ปกรณ์ นิลประพันธ์
เมื่อวันที่
26 สิงหาคม 1916 (2459) ภรรยาของชาวนาในตระกูลซาไกผู้ขยันขันแข็งคนหนึ่งในหมู่บ้านเล็ก
ๆ ในตำบลนิชิโยกะ จังหวัดซากะ
(จังหวัดนี้อยู่ติดกับจังหวัดนางาซากิและจังหวัดฟูกูโอกะ)
ทางตอนเหนือของเกาะกิวชิว เกาะใต้สุดของญี่ปุ่น ได้ให้กำเนิดบุตรชายอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นบุตรชายคนที่
4 ของครอบครัว บิดาได้ตั้งชื่อบุตรชายผู้นี้ว่า “ซาบูโร่” (三郎)
บิดาของซาบูโร่นั้นสืบเชื้อสายมาจากตระกูลซามูไร
เขาจึงอบรมสั่งสอนบุตรชายทั้งสี่ให้ยึดมั่นและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในหลักบูชิโด
(武士道) ของนักสู้ซามูไรที่ต้องซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อเจ้านายโดยไม่เปลี่ยนแปลง
ห้าวหาญและทำตามคำสั่งของเจ้านายโดยไม่ปริปากบ่นไม่ว่าจะลำบากยากเข็นเพียงใด และต้องพร้อมยอมพลีชีวิตเพื่อเจ้านายโดยไม่ลังเล
ซึ่งซาบูโร่ได้ถือปฏิบัติตามหลักบูชิโดอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด
และนี่เองทำให้เขาได้ฉายาจากนักบินรบข้าศึกที่ภายหลังกลับมาเป็นมิตรกันว่า “เจ้าซามูไร”
เมื่อบิดาผู้ขันแข็งเสียชีวิตลงในปี
1927 (2470) ครอบครัวซาไกก็ประสบกับความยากลำบาก มารดาของเขาต้องดูแลลูก ๆ
ซึ่งอยู่ในวัยกำลังกินกำลังนอนถึง 7 ชีวิต ขณะที่มีที่นาทำกินเพียง 2
ไร่ครึ่งเท่านั้น ลุงของเขาซึ่งทำงานในกระทรวงการสื่อสารจึงได้ยื่นมือมาช่วยเหลือโดยขอรับเด็กชายซาบูโร่ซึ่งเรียนเก่งที่สุดในบ้านและในตำบลไปเป็นบุตรบุญธรรมและส่งเสียให้เรียนต่อ
ซาบูโร่ต้องย้ายไปอยู่บ้านลุงที่โตเกียวและต้องย้ายไปเรียนที่นั่น เด็กชายซาบูโร่จึงกลายเป็นความหวังของครอบครัวซาไกและชาวตำบลนิชิโยกะไปโดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม คุณภาพของโรงเรียนในโตเกียวกับโรงเรียนบ้านนอกของญี่ปุ่นในสมัยนั้นแตกต่างกันมากเกินไป
เด็กเรียนเก่งจากบ้านนอกอย่างซาบูโร่จึงตามการเรียนการสอนที่เข้มงวดและมีการแข่งขันสูงในโรงเรียนใหม่ไม่ทันแม้จะมุมานะเท่าใดก็ตาม
ประกอบกับเขาเป็นเด็กบ้านนอกที่มีฐานะยากจน จึงยิ่งทำให้เขาเข้ากับเพื่อนไม่ได้ และกลายเป็นแกะดำของห้องเรียนในเวลาไม่นาน
เมื่อถูกกดดันมากเข้า ซาบูโร่จึงกลายเป็นเด็กมีปัญหาและมีเรื่องชกต่อยกับเพื่อนเป็นประจำแม้เขาจะตัวเล็กนิดเดียว
จนเป็นที่เอือมระอาของครูอาจารย์ในโรงเรียนและถูกไล่ออกในที่สุด ลุงผู้หวังดีของเขาจึงต้องส่งตัวซาบูโร่กลับบ้านนอกทันทีเพื่อไม่ให้เขาเสียคนไปมากกว่านี้
เมื่อกลับมาถึงนิชิโยกะ
สถานการณ์กลับบีบคั้นเขามากกว่าเดิมเพราะทุกคนในบ้านและในตำบลคาดหวังความสำเร็จจากซาบูโร่สูงมาก
