ปกรณ์ นิลประพันธ์
แม้อด๊อฟ กัลลานด์ (Adolf
Galland) หรือที่เพื่อนสนิทเรียกเขาว่า “ดอลโฟ่”
(Dolfo) จะมิได้เป็นผู้ทำสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตกมากที่สุดของลุฟวัฟเฟ่
แต่ดูเหมือนว่าเขาจะเป็นที่รู้จักมากกว่าอีริค ฮาร์ทมาน
ยอดเพชฌฆาตหมายเลขหนึ่งของลุฟวัฟเฟ่และของโลกเสียอีก เพราะนักบินหนวดจิ๋มผู้ชมชอบการสูบซิการ์เป็นชีวิตจิตใจผู้นี้นอกจากจะเป็นอัจฉริยะทางการบินแล้ว
เขายังเป็นผู้ที่มีความคิดทางยุทธการที่เฉียบแหลม ฝีปากกล้า และมีบุคลิกที่โดดเด่นกว่าใคร
ๆ จนได้รับแต่งตั้งเป็นนายพลอากาศตรีตั้งแต่อายุเพียง 30 ปี
ที่โดดเด่นมากที่สุดเห็นจะเป็นความกล้าหาญในการแสดงความคิดเห็นที่ไม่สอดคล้องกับผู้บังคับบัญชาในยุคเผด็จการ
และความคลั่งไคล้ในการประดิษฐ์คิดค้นจนสามารถ “โม”
อำนาจการยิงของปืนประจำเครื่อง และเกราะป้องกันของเจ้าเมสแซอร์ชมิดท์ Bf
109 คู่ชีพให้ดีกว่าของ “เดิม
ๆ” เขาทำแม้กระทั่งที่จุดซิการ์ของโปรดไว้ในค๊อกพิททีเดียว!!!
กัลลานด์เกิดเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ.
1912 (พ.ศ. 2455) ที่เมืองเล็ก ๆ ชื่อเวสเท่อร์โฮลท์ (Westerholt)
ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับทะเลเหนือทางตอนเหนือของเยอรมันด้านที่ติดกับเนเธอร์แลนด์
หนุ่มจากแคว้นเวสต์ฟาเลียผู้นี้เป็นบุตรของนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้มีอันจะกินคนหนึ่งของเมือง
กัลลานด์มีพี่ชายหนึ่งคน ชื่อ “ฟริตซ์”
และน้องชายอีก 2 คน ชื่อ “วิลเฮลม์”
และ “พอล”
ซึ่งต่อมา น้องชายทั้งสองของอด๊อฟได้เจริญรอยตามเขาเข้ามาเป็นนักบินรบของลุฟท์วาฟเฟ่ด้วย
แต่ชะตาชีวิตกลับแตกต่างจากเขาโดยสิ้นเชิง พอลซึ่งมีสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตก 17
ลำ ถูกยิงตกในปี ค.ศ. 1943 ส่วนวิลเฮลม์ซึ่งมีสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตก 54 ลำ
ถูกยิงตกในปี ค.ศ. 1944
กัลลานด์ชอบการบินมากและมุ่งมั่นจะเอาดีด้านนี้มาตั้งแต่เด็ก
เขาเริ่มทำโมเดลเครื่องบินแบบต่าง ๆ มาตั้งแต่อายุ 12 ปี และเมื่ออายุ 16 ย่าง 17
หลังจากที่จบมัธยมต้น
เขาได้เข้าเรียนต่อในโรงเรียนขนส่งทางอากาศของเยอรมันที่บรันส์วิค (Brunswick)
เมื่อได้รับใบอนุญาตผู้ทำการในอากาศในฐานะนักบินพาณิชย์ในปี ค.ศ. 1933 (พ.ศ. 2476)
ขณะที่มีอายุ 21 ปี เขาได้รับเชิญ “แกมบังคับ”
