ฮายริช
“พริทซึล”
แบล์ เกิดที่เมืองซอมเมอร์เฟลด์ ใกล้ไลป์ซิก เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๓
(พ.ศ. ๒๔๕๖) ชีวิตวัยเด็กของเขาไม่มีอะไรแตกต่างจากเด็กชายคนอื่น ๆ แต่เมื่อเขาเลือกที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนการบินในปี
ค.ศ. ๑๙๓๕ (พ.ศ. ๒๔๗๘) ชีวิตของแบล์ก็เปลี่ยนแปลงไป
เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนการบิน
แบล์ได้เข้ารับราชการทหารในตำแหน่งนักบินสำรองของลุฟท์วาฟเฟ่และได้รับมอบหมายให้เป็นนักบินขนส่งโดยบินกับเครื่องบินยุงเคอร์
Ju
๕๒/๓m
ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๓๙ (พ.ศ. ๒๔๘๒) เขาเข้ารับการฝึกบินเปลี่ยนแบบเพื่อเป็นนักบินขับไล่กับสุดยอดเครื่องบินขับไล่ของเยอรมันในยุคนั้นคือแมสเซอร์ชมิด
Bf
๑๐๙E
หลังจบการฝึก ลุฟท์วาฟเฟ่เลื่อนยศเขาเป็นสิบเอกและมีคำสั่งให้เขาย้ายไปเป็นนักบินขับไล่สำรองของฝูงบิน
๑ กองบิน ๕๑ (Jagdgeschwader
๕๑: JG ๕๑)[๑]
สิบเอกแบล์ได้เข้าสู่สมรภูมิตั้งแต่แรกที่สงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้นในยุโรป
ในการรบเหนือน่านฟ้าเมืองวีเซ่นเบอร์กในเยอรมนี
แบล์เริ่มต้นสถิติของเขาด้วยการส่งเคอร์ติส ฮอว์ค ๗๕A
แห่งฝูงบิน CG I/๔
ของกองทัพอากาศฝรั่งเศส (French
Armee de L’Air) ตกเป็นเครื่องแรกในวันที่ ๒๕
กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ และในระหว่างการบุกฝรั่งเศส เขายิงเครื่องบินข้าศึกตกอีก ๗
เครื่อง เป็นเครื่องบินของกองทัพอากาศฝรั่งเศส ๓ เครื่อง และเครื่องบินของกองบินหลวงของอังกฤษ
(Royal Air force) ๔
เครื่อง
ต่อมา
ในระหว่างการโจมตีเกาะอังกฤษตามยุทธการสิงโตทะเล เขาเป็นนักบินขับไล่สำรองที่มีสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตกจำนวน
๑๗ เครื่อง ซึ่งนับว่ามากที่สุดในบรรดานักบินขับไล่สำรองด้วยกัน
แต่ก็มิใช่ว่าเขาจะประสบความสำเร็จทุกเที่ยวบิน ในวันที่ ๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๐
(พ.ศ. ๒๔๘๓)
แบล์ถูกนักบินของกองบินหลวงอังกฤษยิงร่วงลงจากท้องฟ้าเหนือช่องแคบอังกฤษ
และเป็นครั้งแรกที่เขามีประสบการณ์ในการว่ายน้ำทะเลอันหนาวเหน็บของช่องแคบอังกฤษ อย่างไรก็ดี
เขาสามารถกลับมาทำการรบได้อีกครั้งและด้วยความสุขุมรอบคอบมากขึ้นกว่าเดิม
ในวันที่
๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ (พ.ศ. ๒๔๘๔) เขาสามารถจัดการเครื่องบินข้าศึกได้ครบ ๒๗
เครื่อง และได้เลื่อนยศเป็นเรืออากาศตรีและได้รับเหรียญกางเขนเหล็ก (Ritterkreuz) เป็นเครื่องการันตีความสามารถ
หลังจากนั้น เขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บังคับฝูงบินที่ ๔ แห่งกองบิน ๕๑ นอกจากนี้
ลุฟท์วาฟเฟ่มีคำสั่งให้ฝูงบินของเขาไปประจำแนวรบด้านตะวันออกเพื่อร่วมการรุกด้านตะวันออกโดยให้ไปขึ้นตรงต่อกองบิน
๕๓ (JG ๕๓)
“หนึ่งโพดำ”