แต่เมื่อปรากฏว่าเขาต้องกลับบ้านเพราะเกเรจนถูกไล่ออกจากโรงเรียน ซาบูโร่กลับกลายเป็นบุคคลที่สังคมรังเกียจ
ซาบูโร่รู้สึกได้ทันทีว่าเขาคงไม่สามารถอยู่ในหมู่บ้านได้อีกต่อไปและคงต้องหนีไปอยู่ให้ไกล
ๆ เขาจึงตัดสินใจสมัครเข้าเป็นทหารเรือที่ฐานทัพเรือซาเซโบในนางาซากิเมื่อปี 1933
(2476) ขณะที่มีอายุ 16 ปี ซึ่งฐานทัพเรือแห่งนี้เป็นที่ตั้งของกองเรือภาคที่ 3
ของจักรพรรดินาวีมาตั้งแต่ปี 1889 (2432) และอยู่ห่างจากนิชิโยกะประมาณ 90
กิโลเมตร ซึ่งนับว่าไกลมากในสมัยที่การคมนาคมยังไม่เจริญเช่นในปัจจุบัน
เรือประจัญบานคิริชิมา
หลังจากฝึกลักษณะทหารอย่างเข้มงวดและรุนแรงตามแบบญี่ปุ่นอยู่ที่ซาเซโบได้
6 เดือน จักรพรรดินาวีได้บรรจุพลทหารซาบูโร่เป็นพลปืนประจำเรือประจัญบานคิริชิมา
ขนาด 32,156 ตัน ซึ่งประจำการมาตั้งแต่ปี 1915 (2458) ต่อมา ในปี 1935 (2478)
ซาบูโร่สอบเข้าเรียนในโรงเรียนปืนใหญ่ทหารเรือได้ และเมื่อจบการศึกษา
จักรพรรดินาวีได้เลื่อนยศซาบูโร่เป็นจ่าตรีและส่งเขาไปเป็นพลปืนประจำเรือประจัญบานฮารูนะ
ขนาด 32,000 ตัน ซึ่งประจำการมาในปีเดียวกันกับเรือประจัญบานคิริชิมา
และติดปืนใหญ่ขนาด 16 นิ้ว ซึ่งนับว่าใหญ่มากในเวลานั้น รองลงมาจากปืนเรือขนาด 18
นิ้วของเรือยามาโต้
เรือประจัญบานฮารูนะ
หลังจากทำงานยิงปืนใหญ่ 16 นิ้วได้ 2 ปี
ในปี 1936 (2479) จักรพรรดินาวีได้ประกาศสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาในโรงเรียนการบินนาวี
ที่ซูชิอูระ จังหวัดอิบารากิเพื่อปฏิบัติหน้าที่นักบินนาวีเมื่อสำเร็จการศึกษา
การสอบคัดเลือกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่หนึ่ง นายทหารชั้นสัญญาบัตรที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือ
ที่อิตาจิม่า กลุ่มที่สอง นายทหารชั้นประทวนประจำเรือ และกลุ่มที่สาม
ผู้จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา
ซาบูโร่ไม่ลังเลที่จะเข้าร่วมการสอบแข่งขันในกลุ่มที่สองด้วยเพราะการเป็นนักบินนาวีในสมัยนั้นเป็นอาชีพที่มีเกียรติอย่างมาก
จึงเป็นโอกาสที่เขาจะกู้ชื่อเสียงที่เคยด่างพร้อยเมื่อถูกไล่ออกจากโรงเรียนได้
กลุ่มที่สองนี้มีผู้สมัครถึง 1,500 คน แต่ผ่านการทดสอบเพียง 70 คนเท่านั้น ซึ่งซาบูโร่เป็นผู้หนึ่งที่ผ่านการทดสอบด้วย
เมื่อเขาจดหมายแจ้งให้แม่ทราบข่าว ซาบูโร่ได้กลับกลายเป็นฮีโร่ของครอบครัวและตำบลนิชิโยกะอีกครั้งหนึ่ง
ปมด้อยของเขาถูกลบล้างไปแล้ว
เมื่อสำเร็จเป็นนักบินในปี 1937 (2480) เขาได้รับพระราชทานนาฬิกาพกเรือนเงินจากสมเด็จพระจักรพรรดิเนื่องจากจบการศึกษาด้วยคะแนนสูงสุด
หลังจากนั้น จักรพรรดินาวีมีคำสั่งให้ซาบูโร่ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ฝูงบินที่ 12 กองบินนาวีประจำเกาะฟอร์โมซา
