วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เดวิด แมคแคมพ์เบล (David McCampbell): ปฐมบทแห่งท๊อปกัน

                                                                                                         ปกรณ์ นิลประพันธ์






            ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้น กองทัพอเมริกันมีนักบินรบที่ฉกาจฉกรรจ์อยู่หลายคน ไม่ว่าจะเป็นพันตรี ริชาร์ด ไอ บอง (Richard I Bong) ที่ทำสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตกมากที่สุดเป็นลำดับที่หนึ่ง จำนวน 40 เครื่อง พันตรี โทมัส แมคไกว (Thomas McGuire) ที่ทำสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตกมากเป็นลำดับที่สอง จำนวน 38 เครื่อง รวมทั้งพันเอก ฟรานซิส กราเบรสกี้ (Francis Gabreski) ที่ยิงเครื่องบินข้าศึกตกมากเป็นลำดับที่สาม จำนวน 34.5 เครื่อง ทั้งสามคนนี้เป็นนักบินทหารบกทั้งสิ้น แต่นักบินที่ตกเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์และนิตยสารอเมริกันมากที่สุดกลับกลายเป็นนักบินกองทัพเรือผู้ทำสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตกมากเป็นลำดับที่สี่ ด้วยจำนวน 34 เครื่อง และกลายเป็นตำนานที่ท๊อปกันรุ่นหลัง ๆ ยกย่องเชิดชู ความดังของนักบินผู้นี้ไม่ใช่เป็นเพราะเขามีรูปร่างหน้าตาดี แต่เป็นเพราะยอดนักบินนาวีผู้นี้ทำสถิติยิงเครื่องบินรบชั้นยอดของญี่ปุ่นตกถึง 9 เครื่องในวันเดียวที่ยังไม่มีผู้ใดลบสถิตินี้ลงได้จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งความกล้าหาญในการพาลูกหมู่อีกเพียงลำเดียวบุกโจมตีฝูงบินญี่ปุ่น จำนวน 40 ลำ ที่ตั้งขบวนเข้าโจมตีกองเรือรบอเมริกัน จนกระทั่งฝูงบินญี่ปุ่นแตกพ่ายไม่เป็นขบวนท่ามกลางสายตานับพันคู่ของทหารประจำเรือ นักบินผู้นี้ คือ เรือเอก เดวิด แมคแคมพ์เบล

            เดวิด แมคแคมพ์เบล เกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ที่เมืองเล็ก ๆ ชื่อบีสเมอร์ ในมลรัฐอลาบามา ต่อมาได้ย้ายตามบิดามารดามาอาศัยที่เมืองเวสต์ ปาล์ม บีช มลรัฐฟลอริดา และเข้าศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่ Staunton Military Academy อันเก่าแก่ในรัฐเวอร์จิเนีย และที่ Geogia Tech ในมลรัฐแอตแลนต้า ก่อนที่จะเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนนายเรือ (US Naval Academy) ที่แอนนาโปลิส และเป็นแชมป์ว่ายน้ำและดำน้ำของโรงเรียน แมคแคมพ์เบลจบการศึกษาทางวิศวกรรม (เกียรตินิยม) จากโรงเรียนนายเรือเมื่อปี ค.ศ. 1933 (พ.ศ. 2476) ขณะที่มีอายุ 23 ปี และได้รับยกเว้นไม่ต้องรับราชการในกองทัพเรือเพื่อชดใช้ทุนเนื่องจากขณะนั้นรัฐบาลมีนโยบายจำกัดจำนวนข้าราชการทหาร แต่ในปีถัดมา กองทัพเรือได้เรียกตัวแมคแคมพ์เบลเข้ารับราชการหลังจากที่สหรัฐอเมริกาเริ่มมีปัญหากับญี่ปุ่นที่กำลังขยายอิทธิพลในเอเซียแปซิกฟิก