(Pik As)
และเขาได้เปลี่ยนมาบินกับแมสเซอร์ชมิด Bf ๑๐๙F
ที่แนวรบด้านตะวันออกนี้เอง
จากการประจำการที่แนวรบด้านรัสเซียนี้เองที่ทำให้แบล์สามารถเพิ่มสถิติการรบของเขาได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากคู่ต่อสู้มีฝีมือและเครื่องบินที่ด้อยกว่าแนวรบด้านตะวันตกมาก
โดยในช่วงเดือนเศษระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ แบล์สามารถยิงเครื่องบินรัสเซียตกมากมายถึง
๓๓ ลำ จนทำให้สถิติของเขาเพิ่มเป็น ๖๐ ลำ และได้รับใบโอ๊ค (Eichenlaub)
มาประดับกางเขนเหล็กของเขาในวันที่ ๑๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ หลังจากนั้น ในวันที่ ๓๐
สิงหาคม เขาแสดงให้พวกรัสเซียเห็นว่าเขาเป็นนักบินมีระดับอย่างแท้จริงเมื่อจัดการส่งเครื่องบินรัสเซีย
๖ เครื่องลงไปกองเป็นเศษเหล็กอยู่ที่พื้นดินได้ภายในวันเดียว
ในวันที่
๑๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๒ (พ.ศ. ๒๔๘๕)
หลังจากเขาเพิ่มสถิติการยิงเครื่องบินข้าศึกตกรวมเป็น ๙๐ เครื่อง แบล์ได้รับดาบ (Schwertern) มาประดับกางเขนเหล็กประดับใบโอ๊คของเขา
พร้อมกันนั้นลุฟท์วาฟเฟ่มีคำสั่งเลื่อนยศเขาเป็นเรืออากาศเอก
เมื่อสถานการณ์การสู้รบทางตอนใต้ของแนวรบรัสซีย-เยอรมัน
บริเวณแหลมเคิชร์ (Kerch
Peninsular) ทางตอนใต้ของยูเครนด้านฝั่งตะวันออกของแหลมไครเมียรุนแรงขึ้น
ฝ่ายยุทธการเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เยอรมันต้องยึดครองน่านฟ้าแถบนั้นไว้ให้ได้เพื่อให้การปฏิบัติการภาคพื้นดินประสบความสำเร็จ
ลุฟท์วาฟเฟ่จึงมีคำสั่งให้แบล์ซึ่งขณะนั้นทำสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตก ๙๑
เครื่องย้ายมาทำหน้าที่ผู้บังคับฝูงบิน ๑ กองบิน ๗๗ (JG ๗๗)
“หนึ่งโพแดง”
(Herz As) ในวันที่
๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ และมีคำสั่งให้ยอดนักบินรบอีกคนหนึ่งคือเรืออากาศเอก กอร์กอน
โกลลอบ (Gordon Gollob)
ซึ่งขณะนั้นทำสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตก ๘๖ เครื่อง มาทำหน้าที่ผู้บังคับฝูงบิน ๒
ด้วย คำสั่งนี้ทำให้นักบินฝูงบิน ๑ และฝูงบิน ๒
พิศวงงงงวยเป็นอย่างมากว่าปฏิบัติการยึดครองน่านฟ้าเคิชร์-ทามาน (Kerch-Taman)
นี้จะประสบความสำเร็จได้อย่างไรในเมื่อผู้บังคับฝูงบินทั้งสองคนนี้มีบุคลิกที่แตกต่างกันมาก
และไม่น่าจะทำงานร่วมกันได้ โดยผู้บังคับฝูงแบล์เป็นคนไม่ถือเนื้อถือตัว
ไม่เคร่งครัดในระเบียบวินัยมากนัก และมีอารมณ์สุนทรีซึ่งเป็นลักษณะของคนไลป์ซิก
แบล์ยอมปฏิเสธที่จะออกปฏิบัติการบินทันทีที่เขารู้สึกว่าเขาไม่อยากบิน ขณะที่ผู้บังคับฝูงโกลลอบซึ่งมีเชื้อสายปรัสเซียยึดถือในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม แบล์และโกลลอบได้ใช้ความเหมือนกันในการเป็นเพชฌฆาตเวหาบนพื้นฐานของความแตกต่างด้านบุคลิกในการยึดครองน่านฟ้าเคิชร์-ทามาน