(ไต้หวัน) ซึ่งอยู่ในความยึดครองของญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 1895 (2428) โดยมีฐานปฏิบัติการอยู่ที่เกาสง
เมืองท่าทางตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะฟอร์โมซา เมื่อเกิดสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่นในปี
1938 (2481) จักรพรรดินาวีได้มีคำสั่งให้กองบินนาวีประจำการด้วยมิตซูบิชิ A5M ไปปฏิบัติหน้าที่ครองอากาศในการยึดพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน
นักบินกองบินนาวีประจำเกาะฟอร์โมซา
ซาบูโร่
ซาไก แถวกลางคนที่สองจากซ้ายมือ
ซาบูโร่ได้ทำการรบทางอากาศเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่
5 ตุลาคม 1938 หลังจากที่ขบวนบินของเขาถูกโจมตีโดยฝูงบินโปลิคาป๊อฟ I-16s ขับโดยนักบินจีน การปะทะครั้งนั้นไม่น่าจดจำเท่าใดนักสำหรับซาบูโร่ เพราะระบบการสื่อสารสับสนทำให้เขาแตกฝูงไปโจมตีข้าศึกคนเดียว
แม้เขาจะยิงเจ้าลาน้อยไฟไหม้ไปหนึ่งลำ แต่ตัวเขาเองก็เกือบถูกยิงตก ซาบูโร่จึงถูกผู้บังคับฝูงตำหนิอย่างหนักเพราะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งระหว่างการรบ
มิตซูบิชิ A5M
ในปี 1939 (2482)
ซาบูโร่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ไม่ใช่เพราะการรบทางอากาศ
หากแต่เกิดจากการที่กองทัพอากาศจีนส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดฐานบินของเขาจนได้รับความเสียหายยับเยิน
ซาบูโร่จึงถูกส่งตัวกลับไปพักฟื้นที่บ้าน
หลังจากหายดีจึงกลับไปประจำที่ฟอร์โมซาเช่นเดิม ต้นปี 1941 (2484)
เขาได้รับการเลื่อนยศเป็นจ่าเอกและกองบินนาวีจากฟอร์โมซาได้รับ มิตซูบิชิ A6M2 “ซีโร่” เข้าประจำการแทน
มิตซูบิชิ A5M และในปลายปี 1941 นี้เอง
ซาบูโร่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในหน้าแรก ๆ ของสงครามในแปซิกฟิกด้วย โดยก่อนที่กองเรือแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิจะเข้าโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์
ในวันที่ 7 ธันวาคม 1941 นั้น กองบินนาวีจากฟอร์โมซาได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อมในการบินไป-กลับฟอร์โมซา-ฟิลิปปินส์
ระยะทาง 1,200 ไมล์ เพื่อปฏิบัติการโจมตีฐานทัพอากาศคล๊ากในฟิลิปปินส์
มิตซูบิชิ A6M2 “ซีโร่”
หลังจากที่กองเรือหลักจัดการเพิร์ลฮาร์เบอร์ได้แล้ว
จักรพรรดินาวีได้มีคำสั่งให้กองบินนาวีจากฟอร์โมซาปฏิบัติการโจมตีฐานทัพอากาศคล๊ากในวันที่
8 ธันวาคม ผู้บัญชาการกองบินได้จัดให้ซีโร่ 45 ลำ ให้การคุ้มกันฝูงบินทิ้งระเบิด
มิตซูบิชิ G4M3 “เบ็ตตี้” ในการปฏิบัติการดังกล่าว