จากรัฐบาลนาซีให้เข้าร่วมในกองกำลังทางอากาศ “ลับ”
ของเยอรมันโดยการเข้าทำงานในสายการบินแห่งชาติลุฟท์ฮันซ่า เมื่อมีการตั้งลุฟท์วาฟเฟ่ในปีถัดมา
กัลลานด์จึงกลายเป็นนักบินของลุฟท์วาฟเฟ่โดยอัตโนมัติ
และเข้ารับการฝึกบินเปลี่ยนแบบและฝึกบินรบที่โรงเรียนการฝึกบินรบที่ชไลชีม (Schleissheim)
เมืองเล็ก ๆ ทางตอนเหนือของมิวนิค โดยลุฟท์วาฟเฟ่กำหนดให้ใช้เจ้านกขมิ้นเหลืองอ่อน
(Stieglitz) หรือเครื่องบินแบบ Focke-Wulf 44 (Fw-44)
ปีก 2 ชั้นเป็นเครื่องบินฝึกมาตรฐาน
Stieglitz
ในปี ค.ศ. 1935 (พ.ศ. 2478) เจ้านกขมิ้นเหลืองอ่อนที่กัลลานด์ใช้ฝึกบินประสบอุบัติเหตุเข้าควงโหม่งโลก
เมื่อหน่วยกู้ภัยไปถึงจุดที่เครื่องตกก็พบว่ากัลลานด์นอนหายใจรวยริน
กระดูกหักหลายแห่ง ดั้งจมูกหัก และตาพร่าเกือบมองไม่เห็นเนื่องจากเศษกระจกทิ่มตา
เขาต้องอยู่ในห้อง ICU
เนื่องจากมีอาการโคม่าถึง 3 วัน แต่กระนั้น แพทย์ได้รักษาเขาจนหายดี และพันตรี
ไรเต็ล (Rheitel) ครูการบินซึ่งเสียดายทักษะการบินอันโดดเด่นของเขาได้ช่วยเหลือจนกัลลานด์ไม่แหยงและกลับมาทำการบินได้อีกครั้งทั้งที่ตายังพร่าอยู่
เขาทำทุกวิถีทางแม้กระทั่งการใช้วิธีท่องจำตัวเลขและตัวอักษรทุกตัวที่อยู่บนกระดาษทดสอบสายตาเพื่อให้ผ่านการทดสอบสมรรถนะการมองเห็น
จนทำให้เขาจบเป็นนักบินพร้อมรบได้สำเร็จในที่สุด หลังจากนั้น
ลุฟท์วาฟเฟ่ได้มีคำสั่งให้เรืออากาศตรี กัลลานด์ เป็นนักบินประจำกองบินขับไล่หนึ่งเครื่องยนต์
ที่ 2 (Jagdgeschwader 2:
JG 2) “ริชโธเฟ่น”
แต่ขณะนั้น ลุฟท์วาฟเฟ่ยังคงใช้เครื่องบิน Arado Ar 68
(ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่แบบแรกที่เยอรมันสร้างขึ้นหลังจากฉีกสนธิสัญญาแวซายล์ทิ้ง)
เป็นเครื่องบินขับไล่มาตรฐาน กัลลานด์จึงต้องบินกับ Ar
68 และในปี ค.ศ. 1936 (พ.ศ. 2479) เจ้า Ar 68 ของเขาก็พาเขาโหม่งโลกอีกคำรบหนึ่ง
แต่จากประสบการณ์เครื่องบินตกในครั้งแรกทำให้เขาไม่ได้รับบาดเจ็บปางตายอย่างคราวก่อน
JG 2
ในปี ค.ศ. 1937 (พ.ศ. 2480)
กัลลานด์และทหารอากาศรุ่นหนุ่มอีกจำนวนมากที่ต่อมากลายเป็นเสืออากาศในสงครามโลกครั้งที่สอง
เช่น ฮานเนส เทราลอฟ (Hannes Trautloft)
วิลเฮลม์ บัลทาซ่า (Wilhelm Balthasar) กุนเท่อร์
ลุทซอว์ (Günther Lützow)
เป็นต้น อาสาสมัครไปรบในสงครามกลางเมืองเสปนในนามของหน่วยบิน “คอนดอ
ลีเยียน” (Condor