ไว้ได้สำเร็จตามแผนยุทธการ แม้ว่าทั้งสองคนจะไม่ค่อยกินเส้นกันเท่าใดนัก
ในวันที่
๑๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ แบล์ยิงเครื่องบิน Ishak ตกลงไปถึง ๕ ลำ และทำให้สถิติของเขาเพิ่มเป็น
๑๐๓ เครื่อง ขณะที่สถิติรวมของกองบิน ๗๗ หนึ่งโพแดง เพิ่มเป็น ๒,๐๑๑ เครื่อง
ในเดือนมิถุนายน
ค.ศ. ๑๙๔๒ ฝูงบิน ๑ กองบิน ๗๗ ได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติการในบริเวณเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งนับว่าเป็นน่านฟ้าที่สี่ของแบล์
(นับจากน่านฟ้ายุโรป น่านฟ้าอังกฤษ และน่านฟ้ารัสเซีย)
ที่นี่แบล์ต้องกลับมาพบกับคู่รักคู่แค้นเก่าคือเฮอร์ริเคนและสปิตไฟร์และนักบินอังกฤษและอเมริกันที่เชี่ยวชาญการรบมากกว่านักบินรัสเซียอีกครั้งหนึ่ง
แต่เมื่อมาถึงเขาก็แสดงตัวให้คู่ต่อสู้ได้รับรู้ถึงการมาของผู้ครองฟ้าโดยจัดการเฮอร์ริเคนและสปิตไฟร์ร่วงลงไป
๑๕ ลำ ก่อนที่จะได้รับคำสั่งให้เข้าไปปฏิบัติการเหนือน่านฟ้าที่ห้า คือ
น่านฟ้าแอฟริกาเหนือ โดยฝูงบินของแบล์ต้องเขาไปตั้งฐานปฏิบัติการในภูมิประเทศที่เป็นทะเลทรายอันแสนจะร้อนอบอ้าวของตูนิเซียซึ่งต่างจากภูมิประเทศและภูมิอากาศของรัสเซียที่เขาเพิ่งจากมาไม่นานอย่างสิ้นเชิง
ที่น่านฟ้าแอฟริกาเหนือนี้
แบล์ยังคงยอดเยี่ยมเหมือนเช่นเดิม
แต่เนื่องจากปฏิบัติการเหนือน่านฟ้าแอฟริกาเหนือชุกชุมมากเพราะฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการยึดให้ได้เพื่อตัดการครอบครองแหล่งน้ำมันของเยอรมัน
ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่ร้อนอบอ้าวมาก ทำให้แบล์มีความเครียดสูงจนไม่สามารถปฏิบัติการได้
ลุฟท์วาฟเฟ่จึงเรียกตัวเขากลับมาพักเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจที่เยอรมนี
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แบล์ทิ้งสถิติที่น่าจดจำไว้ที่แอฟริกาเหนือ
โดยเขาสามารถจัดการเครื่องบินข้าศึกลงได้ถึง ๖๑ เครื่องด้วยกัน (ลำดับที่
๑๑๘-๑๗๙)
ในฤดูใบไม้ผลิของปี
ค.ศ. ๑๙๔๔ (พ.ศ. ๒๔๘๗) เมื่อได้พักผ่อนเต็มที่แล้ว ลุฟท์วาฟเฟ่ได้แต่งตั้งแบล์เป็นผู้บังคับฝูงบิน
๒ กองบิน ๑ “Oesau” ซึ่งเป็นฝูงบินป้องกันน่านฟ้าของประเทศบ้านเกิด
และเลื่อนยศเขาเป็นนาวาอากาศตรี ที่นี่เขาต้องเปลี่ยนแบบเครื่องบินมาใช้เครื่องบินโฟลเก้
โวฟล์ (FW)
๑๙๐A-๗
ที่มีความสามารถในการสกัดกั้นสูงมาก และเขาสามารถเพิ่มสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตกจำนวน
๒๐๐ เครื่อง ในวันที่ ๒๒ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๔
และวันในที่ ๒๙ เมษายน แบล์เปลี่ยนมาใช้เครื่องบินโฟลเก้ โวฟล์ (FW)
๑๙๐A-๗
WNr
๔๓๑๐๐๗ ที่นักบินในกองบิน ๑ รู้จักในนาม “เรด ๑๓”
(Red ๑๓)
และเขาจัดการ P-๔๗
Thunderbolt
และเครื่องบินทิ้งระเบิด B-๒๔
Liberator
ได้เป็นลำดับที่ ๒๐๑ และ ๒๐๒ ในเช้าวันนั้นเอง