โดยซาบูโร่ได้เข้าร่วมปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย และสามารถยิง Curtis P-40 ตกหนึ่งเครื่อง และยิง B-17 บนพื้นได้อีก 2 เครื่อง
ต่อมาอีก 2 วัน เขายิง North American B-17 ซึ่งบินโดยร้อยเอกโคลิน พี เคลลี่ จูเนียร์ ตกอีกหนึ่งเครื่อง
ซึ่งถือว่าเป็น B-17 เครื่องแรกที่ถูกยิงตกในสงครามมหาเอเชียบูรพา
ต้นปี 1942 (2485)
จักรพรรดินาวีได้มีคำสั่งให้ซาบูโร่ย้ายไปประจำกองบินนาวีที่ทาราคานในบอร์เนียวเพื่อครองน่านฟ้าอินโดนีเซีย
เขายิงเครื่องบินข้าศึกตกอีก 11 เครื่อง
ก่อนที่จะป่วยเป็นไข้ป่าจนต้องงดบินชั่วคราวเป็นเวลา 3 เดือน เมื่อหายดีแล้ว
เขาได้รับคำสั่งในเดือนเมษายนให้ไปประจำกองบินนาวีที่เลย์ (Lae) ในนิวกีนีภายใต้การบังคับบัญชาของเรือโท จุนนิชิ ซาซาอิ สนามบินที่เลย์นี้ญี่ปุ่นสร้างแอบอยู่ในป่าและห่างจากสนามบินของพันธมิตรเพียง
180 ไมล์เท่านั้น “สภาพมันย่ำแย่ที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมาเลยทีเดียว” ซาบูโร่เล่าถึงสนามบินชั่วคราวแห่งนี้
ในวันที่ 11 เมษายน เรือโท ซาซาอิ
นำหมู่บินออกลาดตระเวนทะเลคอรัลตามปกติ แต่เที่ยวกลับขณะบินผ่านพอร์ท มอส์บี้ (Port
Moresby) เมืองหลวงของนิวกีนีซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะ
ห่างจากเลย์ประมาณ 300 ไมล์ นั้น ฝูงบินนาวีญี่ปุ่นสังเกตเห็นฝูงบิน P-39 แอร์คอบราของอเมริกัน 4 ลำอยู่ใกล้ ๆ จึงโฉบเข้าไปโจมตีโดยที่เหยื่อทั้ง 4
ราย ไม่ทันระวังตัว ซาบูโร่จัดการแอร์คอบราลงได้ 2 ลำ ส่วนฮิโรโยชิ นิชิซาว่า
เสืออากาศหมายเลขหนึ่งของจักรพรรดินาวี กับโตชิโอะ โอตะ
เสืออากาศอีกคนหนึ่งของจักรพรรดินาวีจัดการได้คนละลำด้วยการเข้าโจมตีเพียงครั้งเดียว
จากผลงานอันยอดเยี่ยมนี้ ผู้บังคับฝูงจึงมักจัดนิชิซาว่า โอตะ
และซาบูโร่ออกปฏิบัติการร่วมกันเสมอและสร้างผลงานอันโดดเด่นอย่างต่อเนื่อง ในวันที่
23 เมษายน นิชิซาว่า โอตะ และซาบูโร่ กับซีโร่อีก 5 ลำ
ออกปฏิบัติการลาดตระเวณตามปกติ ได้พบกับฝูง P-39 และ P-40 รวม 13 ลำ ที่ความสูง 18,000 ฟิต เหนือพอร์ท มอส์บี้ ซาบูโร่ นิชิซาว่า
และโอตะพาพวกที่น้อยกว่าเข้าห้ำหั่นกับฝูงบินอเมริกันอย่างห้าวหาญ
และส่งเครื่องบินอเมริกันไปกองอยู่บนพื้นดินได้ 8 ลำ
โดยซาบูโร่เพิ่มสถิติให้ตัวเองได้ 2 เครื่องในการโจมตีครั้งนั้น
ความสามารถของซาบูโร่ นิชิซาว่า และโอตะ ทำให้เพื่อน ๆ ถึงกับให้ขนานนามพวกเขาว่า “สามภารโรง”
รุ่งสางของวันที่ 15
พฤษภาคม สนามบินเลย์ที่เละเทะอยู่แล้วกลับเละเทะหนักกว่าเดิมเพราะพันธมิตรเพิ่งส่ง
B-25 “มิตเชล”
มาทิ้งระเบิด ขณะนั้นสามภารโรงอยู่ในห้องวิทยุและกำลังฟังเพลงจากสถานีวิทยุออสเตรเลียฆ่าเวลา