Legion) อันโด่งดังภายใต้การบังคับบัญชาของพลอากาศโท
ฮูโก เสปอเริ่ล (Hugo Sperrle) โดยเดินทางไปถึงเมืองท่าเอล
เฟอรอล (El Ferrol)
ตอนเหนือของเสปน เมื่อเดือนพฤษภาคม
และกัลลานด์ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บังคับฝูงบิน 3 กองบิน J/88
ซึ่งใช้เครื่องบินขับไล่ปีกสองชั้นแบบเก่า Heinkel He-51
เพื่อปฏิบัติหน้าที่โจมตีและสนับสนุนภาคพื้นดิน ขณะที่กุนเท่อร์ ลุทซอว์
ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บังคับฝูงบินซึ่งใช้เครื่องบินขับไล่แบบใหม่เอี่ยมของเยอรมัน
เมสเซอร์ชมิดท์ Bf-109
เพื่อปฏิบัติหน้าที่ฝูงบินขับไล่และครองอากาศ
เมื่อเยอรมันเข้าโจมตีโปแลนด์ในปี
ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2482) อันเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง เรืออากาศโท กัลลานด์
ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บังคับฝูงบินที่ 4 กองบินทดสอบที่ 2 ((4S)/LG
2) ซึ่งใช้เครื่องบินแบบ Henschel Hs
123 และเขาได้ออกปฏิบัติการบินทดสอบการโจมตีและสนับสนุนภาคพื้นดินในแนวหน้าถึง 50
เที่ยวบินและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจนทำให้ได้รับกางเขนเหล็กเป็นเครื่องหมายยืนยันความสามารถและความกล้าหาญ
Henschel Hs
123
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1940 (พ.ศ.
2483) ลุฟท์วาฟเฟ่มีคำสั่งเลื่อนยศกัลลานด์เป็นเรืออากาศเอก (Hauptmann)
และย้ายเขาไปปฏิบัติหน้าที่รองผู้บังคับการฝูงบิน (Geschwader
Adjutant) ประจำกองบินขับไล่หนึ่งเครื่องยนต์
ที่ 27 (JG 27) ซึ่งตั้งอยู่ที่เครเฟลด์
โดยมีนาวาอากาศโท แม๊กซ์ อีเบล (Oberleutnant
Max Ibel) เป็นผู้บังคับการกองบิน ทำหน้าที่ครองอากาศในการบุกเบลเยี่ยมและฝรั่งเศส
และในตอนสายของวันที่ 12 พฤษภาคม ในการลาดตระเวนทางตะวันตกของเมืองลีเอจของเบลเยี่ยม
เขากับลูกหมู่บินไปพบกับฝูงบินเฮอร์ริเคนจากฝูงบินที่ 87 ที่กองบินหลวงอังกฤษส่งมาช่วยเหลือเบลเยี่ยมและฝรั่งเศสเมื่อเวลาประมาณ
10.10 น. กัลลานด์จึงเข้าโจมตีและจัดการเฮอร์ริเคนหมายเลข L1970
ลงได้หนึ่งเครื่อง และจากนั้นอีก 10 นาที เขาก็สามารถสำเร็จโทษเฮอร์ริเคนหมายเลข L1632
ลงได้อีกหนึ่งเครื่อง แล้วบินกลับเครเฟลด์เพื่อฉลองชัยชนะ และหลังจากฉลองเสร็จ
กัลลานด์ได้รับคำสั่งให้ออกปฏิบัติการเที่ยวบ่ายอีกรอบ