            ในฐานะที่จบการศึกษาเกียรตินิยมทางวิศวกรรม กองทัพเรือได้มอบหมายให้แมคแคมพ์เบลทำหน้าที่นายทหารสรรพาวุธสำหรับเครื่องบินประจำเรือบรรทุกเครื่องบินปอร์ตแลนด์ในปี ค.ศ. 1936 (พ.ศ. 2479) ในการทำหน้าที่นี้ทำให้แมคแคมพ์เบลหลงใหลมนต์เสน่ห์ของการบินจนทนไม่ไหว ในปีถัดมา เขาจึงร้องขอไปฝึกบินเพื่อเป็นนักบินที่โรงเรียนการบินนาวีที่เพนซาโคลา (Pensacola Naval Air Station) มลรัฐฟลอริดา แมคแคมพ์เบลจบการศึกษาในปี ค.ศ. 1938 (พ.ศ. 2481) และกองทัพเรือบรรจุเขาเป็นนักบินนาวีประจำฝูงบิน 4 กองบินประจำเรือบรรทุกเครื่องบินแรนเจอร์ (USS Ranger CV-4)

            หลังจากญี่ปุ่นเข้าโจมตีเพิล ฮาเบอร์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 (พ.ศ. 2484) และเรือบรรทุกเครื่องบินวอส์ฟ (USS Wasp CV-18) ถูกจมโดยเรือดำน้ำของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1942 (พ.ศ. 2485) ใกล้กับกัวดาคะแนล สหรัฐอมริกาหันมาให้ความสำคัญกับปฏิบัติการจากเรือบรรทุกเครื่องบินมากขึ้น และแมคแคมพ์เบลได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมฝูงบินที่ 15 (VF-15) ฉายาเรื่องเหลือเชื่อ (The Fabled Fifteen) และเขาต้องกลับสหรัฐฯเพื่อไปฝึกบินร่วมกับเพื่อร่วมงานใหม่และอุปกรณ์ใหม่ นั่นคือ กรัมแมน F6F Hellcats ก่อนที่กองทัพเรือจะมีคำสั่งให้ฝูงบินที่ 15 ไปประจำกองบินประจำเรือบรรทุกเครื่องบินเอสเซ็ก (USS Essex CV-9) เข้าร่วมปฏิบัติการโจมตีอิโวจิมา ฟอร์มอซา หมู่เกาะมาเรียน่า ปาเลา ฟิลิปปินส์ ในช่วงปี ค.ศ. 1943-1944 (พ.ศ. 2486-2487)
 

            ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1944 (พ.ศ. 2487) เมื่อมีอายุ 34 ปี แมคแคมพ์เบลได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ฝูงบินที่ 15 และเขากับผู้ใต้บังคับบัญชาได้สร้างตำนาน เรื่องเหลือเชื่อ ขึ้น โดยในระหว่างการออกปฏิบัติการในทะเลประมาณ 7 เดือน นั้น ฝูงบินที่ 15 ออกปฏิบัติการกว่า 20,000 ชั่วโมง จัดการกับเครื่องบินข้าศึกในอากาศได้ 318 เครื่อง ทำลายเครื่องบินข้าศึกที่จอดอยู่บนพื้นดินได้อีก 348 เครื่อง จมเรือข้าศึกทุกประเภทรวม 296,500 ตัน รวมทั้งเรือประจัญบานมุซาชิอันโด่งดัง นอกจากนี้ยังสามารถสร้างความเสียหายแก่เรือของข้าศึกได้อีกกว่า 500,000 ตัน สถิตินี้เป็นสถิติที่สูงที่สุดในบรรดากองบินทั้งหลายในสงครามแปซิกฟิก


            อย่างไรก็ดี งานหลักในระยะแรกของการเข้าปฏิบัติการของฝูงบินที่ 15 นั้น เป็นการโจมตีที่ตั้ง สนามบิน และเรือของข้าศึกเป็นส่วนมาก พวกเขาเริ่มงานต่อสู้ในอากาศอย่างจริงจังเมื่อกองทัพสหรัฐบุกโจมตีเกาะมาคัส (Marcus Island) หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่า มินามิ โทริชิมา (南鳥島) ซึ่งแปลว่า เกาะนกใต้ ในช่วงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1944 เกาะนี้เป็นเกาะรูปสามเหลี่ยมเล็ก ๆ ขนาดเพียง 1.2 ตารางกิโลเมตร ใกล้ ๆ กับเกาะเวค แต่เป็นฐานทัพเรือสำคัญของญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองและมีทหารญี่ปุ่นปฏิบัติการอยู่กว่า 4,000 คน และสถิติการทำลายเครื่องบินข้าศึกในอากาศของแมคแคมพ์เบลก็เริ่มขึ้นที่นี่

            ในวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1944 สามสัปดาห์หลังจากการเริ่มบุกยึดเกาะมาคัส  แมคแคมพ์เบลขับเฮลแคทคู่ชีพที่เขาตั้งชื่อว่า มินซี่ (Minsi) ออกลาดตระเวนใกล้ ๆ กับเกาะไซปัน เขาเห็นซีโร่ลำหนึ่งโผล่ออกมาจากหมู่เมฆอย่างกระทันหัน และเจ้าซีโร่เคราะห์ร้ายลำนั้นยังไม่ทันเห็นเขา แมคแคมพ์เบลจึงเร่งเครื่องวกเข้าโจมตีอย่างไม่รั้งรอ เมื่อเข้าไปใกล้และนักบินญี่ปุ่นเริ่มรู้ตัว เขาจึงยิงออกไป 3 ชุด ซีโร่ลำนั้นก็ร่วงลงไปอย่างง่ายดาย แมคแคมพ์เบลเล่าถึง ครั้งแรก ของเขาเรียบ ๆ ว่า ผมรู้ว่าผมสามารถยิงเขาตกได้ และผมก็ยิง ก็เท่านั้นเอง


            เมื่อยึดเกาะมาคัสได้ กองทัพอเมริกันก็เตรียมการบุกเกาะกวมและไซปันเป็นลำดับต่อไปโดยมีคำสั่งให้กองเรือบรรทุกเครื่องบินไปสนธิกำลังที่ทะเลฟิลิปปินส์ ฝ่ายเสนาธิการของกองทัพสมเด็จพระจักรพรรดิจึงเตรียมแผนการต่อสู้โดยจะส่งเครื่องบินจากฐานทัพในฟิลิปปินส์ไปโจมตีกองเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกันในทะเลฟิลิปปินส์ แล้วให้ไปร่อนลงเพื่อเติมน้ำมันและอาวุธที่สนามบินในเกาะกวมและไซปัน หลังจากนั้นให้บินย้อนกลับมาถล่มกองเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกันซ้ำอีกรอบ แล้วจึงบินกลับมาฟิลิปปินส์ โดยกำหนดปฏิบัติการในวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1944
  
            ในวันที่ 19 มิถุนายน การโจมตีของญี่ปุ่น เที่ยวไป ได้เริ่มขึ้นโดยญี่ปุ่นส่งเครื่องบินดำทิ้งระเบิดสองที่นั่งแบบ Aichi D4Y2 “Judy” และ Aichi D3A “Val” จำนวน 2 ฝูงบินใหญ่ ออกจากฟิลิปปินส์ โดยมีเครื่องบินขับไล่คุ้มกันจำนวนหนึ่ง และแบ่งการโจมตีออกเป็น 2 ระลอก เมื่อฝูงบินแรกเข้าโจมตีระลอกแรกแล้ว ฝูงบินที่สองจะโจมตีซ้ำ และ เที่ยวกลับ ก็เป็นไปอย่างเดียวกัน แต่เมื่อเรดาห์ของสหรัฐฯตรวจจับการรุกรานได้ ก็สามารถทราบเจตนาในการปฏิบัติการของญี่ปุ่นได้ทันทีและได้วางแผนการตั้งรับโดยให้เครื่องบินประจำเรือบรรทุกเครื่องบินอื่นรับผิดชอบต่อต้านการโจมตีระลอกแรก ส่วนฝูงบินที่ 15 รับผิดชอบต่อต้านการโจมตีระลอกที่สอง 
 