นิชิซาว่าเกิดอารมณ์สุนทรีย์ขึ้นมาและเสนอไอเดียให้คู่หูทั้งสองฟังว่า
ในการออกปฏิบัติการโจมตีพอร์ท มอส์บี้ เป็นการเอาคืนในวันมะรืนนี้
สามภารโรงควรบินผาดแผลงเหนือสนามบินของข้าศึกด้วย แต่ต้องปิดไม่ให้เรือโท ซาซาอิ
ผู้เคร่งครัดรู้ หาไม่แล้วอาจถูกลงโทษได้
ดังนั้น หลังจากจบภารกิจโจมตีพอร์ท มอส์บี้ ในวันที่ 17 ซึ่งซาบูโร่จัดการแอร์คอบราลงได้
2 ลำ และแน่ใจว่าไม่มีเครื่องบินข้าศึกอยู่ในพื้นที่แล้ว ทีมสามภารโรงได้ “เปิดการแสดง”
การบินวงกลมตั้งชิดกันเหนือสนามบินข้าศึก 3 วงซ้อน หลังจบรอบแรก
สามภารโรงยังมันส์ในอารมณ์อยู่จึงแถมให้ข้าศึกชมอีก 3 รอบ
แล้วจึงบินกลับเลย์เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ต่อมาตอนสามทุ่มคืนนั้นเอง นักบินอเมริกันคนหนึ่งลงทุนบินฝ่าความมืดและฝูงบินซีโร่มาทิ้ง
“สาร” ที่สนามบินเลย์ แสดงความขอบคุณและยกย่อง
“นักบินสามคนที่ผูกผ้าพันคอสีเขียว”
ที่ไป “แสดงการบินผาดแผลงอันยอดเยี่ยมและสวยงาม” ให้พวกเขาชม และหากเป็นไปได้
จะขอความอนุเคราะห์อีกสักรอบหนึ่งในวันพรุ่งนี้ เรือโท ซาซาอิ จึงเรียกตัวสามภารโรงไป
“อบรม”
เป็นการด่วนและห้ามไม่ให้พวกเขาทำเรื่อง “ห่าม ๆ” แบบนี้อีก
Bell P-39 Air
Cobra
ต้นเดือนสิงหาคม 1942 กองบินนาวีจากฟอร์โมซาได้รับคำสั่งให้ย้ายไปประจำสนามบินสนามที่ราบวล
(Rabaul) บนเกาะนิว บริเทน (New Britain) ทางตะวันออกของนิวกีนี และเป็นช่วงที่กองพลนาวิกโยธินที่ 7
ของสหรัฐฯยกพลขึ้นบกเพื่อรุกโต้ตอบที่เกาะกัวดาลคะแนล (Guadalcanal) และเกาะทูลากิ (Tulagi) ทางตอนใต้ของหมู่เกาะโซโลมอน
ซาบูโร่และเหล่านักบินของกองบินนาวีจากฟอร์โมซาต้องบินจากราบวลไกลถึง 550
ไมล์เพื่อไปสกัดกั้นการโจมตีทางอากาศของฝูงบินนาวีอเมริกันที่ขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องบินมาสนับสนุนการรุกโต้ตอบของบรรดาคอหนัง
แต่ระยะทาง 550 ไมล์นั้นถือว่าไกลเกินกว่าระยะทำการปกติในการปฏิบัติการของซีโร่
Grumman F4
Wildcat
ที่นี่ซาบูโร่พบว่านักบินนาวีอเมริกันมีความสามารถทางการบินสูงและห้าวกว่านักบินทหารบกอเมริกันที่เขาเคยประมือด้วยเป็นอย่างมาก
ทั้งเครื่องบินก็ดูจะมีสมรรถนะดีกว่า และการรบที่กัวดาลคะแนลในวันที่ 8 สิงหาคม
1942 นี่เองที่ทำให้นักบินอเมริกันมอบสมญานามให้เขา โดยในวันนั้นเขากับเพื่อนอีก
17 คน ได้รับคำสั่งให้ไปโจมตีกัวดาลคะแนล และในยุทธบริเวณเขาจัดการ Grumman F4F Wildcat ได้แล้ว 2 ลำก่อนไปดวลกับ Grumman F4F Wildcat ของเรือโท เจมส์ ซุทเทอร์แลนด์ (James
J Southerland) จากเรือบรรทุกเครื่องบินซาราโตกา (USS Saratoga) เป็นลำที่สาม หลังจากขับเคี่ยวกันได้พักใหญ่