และเที่ยวนี้เขาก็สามารถเก็บเกี่ยวชัยชนะเหนือเฮอร์ริเคนของกองบินหลวงได้อีกหนึ่งลำ
สิริรวมวันแรกเขาจัดการเฮอร์ริเคนลงได้ถึง 3 ลำทีเดียว นับว่าเป็นการประเดิมชัยชนะที่สวยหรู
และเมื่อสิ้นสุดเฟร้นช์ เคมเปญจน์ในตอนต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1940
กัลลานด์สามารถยิงเครื่องบินข้าศึกตกได้อีก 9 ลำ รวมทั้งสิ้น 12 ลำ
เมื่อยึดฝรั่งเศสได้แล้ว
เยอรมันเตรียมเข้าโจมตีอังกฤษต่อไปตามแผนยุทธการสิงโตทะเล (Sea
Lion) โดยในส่วนของการครองอากาศนั้น
ลุฟท์วาฟเฟ่ได้จัดแจงโยกย้ายนักบินรบชั้นยอดและมีประสบการณ์โชกโชนมาร่วมยุทธการนี้อย่างคับคั่ง
กัลลานด์ก็เป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ตัวสำคัญของลุฟท์วาฟเฟ่ โดยลุฟท์วาฟเฟ่ได้ย้ายเขามาเป็นผู้บังคับฝูงบินที่
3 ประจำกองบินขับไล่หนึ่งเครื่องยนต์ที่ 26 (III./JG
26 ชเลกีเตอร์ (Schlageter)
(สมญานามของกองบินนี้ (Schlageter)
ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่อัลเบิตร์ เลโอ ชเลกีเตอร์ (Albert Leo Schlageter) จารชนผู้เก่งกาจของเยอรมันซึ่งถูกฝรั่งเศสประหารชีวิตในมหาสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง)
โดยมีนาวาอากาศตรี ก๊อททาร์ท แฮนดริกซ์ (Gotthardt Handrick)
เป็นผู้บังคับการกองบิน
JG
26 Schlageter
เที่ยวบินแรกในฐานะผู้บังคับฝูง เมื่อวันที่
14 มิถุนายน กัลลานด์โชว์ศักยภาพให้ลูกน้องชมทันที โดยการออกปฏิบัติการในตอนเย็น
เขาส่งบริสทอล เบลนไฮม์ และแบทเทิ่ล ของกองบินหลวงอังกฤษลงไปกองกับพื้นได้ถึง 2
ลำในเวลาห่างกัน 13 นาที และในวันที่ 18
กรกฎาคม ลุฟท์วาฟเฟ่ได้เลื่อนยศเขาเป็นนาวาอากาศตรี หลังจากนั้นอีกหกวัน
นาวาอากาศตรีคนใหม่นำลูกฝูงไปทำหน้าที่คุ้มกันเครื่องบินทิ้งระเบิดและสามารถยิงสปิตไฟร์แห่งฝูงบิน
54 ของกองบินหลวงอังกฤษตกหนึ่งลำทางตอนเหนือของเมืองมาร์เกต (Margate)
เมื่อเวลา 13.30 น. เครื่องบินลำนี้ขับโดยเสืออากาศอังกฤษ เรืออากาศเอก จอนห์นี่
อัลเลน (Johnny Allen)
ซึ่งจัดการเครื่องบินเยอรมันมาแล้ว 7.33 เครื่อง และที่ยังไม่ยืนยันอีก 5 เครื่อง ในวันถัดไปเขายังสร้างปัญหาให้แก่ฝูงบินที่
54 ของกองบินหลวงอังกฤษต่อไปโดยยิงสปิตไฟร์ของฝูงบินนี้ตกอีกหนึ่งเครื่องเหนือช่องแคบโดเวอร์ในการลาดตระเวนตอนบ่ายสี่โมงเย็น
ในวันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1940
