีแม่มดราตรีที่ได้รับเหรียญโกลด์สตาร์ในฐานะวีรสตรีแห่งชาติ (Hero of the Soviet Union) ในเวลานั้นถึง 23 ท่าน เช่น เรืออากาศโทหญิง ไอริน่า เซโบรว่า ที่ออกปฏิบัติการถึง 1,008 เที่ยวบิน เรืออากาศเอกหญิง นาตาลิย่า เมกลิน ที่ออกปฏิบัติการ 980 เที่ยวบิน เรืออากาศเอกหญิง เยฟกีนิย่า ซิกูเชนโก ที่ออกปฏิบัติการ 968 เที่ยวบิน เรืออากาศเอกหญิง มาริน่า สเมียโนว่า ที่ออกปฏิบัติการ 950 เที่ยวบิน เป็นต้น และยังมีอีก 1 ท่านที่ได้รับเหรียญโกลด์สตาร์ในฐานะวีรสตรีแห่งชาติเมื่อปี 1995 ซึ่งนับว่าเป็นกองบินที่นักบินได้รับเหรียญกล้าหาญมากที่สุดของกองทัพอากาศรัสเซีย พวกเธอออกปฏิบัติการทั้งหมดรวม 23,672 เที่ยว ทิ้งระเบิดไปทั้งสิ้น 3,000 ตัน (Po-2 แต่ละเครื่องบรรทุกระเบิดได้ไม่เกิน 300 กิโลกรัมเท่านั้น)



                                                                                              ไอริน่า เซโบรว่า        นาตาลิย่า เมกลิน         เยฟกีนิย่า ซิกูเชนโก        มาริน่า สเมียโนว่า

                ส่วนกองบินทิ้งระเบิดทางยุทธวิธีที่ 587 นั้น กองทัพอากาศรัสเซียได้ย้ายนาวาอากาศตรีหญิง มาริน่า ราสโคว่า มาเป็นผู้บังคับบัญชา โดยมีเรืออากาศเอกหญิง มิลิตซ่า คาซาริโนว่า น้องสาวของนาวาอากาศตรีหญิง ทามาร่า คาซาริโนว่า ผู้บังคับกองบินขับไล่ที่ 586 เป็นผู้ช่วย โดยในตอนแรกกองบินทิ้งระเบิดทางยุทธวิธีที่ 587 นี้ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ Su-2 ที่ล้าสมัยเป็นเครื่องบินประจำฝูง ต่อมากองทัพอากาศรัสเซียได้เปลี่ยนให้ใช้เครื่องบินดำทิ้งระเบิดสองเครื่องยนต์แบบ Pe-2 แทน เมื่อจบการฝึกบินเปลี่ยนแบบในวันที่ 22 พฤสจิกายน 1942 โวเอนโน วอสดุซนี ซิลลี่ มีคำสั่งให้กองบินนี้ไปปฏิบัติการทิ้งระเบิดบริเวณแนวรบสตาลินกราด และเครื่องบินดำทิ้งระเบิดของกองบินนี้มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของปฏิบัติการแซทเทอร์นและยูเรนัสอันดุเดือดในเดือนพฤศจิกายน 1942 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการยึดเมืองบอริสซอฟ (Borisov) คืนจากกองทัพที่ 6 ของเยอรมัน หลังจากนั้นได้มีส่วนในการรุกยึดพื้นที่ของรัสเซียคืนในอีกหลายสมรภูมิเลือด จนปี 1943 เมื่อกองทัพอากาศรัสเซียสามารถผลิตนักบินใหม่ได้เป็นจำนวนมากและภัยคุกคามจากลุฟท์วาฟเฟ่จำกัดอยู่ที่การคุ้มกันเบอร์ลิน กองทัพอากาศรัสเซียจึงถอนพวกเธอออกจากแนวหน้าโดยให้พวกเธอทำหน้าที่นักบินพร้อมรบ ณ สนามบินใกล้เมืองเอลแบลกในโปแลนด์ และได้ขนานนามกองบินนี้ใหม่ว่า กองบินทิ้งระเบิดที่ 125 มาริน่า ราสโคว่า ผู้คุ้มครองบอริสซอฟ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความกล้าหาญของวีรสตรีแห่งกองบินนี้ที่โยนระเบิดใส่ผู้รุกรานบอริสซอฟอย่างไม่กลัวตาย ธงประจำหน่วยของกองบินนี้ติดเหรียญ Order of Suvorov and Kutuzov ชั้นที่สาม พวกเธอออกปฏิบัติการรวมทั้งสิ้น 1,134 เที่ยว ทิ้งระเบิดไป 980 ตัน นักบินที่โด่งดังที่สุดของกองบินนี้ได้แก่มาริยา โดลิน่า โดยวันหนึ่งที่ออกปฏิบัติการดำทิ้งระเบิด เธอยังมีเวลาเหลือพอที่จะจัดการ Bf-109 และ Fw-190 ตกอีกอย่างละเครื่องด้วยก่อนกลับฐาน



Pe-2

                ความสำเร็จของบรรดานักบินสตรีผู้ห้าวหาญเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากทหารหญิงเหล่าอื่นของกองบินด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทหารช่างและทหารสรรพาวุธที่แม้จะไม่ต้องออกไปเสี่ยงตายกับเขา แต่ก็ต้องทำงานกันอย่างหนักหน่วงทั้งกลางวันกลางคืนและไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไรเพื่อให้นักบินออกปฏิบัติการได้ทุกเวลา หลายคนถูกหิมะกัด ถูกแดดเผา หลายคนถึงกับมีอาการป่วยทางประสาท
                อย่างไรก็ดี นาวาอากาศตรีหญิง มาริน่า ราสโคว่า มิได้มีโอกาสชื่นชมความสำเร็จของหน่วยบินพิเศษที่ 122 ที่เธอปลุกปั้นมากับมือ โดยเธอเสียชีวิตเนื่องจากเธอได้รับคำสั่งให้นำเครื่อง Pe-2s ไปเปลี่ยนในแนวหน้าให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ มาริน่าจึงตัดสินใจนำเครื่อง Pe-2s บินฝ่าพายุหิมะไปส่งตามคำสั่ง แต่เครื่องบินไม่สามารถต้านพลังธรรมชาติอันโหดร้ายได้จึงตกลงบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโวลก้าทางตอนเหนือของสตาลินกราดในวันที่ 4 มกราคม 1943



มาริน่า ราสโคว่า