เขาก็พลาดถูกซุทเทอร์แลนด์ยิงจนเลือดออกท่วมชุดบิน เขาคิดจะบินกลับฐาน
แต่เมื่อเห็นนักบินอเมริกันหน้ากลม ๆ ซึ่งแก่กว่าเขาสัก 8
ปีผู้นั้นยิ้มให้ขณะบินสวนกัน ซาบูโร่จึงคิดจะเอาคืนบ้าง เขาเลี้ยววงแคบตามแมวป่าลำนั้นไปติด
ๆ แล้วยิงไปชุดหนึ่งถูกจนไฟไหม้
เมื่อมองเห็นซุทเทอร์แลนด์กระโดดร่มหนีออกมาได้เขารู้สึกโล่งอกที่นักบินฝีมือดีผู้นี้ยังมีชีวิตอยู่
เขาจึงเลี้ยวกลับไปจั่วกับ SDB-3 Dauntless บินโดยเรือโท ดัดลีย์ อดัมส์ จากเรือบรรทุกเครื่องบินวอฟส์ (USS
Wasp) จนตกไปอีกหนึ่งลำ แล้วจึงพาซีโร่คู่ชีพที่มีน้ำมันเหลืออยู่น้อยเต็มทีรวมทั้งลูกฝูงที่เหลือกลับฐานบินที่ราบวล
จากฝีมือบินฉกาจฉกรรจ์นี้เองทำให้นักบินนาวีอเมริกันเรียกนักบินซีโร่เครื่องนี้ว่าเจ้า
“ซามูไร”
ขากลับนี้เอง
ซาบูโร่กับฝูงบินญี่ปุ่นที่เหลือต้องเผชิญหน้ากับฝูง SDB จากเรือบรรทุกเครื่องบินเอ็นเทอร์ไพรซ์ (USS Enterprise) แทนที่จะหนีเพราะเหนื่อยล้าจากการบินทางไกล
ความเคร่งเครียดในการต่อสู้ที่เพิ่งผ่านมา น้ำมันก็ใกล้จะหมดและอาวุธก็เหลือน้อย
นักบินนาวีผู้ห้าวหาญแห่งกองทัพเรือสมเด็จพระจักรพรรดิกลับบ่ายหน้าเข้าหาฝูงบิน SDB นั้นโดยไม่รอช้า ซาบูโร่ยิง SDB ตกไป 3 ลำ
แต่เมื่อตามลำที่สี่ไป พลปืนหลังของ SDB ลำนั้น
และลำอื่นที่อยู่ในขบวนบินได้ต้อนรับเขาอย่างดุเดือดด้วยปืนหลังขนาด .30 คาลิเบอร์
16 กระบอก
เครื่องบินของเขาถูกกระสุนปืนจนปรุและนัดหนึ่งโดนเขาที่หัวจนทำให้เขาช๊อคไปชั่วขณะและตาพร่าเลือนจนมองอะไรแทบไม่เห็น
ซาบูโร่จึงดึงเครื่องออกจากสมรภูมิทันทีและบินกลับฐานด้วยสภาพที่โชกเลือดและกับตาซ้ายที่มองเห็นเพียงข้างเดียว
และเขาต้องนำผ้าพันคอมาพันแผลเพื่อห้ามเลือดขณะบินกลับฐาน
สภาพที่ดูไม่จืดของซาไก
ซาบูโร่ใช้เวลาบินกลับราบวลนานถึง 4
ชั่วโมง
47 นาที เมื่อช่างเครื่องไปถึงก็พบว่าเครื่องบินเป็นรูพรุนราวกับคนออกหัดและน้ำมันหมดเกลี้ยงถัง
ส่วนนักบินสลบอยู่ในห้องนักบินโดยมีบาดแผลฉกรรจ์ที่ศีรษะ อก ขา และแขน
จนต้องหามลงจากเครื่องบิน และถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลทหารเรือทันที
เมื่อหมอเห็นสภาพของเขาในครั้งแรกก็วินิจฉัยเบื้องต้นว่าเขาคงไม่มีทางกลับมาบินได้อีกแน่นอน
ซาบูโร่ถูกนำไปผ่าตัดทันที หลังจากการผ่าตัดเขาถูกส่งตัวกลับญี่ปุ่นเพื่อพักฟื้น คณะสามภารโรงอันโด่งดังมาตั้งแต่เลย์จึงสลายตัวลงโดยปริยายนับแต่นั้นมา
เมื่อกลับมาญี่ปุ่น
ซาบูโร่ผู้เข้มแข็งใช้เวลาเพียง 5 เดือน ในการฟื้นฟูสมรรถภาพจนหายดีจนทำให้บรรดาหมอที่เคยฟันธงว่าเขาคงไม่มีทางกลับมาบินได้อีกแน่นอนต้องหน้าแตกไปตาม