เยอรมันส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดฝูงใหญ่เข้าถล่มเกาะอังกฤษอีกระลอก โดยมอบหมายให้ฝูงบินที่
1 และ 2 ประจำกองบินขับไล่หนึ่งเครื่องยนต์ที่ 51 (I. and II./JG
51) และฝูงบินที่ 3 ประจำกองบินขับไล่หนึ่งเครื่องยนต์ที่ 26 (III./JG
26) ของกัลลานด์ทำหน้าที่คุ้มกันฝูงบินทิ้งระเบิดนี้ด้วย
แต่เมื่อบินไปก็พบว่ากองบินหลวงได้ส่งทั้งสปิตไฟร์และเฮอร์ริเคนมารอต้อนรับอยู่กลางช่องแคบโดเวอร์หรือเกือบกลางทาง
ฝูงบินทิ้งระเบิดจึงได้รับคำสั่งให้กลับหลังหันทันทีโดยปล่อยให้ฝูงบินขับไล่ของกองบินหลวงจวกกับฝูงบินขับไล่คุ้มกันของเยอรมันแทน
ทำให้การเผชิญหน้ากันในครั้งนี้สมน้ำสมเนื้อพอสมควร เพราะทุกทีเครื่องบินขับไล่คุ้มกันของเยอรมันต้องบินลึกเข้าไปในอังกฤษจนนักบินล้าและมีน้ำมันเหลือน้อยจนหลายครั้งที่
ในการต่อสู้ครั้งนี้
กัลลานด์จับคู่กับเสืออากาศอีกคนหนึ่งของอังกฤษโดยบังเอิญ คือ เรือตรี ฟรานซิส
ดอว์สัน-พอล (Francis Dawson-Paul)
นักบินแห่งราชนาวีที่กองบินหลวงยืมตัวมาและจัดการเครื่องบินเยอรมันมาแล้ว 7.25
เครื่อง รวมทั้งที่ยังไม่ยืนยันอีก 1 เครื่อง
กัลลานด์ซึ่งขณะนั้นมีสถิติดีกว่าดอว์สัน-พอล นิดหน่อย (16 เครื่อง) ใช้เวลาพอสมควรในการจัดการให้ยอดนักบินของกองบินหลวงอังกฤษลงไปลอยคอในช่องแคบโดเวอร์ได้และเพิ่มสถิติของเขาเป็น
17 เครื่อง และทำให้เขาได้รับกางเขนเหล็กชั้นอัศวิน (Ritterkreuz)
ในวันที่ 1 สิงหาคม
หลังจากจัดการกับดอว์สัน-พอล ได้แล้ว กัลลานด์สามารถล่าเฮอร์ริเคนได้อีกสองลำ
และในวันที่ 15 สิงหาคม ระหว่างออกบินครองอากาศเหนือช่องแคบโดเวอร์ เขาโคจรไปพบกับฝูงบินสปิตไฟร์รักษาราชอาณาจักรของกองบินหลวงซึ่งนำหมู่โดยเรืออากาศโท
อัล ดีรี่ (Al Deere) ผู้โด่งดังของกองทัพอากาศนิวซีแลนด์
ซึ่งจัดการเครื่องบินเยอรมันไปแล้ว 17.33 เครื่อง และมาปฏิบัติการอยู่ที่ฝูงบิน 54
ของกองบินหลวง และ กัลลานด์และดีรี่เข้าพันตูกันเป็นเวลาไม่นานนัก และกัลลานด์สามารถหักปีกสปิตไฟร์ของดีรี่ลงได้
ทำให้ดีรี่ต้องกระโดดร่มลงไปจิบน้ำทะเลอันหนาวเย็นของช่องแคบโดเวอร์แทนการจิบน้ำชาตอนบ่ายที่ฝูงบิน
54 เหมือนเช่นที่เคย ความยอดเยี่ยมของกัลลานด์นี้เองทำให้นักบินฝูงบิน 54
ของกองบินหลวง ถือว่าผู้บังคับฝูงบินที่ 3 ประจำกองบินขับไล่หนึ่งเครื่องยนต์ที่
26 เป็น “ตัวแสบ”