            เมื่อคลื่นการโจมตีระลอกแรกของญี่ปุ่นผ่านไป แมคแคมพ์เบลได้นำลูกฝูงอีก 8 ลำขึ้นครองอากาศเพื่อต่อต้านคลื่นการโจมตีระลอกที่สอง และเขาเปิดฉากการล่าเมื่อเวลา 11.39 น. เมื่อไล่จี้ Aichi D4Y2 “Judy” ลำหนึ่งที่พยายามพุ่งเข้าหากองเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯอย่างบ้าบิ่นไปอย่างกระชั้นชิดและยิงทันทีที่มองเห็นจูดี้ลำนั้นในศูนย์เล็ง จูดี้ลำนั้นเกิดระเบิดขึ้นทันที เมื่อแมคแคมพ์เบลพลิกหลบการระเบิดก็ปรากฏว่ามีจูดี้อีกลำหนึ่งเข้ามาขวางทางปืนพอดี มือไวเท่าความคิด เขายิงออกไปหนึ่งชุด จูดี้ผู้โชคร้ายลำนั้นก็หัวปักตกทะเลไป จากนั้น แมคแคมพ์เบลเลี้ยวเข้าหาขบวนบินของข้าศึกจากทางด้านหน้าแล้วจัดการเครื่องที่สามลงไปได้ ต่อมา เขาพุ่งเข้าหาหัวหน้าหมู่บินของข้าศึกท่ามกลางห่ากระสุนที่โปรยปรายมาจากหมู่บินญี่ปุ่น แล้วยิงทันทีที่เห็นซึ่งทำให้เครื่องของหัวหน้าหมู่บินญี่ปุ่นแตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เมื่อเขาหลบเศษโลหะก็พบผู้เคราะห์ร้ายขวางทางอยู่อีกหนึ่งลำ สัญชาติญาณทำให้เขาเหนี่ยวไกปืนโดยอัตโนมัติและผู้เคราะห์ร้ายรายนั้นก็กลายเป็นเหยื่อลำที่ 5 ของเขาในเช้าวันนี้


            สำหรับการโจมตี เที่ยวกลับ ระลอกที่สอง ของญี่ปุ่นในช่วงบ่ายที่อยู่ในความรับผิดชอบของแมคแคมพ์เบลนั้น เป็นการโจมตีที่เบาบางเนื่องจากญี่ปุ่นได้รับความเสียหายมากในช่วงเช้า แต่แมคแคมพ์เบล    ก็สามารถจัดการซีโร่ร่วงลงไปหนึ่งลำ หลังจากนั้น เขากับเรือโท จอร์จ ดันแคน ได้แยกจากลูกหมู่เพื่อบินกลับไปยังเรือบรรทุกเครื่องบินเอสเซ็กโดยปล่อยให้ลูกหมู่ที่เหลือปฏิบัติภารกิจครองอากาศต่อไป แต่ขณะที่อยู่ในระดับความสูง 6,000 ฟิต เหนือคาบสมุทรโอโรเต (Orote Peninsula) ของเกาะกวม แมคแคมพ์เบลเห็นซีโร่สองลำกำลังรุมกินโต๊ะเครื่องบินทะเล SOC ที่กำลังช่วยเหลือนักบินอเมริกันที่ลอยคออยู่ในทะเล แมคแคมพ์เบลจึงส่งสัญญาณให้ดันแคนจิกหัวเข้าโจมตีซีโร่ที่ไร้มนุษยธรรมนั้นทันที และทั้งสองสามารถสำเร็จโทษเจ้าซีโร่ได้คนละลำ รวมแล้วในวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1944 แมคแคมพ์เบลสามารถจัดการเครื่องบินข้าศึกตกได้ถึง 7 เครื่อง และการต่อสู้ทางอากาศเหนือทะเลฟิลิปปินส์ในวันนี้เป็นที่รู้จักกันในนาม การยิงไก่งวงที่หมู่เกาะมาเรียน่า (Marianas Turkey Shoot)



            ในระหว่างการบุกฟิลิปปินส์ แมคแคมพ์เบลยิงเครื่องบินญี่ปุ่นตกไปอีก 5 เครื่อง ในระหว่างวันที่ 12-13 กันยายน ค.ศ. 1944 และที่นี่เองเขาได้รับรู้ถึงความยอดเยี่ยมของเครื่องบินที่ญี่ปุ่นใช้ในการฝึกศิษย์การบินด้วย นั่นคือ Nakajima Ki-27 “Nate” เครื่องบินขนาดเล็กเครื่องยนต์เดียวที่ประทุนห้องนักบินเปิดโล่ง บินได้ช้า ติดอาวุธน้อย แต่มีความคล่องตัวสูงมาก โดยในเช้าวันนั้นเขาออกปฏิบัติภารกิจตามปกติและจัดการซีโร่ตกลงไปแล้ว 2 ลำ ขณะเดินทางกลับฐาน เจ้า Ki-27 “Nate” เคราะห์ร้ายที่บินโดยศิษย์การบินญี่ปุ่นมุดลงมาจากเมฆด้านบนลงมายิงเขาแล้วบินหนีไป โชคดีที่เขาไม่ได้รับอันตราย แมคแคมพ์เบลจึงไล่ตามไป แต่ศิษย์การบินผู้นั้นก็ไม่ใช่ย่อย สามารถบินหลบหลีกได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว แต่สุดท้ายแมคแคมพ์เบลก็สามารถเด็ดปีกศิษย์การบินผู้นี้ลงได้  และเมื่อสิ้นสุดเดือนกันยายน แมคแคมพ์เบลสามารถยิงเครื่องบินญี่ปุ่นตก จำนวน 19 เครื่อง