ๆ กัน เมื่อเขากลับไปรายงานตัวเข้าปฏิบัติหน้าที่ตอนต้นปี 1943 (2486) จักรพรรดินาวีได้ส่งตัวเขาไปเป็นครูฝึกนักบินใหม่ที่โรงเรียนการบินเป็นเวลา
1 ปี และในเดือนเมษายน 1944 (2487)
จักรพรรดินาวีจึงมีคำสั่งให้เขาไปประจำกองบินโยโกซูกะเพื่อปฏิบัติการในอิโวจิมาในช่วงท้ายของสงคราม
แต่ปัญหาทางสายตาทำให้เขาไม่สามารถล่าเหยื่อได้เหมือนอย่างเคย ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าเขากลายเป็นเสือสิ้นลายโดยสิ้นเชิง
โดยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน เจ้าซามูไรได้แสดงให้เห็นฝีมือการบินชั้นครูให้นักบินนาวีอเมริกันชมอีกครั้งเมื่อเขาสามารถนำซีโร่คู่ชีพหลุดรอดจากการรุมกินโต๊ะของอุปกรณ์ใหม่ล่าสุดของอเมริกัน
F6F
Hellcat จำนวน 15 ลำ
ได้โดยข้าศึกไม่สามารถฝากรอยกระสุนปืนไว้ที่เครื่องบินของเขาได้แม้แต่รูเดียวทั้งที่ถูกรุมอยู่นานถึง
20 นาที
ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามในวันที่ 15 สิงหาคม
1945 (2488) แต่สงครามเวหาของซาบูโร่กลับยุติลงหลังจากนั้น 2 วัน โดยเมื่อวันที่
17 สิงหาคม เวลาประมาณ 11.30 น. กองบินของเขาได้รับสัญญาณเตือนการรุกรานทางอากาศ
เขาได้รับคำสั่งให้บินขึ้นเพื่อป้องกันตัวเอง ซาบูโร่ยิง Convair B-32 Dominator ตกเป็นลำสุดท้ายเหนืออ่าวโตเกียว
แต่การโจมตีของเขาในครั้งนี้ไม่ถือเป็นการผิดกฎสงครามเนื่องจากการอเมริกันมิได้แจ้งก่อนว่าจะส่ง
“เครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดหนัก” ฝูงนั้นมาปฏิบัติหน้าที่
“ลาดตระเวน”
Convair B-32 Dominator
ในระหว่างสงคราม ซาบูโร่ ซาไก
ทำสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตก 64 เครื่อง ในการออกปฏิบัติการกว่า 200 เที่ยวบิน
เขาเป็นเพชฌฆาตตัวจริงรองลงมาจากเพื่อสนิทของเขาฮิโรโยชิ นิชิซาว่า และโตชิโอะ
โอตะ แต่นับจากวันที่เขาลงจากซีโร่ประจำตัวในวันที่ 17 สิงหาคม 1945 แล้ว
ยอดเพชฌฆาตผู้นี้กลับกลายพุทธศาสนิกชนที่ไม่เคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิตใด ๆ
อีกเลยแม้กระทั่งยุง
เขาได้รับเชิญให้เดินทางไปสหรัฐฯหลายครั้งเพื่อพบปะกับนักบินอเมริกันซึ่งครั้งหนึ่งเคยขับเคี่ยวกันมาอย่างโชกโชน
และกลายมาเป็นเพื่อกันในท้ายที่สุด
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2000 (2543) ซาบูโร่ ซาไก ที่มีอายุ
84 ปี ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำที่เพื่อนทหารอเมริกันจัดขึ้นที่ฐานทัพในอัตซูกิ
หลังจากดื่มหนัก เขาถูกนำส่งโรงพยาบาล เมื่อพบแพทย์
ซาบูโร่ถามแพทย์ว่าจะให้เขานอนได้หรือยัง เมื่อแพทย์อนุญาต เขาจึงหลับตาลงและหลับใหลไปตลอดกาล......
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น