ในเดือนมิถุนายน
เขาได้รับการเลื่อนยศเป็นนาวาอากาศโทและลุฟท์วาฟเฟ่ย้ายเขาไปทำงานกับเครื่องบินขับไล่ที่เขาถนัดมากกว่าในกองบิน
๓ “Udet”
ต้นปี
ค.ศ. ๑๙๔๕ (พ.ศ. ๒๔๘๘) ลุฟท์วาฟเฟ่ได้แต่งตั้งแบล์เป็นผู้บังคับการแผนก ๓
กองโรงเรียนการบินขับไล่ไอพ่นที่เลชเฟลด์ เพื่อฝึกบินกับเครื่องบินขับไล่แบบแรกของโลก
แมสเซอร์ชมิด Me ๒๖๒A
และในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน ลุฟท์วาฟเฟ่ได้ยกฐานะของแผนก ๓ กองโรงเรียนการบินนี้เป็นฝูงบินขับไล่ไอพ่น
แบล์สามารถใช้พาหนะใหม่ของเขาขิงเครื่องบินข้าศึกตกเป็นเครื่องแรกเมื่อวันที่ ๑๙
มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ เหยื่อรายแรกของเขาในวันนั้นเป็นสุดยอดเครื่องบินขับไล่เครื่องยนต์ลูกสูบของอเมริกา
P-๕๑ Mustang จากนั้นแบล์สามารถจัดการกับเครื่องบินข้าศึกได้อีก
๑๒ เครื่อง ก่อนที่จะได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติหน้าที่ในฝูงบินที่ ๓ กองบินขับไล่ไอพ่นที่
๔๔ ภายใต้บังคับบัญชาของเพื่อเก่าของเขา พลอากาศตรี อด๊อฟ กัลลานด์ (Adolf Galland)
ซึ่งกองบินนี้รวบรวมยอดนักบินรบของเยอรมันไว้ด้วยกัน
เมื่อกัลลานด์ได้รับบาดเจ็บจากการรบ ลุฟท์วาฟเฟ่ได้เลื่อนยศเขาเป็นนาวาอากาศเอกและมีคำสั่งให้แบล์ดำรงตำแหน่งผู้บังคับฝูงบินนี้แทน
ณ ฝูงบินที่ ๓ กองบินขับไล่ไอพ่นที่ ๔๔ นี้เอง แบล์จัดการ P-๔๗
Thunderbolt
ได้อีกสามเครื่อง เครื่องสุดท้ายถูกเขายิงตกในวันที่ ๒๙ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕ หลังจากนั้นสงครามโลกครั้งที่สองได้ยุติลง
นาวาอากาศเอก
ฮายริช พริทซึล แบล์ สร้างสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตก จำนวน ๒๒๑ ลำ รั้งลำดับที่ ๘
ของยอดนักบินแห่งลุฟท์วาฟเฟ่และของโลก
และเป็นนักบินขับไล่ไอพ่นที่ยิงเครื่องบินข้าศึกตกมากที่สุดเป็นลำดับที่สองด้วยจำนวน
๑๖ ลำ นอกจากนี้ แบล์ยังเป็นเจ้าของสถิติเข้าร่วมทำการบินในทุกสมรภูมิของเยอรมันทั้งน่านฟ้ายุโรป
อังกฤษ รัสเซีย เมดิเตอร์เรเนียน แอฟริกา และแม้แต่น่านฟ้าเยอรมันเอง
รวมทั้งสถิติการบินกับยอดเครื่องบินขับไล่และสกัดกั้นทุกแบบของเยอรมัน
เขาถูกยิงตกรวม ๑๘ ครั้ง แต่สามารถรอดชีวิตมาได้ทุกครั้งจนกระทั่งเลิกสงคราม
แบล์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินเล็กตกที่เมืองบราวชไวน์
เยอรมนี ในวันที่ ๒๘ เมษายน ค.ศ. ๑๙๕๗ (พ.ศ. ๒๕๐๐) รวมอายุ ๔๔ ปี
[๑]กองบินนี้ต่อมาในวันที่
๒๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๑ (พ.ศ. ๒๔๘๔) ได้รับการขนานนามว่ากองบินโมลเดอร์ (Mölders)
เพื่อเป็นเกียรติแก่นายพลอากาศตรี Werner Mölders
ยอดนักบินอีกคนหนึ่งของเยอรมันผู้ทำสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตก ๑๐๑ เครื่อง และเสียชีวิตในการสู้รบทางอากาศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น