ที่ต้องเก็บให้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ตอนค่ำวันเดียวกัน กัลลานด์ยังเก็บสปิตไฟร์ประจำฝูงบินที่
64 ลงได้อีก 2 ลำ (รวมเป็น 22 ลำ) ซึ่งทำให้นักบินฝูงบิน 64 ของกองบินหลวง
ร่วมหมายหัวเขาด้วยนักล่าผู้ชำนาญฟ้าต้องพลาดท่าให้แก่
“มือใหม่หัดขับ”
ของกองบินหลวงอย่างง่าย ๆ
สัญลักษณ์ของกัลลานด์
แม้จะถูกหมายหัว แต่ในช่วงสองเดือนระหว่างวันที่
25 สิงหาคม ถึงวันที่ 24 กันยายน ค.ศ. 1940 ผู้บังคับฝูง กัลลานด์
กลับอาละวาดหนักกว่าเดิม เขาส่งเครื่องบินของกองบินหลวงลงพื้นบ้างลงน้ำบ้าง รวม 19
เครื่อง เป็นดีไฟแอนท์ (Defiant)
1 เครื่อง สปิตไฟร์ 6 เครื่อง และเฮอร์ริเคนถึง 12 เครื่อง
จนกลายเป็นนักล่าพายุ(เฮอร์ริเคน)อย่างแท้จริง และทำให้เขาได้รับใบโอ๊ค (Eichenlaub)
มาประดับกางเขนเหล็กเมื่อวันที่ 25
กันยายน ค.ศ. 1940
และเมื่อเขาจัดการสปิตไฟร์ประจำฝูงบินที่ 41 ของกองบินหลวงลงได้เป็นเครื่องที่ 50
เมื่อเวลา 17.40 น. ของวันที่ 30
ตุลาคม ค.ศ. 1940 ลุฟท์วาฟเฟ่ได้เลื่อนยศเขาเป็นนาวาอากาศโทเมื่อวันที่ 1
พฤศจิกายน ค.ศ. 1940 และมอบหมายให้เขาเป็นผู้บังคับกองบินขับไล่หนึ่งเครื่องยนต์ที่
26 (JG 26) แทนนาวาอากาศตรี ก๊อททาร์ท
แฮนดริกซ์ (Gotthardt
Handrick)
และเลื่อนยศเขาเป็นนาวาอากาศเอกในเดือนถัดมา
ในวันที่
17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1940 ผู้บังคับกองบินกัลลานด์ นำกองบินขับไล่หนึ่งเครื่องยนต์ที่
26 ให้การคุ้มกันเครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิดเมสเซอร์ชมิดท์ Bf-110
จากกองบินโจมตีทิ้งระเบิด ที่ 210 เข้าโจมตี ตำบลมาเทิลแช่ม ฮีท (Martlesham
Heath)
และพบกับการต่อต้านจากนักบินเฮอร์ริเคนผู้กล้าหาญของกองบินหลวง ในฐานะนักล่าพายุ
กัลลานด์สามารถจัดการเฮอร์ริเคนลงได้หนึ่งลำซึ่งขับโดยยอดนักบินอังกฤษอีกคนหนึ่ง
คือ เคาน์ท มานเฟรด เซอร์นิน (Count Manfred Czernin)
แห่งฝูงบินที่ 17 ซึ่งยิงเครื่องบินเยอรมันตกมาแล้ว 17 ลำ
แต่เซอร์นินโชคดีสามารถกระโดดร่มออกมาได้โดยไม่ได้รับบาดเจ็บ
ขณะที่เฮอร์ริเคนของเขาร่วงลงไปกองกับพื้นแหลกละเอียด และเมื่อสิ้นปี ค.ศ. 1940
กัลลานด์สามารถยิงเครื่องบินข้าศึกตกรวม 58 เครื่อง
ซึ่งถือว่ายอดเยี่ยมมากเพราะนักบินอังกฤษไม่ใช่หมูและสู้ยิบตา
ขณะที่เฮอร์ริเคนและสปิตไฟร์เองก็มีคุณสมบัติพอฟัดพอเหวี่ยงกับเมสเซอร์ชมิดท์ Bf-109
ทีเดียว
ในช่วงครึ่งแรกของปี ค.ศ. 1941 (พ.ศ.