            ในวันที่ 24 ตุลาคม ระหว่างปฏิบัติการที่อ่าวเลย์เต้ ทหารประจำเรือบรรทุกเครื่องบินเอสเซ็กได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อมรบ เนื่องจากเรดาห์จับสัญญาณเครื่องบินข้าศึกได้เป็นจำนวนมาก นักบินได้รับคำสั่งให้ขึ้นบินเพื่อปฏิบัติการคุ้มกันกองเรือ แมคแคมพ์เบลไม่รั้งรอที่จะออกปฏิบัติการในครั้งนี้ด้วยแม้ว่าพลเรือตรี ฟอร์เรสต์ พี เชอร์แมน รองเสนาธิการประจำผู้บัญชาการกองเรือแปซิกฟิก (พลเรือเอก เชสเตอร์ ดับเบิลยู นิมิตช์) จะมีคำสั่งห้ามมิให้เขาในฐานะผู้บัญชาการกองบินประจำเรือบรรทุกเครื่องบินเอสเซ็กขึ้นบินก็ตาม

            แมคแคมพ์เบลขึ้นบินเป็นหมู่บินสุดท้ายจากเอสเซ็กพร้อมกับลูกหมู่อีก 6 ลำ พุ่งตรงไปยังหมู่บินข้าศึกทันที โดยเขาสั่งให้ลูกหมู่ 5 ลำ จัดการกับเครื่องบินทิ้งระเบิด ส่วนเขากับพลทหาร รอย รัชชิ่ง (Roy Rushing) จะจัดการเครื่องบินขับไล่คุ้มกัน โชคดีที่หมู่บินของข้าศึกได้เลี้ยวเพื่อวกกลับเข้ามาโจมตีกองเรือ แมคแคมพ์เบลกับรัชชิ่งจึงอยู่เหนือกว่าหมู่บินข้าศึกไปทางด้านหลัง และ ณ ตำแหน่งนั้นทำให้เขาพบว่าฝูงบินข้าศึกที่ระดมมาโจมตีกองเรือเอสเซ็กในครั้งนี้มีมากกว่า 40 ลำ เขาจึงวิทยุขอกำลังเสริม แต่ได้รับคำตอบว่า ไม่มีเครื่องบินที่สามารถขึ้นบินได้เหลืออยู่อีก ประกอบกับฝูงบินข้าศึกเริ่มปรับรูปขบวนเป็นรูปตัววีขนาดใหญ่ 3 ตัว และเริ่มโจมตี แมคแคมพ์เบลเห็นท่าไม่ดีจึงส่งสัญญาณให้รัชชิ่งเข้าโจมตีโดยไม่คิดถึงชีวิตตนเอง แล้วเขากับรัชชิ่งก็ได้สร้าง เรื่องเหลือเชื่อ ขึ้นอีกครั้งท่ามกลางสายตานับพันคู่ของเพื่อร่วมกองเรือที่เฝ้าดูอยู่ แมคแคมพ์เบลเห็นซีโร่ลำขวาสุดของขบวนบินไม่ทันระวังตัว เขาจึงโฉบตามหลังมันไปและยิงไปเพียงชุดเดียว    ซีโร่ผู้ประมาทลำนั้นก็เกิดไฟลุกท่วมและถึงกาลอวสานไปอย่างรวดเร็ว รัชชิ่งก็สามารถเก็บได้หนึ่งลำเช่นเดียวกัน แต่เหลือเชื่อที่ขบวนบินของญี่ปุ่นขบวนนี้กลับไม่มีปฏิกิริยาต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด และไม่มีเครื่องบินคุ้มกันลำใดบินตามมาเก็บเขากับรัชชิ่งอย่างที่ควรจะเป็น พวกแจ๊บยังคงบินทื่อเข้าโจมตีกองเรืออย่างแน่วแน่ แมคแคมพ์เบลกับรัชชิ่งจึงพุ่งเข้าหาหมู่บินต้องมนต์สะกดนั้นอีกครั้งหนึ่ง  แมคแคมพ์เบลสามารถระเบิดซีโร่กลางอากาศได้อีกหนึ่งลำ แต่คราวนี้ดูเหมือนเสียงระเบิดจะปลุกนักบินคุ้มกันของญี่ปุ่นให้ตื่นจากภวังค์ ทั้งซีโร่ โทนี่ (Toni: Kawasaki Ki-61-I “Hien”) แฮมพ์ (Hamp: Zero type 32 (A6M3)) และออสก้า (Oscar:Nakajima Ki-43 “Hayabusa”) บินเข้ามากินโต๊ะแมคแคมพ์เบลและรัชชิ่ง  แต่แมคแคมพ์เบลก็ยังสามารถจัดการเครื่องที่สามลงได้