2484) การโจมตีอังกฤษซาลงไปเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงแผนยุทธการ
โดยการยุติการโจมตีอังกฤษแล้วเปลี่ยนไปโจมตีรัสเซียด้านตะวันออกตามแผนยุทธการบาบารอสซ่าที่กำหนดขึ้นใหม่แทน
กองบินขับไล่หนึ่งเครื่องยนต์ที่ไม่ได้โอนไปครองน่านฟ้าตะวันออกจึงได้รับมอบหมายให้เน้นการครองอากาศในดินแดนยึดครองเพื่อป้องกันการทิ้งระเบิดโต้ตอบจากอังกฤษแทนการคุ้มกันการทิ้งระเบิดเหมือนเดิม
ความร้อนแรงของกัลลานด์จึงดูเหมือนจะลดลงตามไปด้วย ในช่วง 6 เดือนแรกของปี
กองบินขับไล่หนึ่งเครื่องยนต์ที่ 26 ซึ่งตั้งฐานบินอยู่ที่ปลาส เดอ กาเลส์
ประเทศฝรั่งเศส ไม่ค่อยพบกับเครื่องบินอังกฤษจัง ๆ เหมือนก่อน ทำให้กัลลานด์ยิงเฮอร์ริเคนและสปิตไฟร์ที่เข้ามาเอี่ยวในดินแดนยึดครองของเยอรมันตกไปอย่างละ
5 และ 4 เครื่อง ตามลำดับเท่านั้น
ในวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1941 ดูเหมือนจะเป็นวันที่โชคร้ายของกัลลานด์
หลังจากจัดการเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบบริสทอล เบรนฮายม์ ลงได้ 2 เครื่อง
เมื่อประมาณ 12.30 น. กัลลานด์ก็ถูกยิงโดยสปิตไฟร์ที่คุ้มกันขบวนทิ้งระเบิดจนไม่สามารถกางฐานล้อได้และต้องลงฉุกเฉินโดยเอาท้องไถพื้น
แต่เขาไม่ได้รับบาดเจ็บ และสามารถออกปฏิบัติการรอบเย็นได้ ซึ่งในรอบเย็นนี้เขาจัดการสปิตไฟร์ที่คุ้มกันขบวนทิ้งระเบิดลงได้หนึ่งลำ
เป็นลำดับที่ 69 ของเขา แต่เสี้ยววินาทีที่ตามไปดูเพื่อความแน่ใจและขาดความระมัดระวังนั้น
สปิตไฟร์ที่คุ้มกันขบวนทิ้งระเบิดลำหนึ่งซึ่งขับโดยนักบินโปแลนด์ ชื่อ โบเลสลอว์
โดรบินสกี้ (Boleslaw Drobinski)
แห่งฝูงบินที่ 303 ของกองบินหลวง ซึ่งยิงเครื่องบินเยอรมันร่วงไปแล้ว 7.13 เครื่อง
ได้ฉวยโอกาสตามมายิงเขาจัง ๆ จนเครื่องบินของเขาเกิดเพลิงไหม้ โชคดีที่ยังไม่เป็นอะไรเพราะเขาสั่งให้ไมเออร์
(Unteroffizier Meyer) ช่างประจำฝูง
“โม”
เกราะห้องนักบินเสียใหม่โดยติดเกราะเพิ่มในตอนเช้าและเกราะที่ว่านี้เองช่วยให้เขามีชีวิตรอดจากกระสุน
20 มม.จากสปิตไฟร์ของโดรบินสกี้ได้ แต่เมื่อจะกระโดดร่มออกมา
ประทุนห้องนักบินเกิดเปิดไม่ออก เขาต้องใช้เวลาอยู่นานกว่าจะกระโดดร่มออกมาได้
แต่ระยะสูงเหลือน้อยมาก ร่มกางก่อนที่เขาจะถึงพื้นเพียงเล็กน้อย
ทำให้กัลลานด์หัวแตกเลือดอาบและมีแผลตามตัวหลายแห่ง ต้องอยู่โรงพยาบาล 12 วัน
และเมื่อออกจากโรงพยาบาลกลับมาถึงฝูง เขาตบรางวัลให้ไมเออร์ช่างประจำฝูงถึง 100
มาร์ค
หลังจากกลับมาปฏิบัติการรบได้อีกครั้ง
กัลลานด์ยิงบริสทอล เบรนฮายม์ ตกในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1941 ซึ่งเป็นการยิงเครื่องบินข้าศึกตก