            เนื่องจากผู้มาเยือนบินมาจากฐานบินบนบกที่เกาะลูซอนและไม่มีน้ำมันมากพอที่จะพันตูกับเครื่องบินสหรัฐฯที่ขึ้นบินจากเรือบรรทุกเครื่องบิน ดังนั้น เมื่อเสร็จสิ้นการโจมตี ฝูงบินญี่ปุ่นจึงแปรขบวนเป็นรูปตัววี บ่ายหน้ากลับไปยังเกาะลูซอนทันที แมคแคมพ์เบลกับรัชชิ่งจึงไล่ติดตามไปสอยขบวนบินนั้นอย่างใจเย็น โดยแมคแคมพ์เบลสามารถจัดการออสก้าลงไปได้อีก 6 ลำ รวมทั้งหมดที่เขายิงได้ในวันนี้ 9 ลำด้วยกัน และเมื่อบินลงปรากฏว่าเขายังเหลือกระสุนอยู่อีก 2 ชุด และยังมีน้ำมันที่จะบินต่อได้อีก 10 นาที ส่วนรัชชิ่งทำได้ 6 ลำ และความกล้าหาญของเขาในวันนี้ทำให้เขาได้รับเหรียญ Congressional Medal of Honor จากประธานาธิบดีรูสเวลท์

            ในการออกปฏิบัติราชการสนามกับเอสเซ็กในช่วงปี ค.ศ. 1943-1944 (พ.ศ. 2486-2487) เพียงช่วงเดียว เดวิด แมคแคมพ์เบล สามารถยิงเครื่องบินญี่ปุ่นตกถึง 34 ลำ หากเขาออกปฏิบัติการสนามนานกว่านี้ เขาอาจมีสถิติเหนือกว่าพันตรี ริชาร์ด ดิ๊ค บอง ก็ได้
 
             หลังสงคราม แมคแคมพ์เบลยังคงรับราชการในกองทัพเรือจนเกษียณอายุในปี ค.ศ. 1964 และได้รับการยกย่องว่าเป็นปฐมบทแห่งท๊อปกัน และเมื่อมีการย้ายโรงเรียนการบินท๊อปกัน (United States Navy Fighter Weapons School) จากมิราม่าในแคลิฟอร์เนียไปที่ฟอลลอน เนวาด้า ในปี ค.ศ. 1996 ได้มีการเสนอให้ตั้งชื่ออาคารเรียนว่าแมคแคมพ์เบล เพื่อเป็นเกียรติแก่ท๊อปกันตัวจริงเสียงจริงผู้นี้ด้วย แมคแคมพ์เบลเสียชีวิตด้วยโรคชราเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1996 รวมอายุ 86 ปี ศพของเขาได้รับการฝังไว้ในอนุสรณ์สถานแห่งชาติอาร์ลิงตัน


3 ความคิดเห็น:

  1. ขอประวัติOtto Kittel และ Walter Nowotny หน่อยครับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ได้ครับ นักบินสหรัฐอเมริกาสามารถจัดการเครื่องบินข้าศึกได้ไม่เกิน 40 เครื่อง ซึ่งหลังจากนั้นต้องไปสอนประสบการณ์ให้กับนักบินรุ่นใหม่

    ตอบลบ