70 ลำ ทำให้กัลลานด์ได้รับดาบ (Schwerten)
มาประดับกางเขนเหล็กประดับใบโอ๊ค และเกอร์ริ่งมีคำสั่งห้ามมิให้เขาออกบินอีกเพราะเกรงว่าจะเป็นอันตราย
แต่กัลลานด์กลับทำหูทวนลมและออกบินรบร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างสม่ำเสมอ
ซึ่งสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ลูกน้องของเขาได้เป็นอย่างดี และในระหว่างวันที่ 3
กรกฎาคม - 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1941 หรือประมาณสี่เดือนเศษ กัลลานด์ยิงเครื่องบินของกองบินหลวงตกถึง
27 ลำ เป็นเฮอร์ริเคน 1 ลำ บริสทอล เบรนฮายม์ 3 ลำ และสปิตไฟร์ถึง 23 ลำ
ซึ่งถือว่าร้อนแรงมาก และทำให้สถิติของเขาเพิ่มเป็น 97 ลำ
อย่างไรก็ดี หลังจากที่พลอากาศตรี
แวร์เนอร์ โมลเดอร์ (Werner Mölders)
นายพลอากาศยอดนักบินซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของกัลลานด์และทำสถิติยิงเครื่องบินข้าศึกตกมากถึง
101 ลำในสงครามโลกครั้งที่สอง และอีก 14 ลำในนามคอนดอ ลีเยียน
ถูกยิงตกและเสียชีวิตในการต่อสู้ทางอากาศเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1941 ฮิตเลอร์ได้แต่งตั้งนาวาอากาศเอก
กัลลานด์ รักษาการในตำแหน่งผู้บังคับการนักบินขับไล่ (General
der Jagdflieger) และทำให้เขาต้องไปทำงานนั่งโต๊ะที่เบอร์ลินแทนการขับเครื่องบิน
โดยลุฟท์วาฟเฟ่ได้มอบหมายให้นาวาอากาศโท เกอร์ฮาร์ด ชค๊อปเฟ่ล (Gerhard
Schoepfel)
ปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับกองบินขับไล่หนึ่งเครื่องยนต์ที่ 26 ต่อจากกัลลานด์
ในวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 1942 (พ.ศ.
2485) กัลลานด์ได้รับเพชร (Brillanten)
มาประดับกางเขนเหล็กของเขาต่อจากใบโอ๊คและดาบ จากการที่ยิงเครื่องบินข้าศึกตก 97
ลำก่อนที่จะย้ายมาทำงานในสายบังคับบัญชา และได้รับการเลื่อนยศเป็นพลอากาศตรีด้วยวัยเพียง
30 ปี และเลื่อนขึ้นเป็นพลอากาศโทในปีเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม เส้นทางสายบังคับบัญชาของเขาไม่ได้โดยด้วยกลีบกุหลาบเนื่องจากแนวรบของเยอรมันกว้างมากเกินไปและบรรดาสัมพันธมิตรเริ่มรุกกลับ
เยอรมันจึงถูกรุมจากรอบด้าน และมีการส่งเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิดในเยอรมันมากขึ้นเรื่อย
ๆ กัลลานด์จึงมีความคิดเห็นขัดแย้งกับเกอร์ริ่ง โดยในปี ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) เขาเสนอว่าลุฟท์วาฟเฟ่ควรเร่งรัดโครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ไอพ่นที่ทันสมัยเพื่อจัดการกับเหล่าฝูงบินทิ้งระเบิดขนาดมหึมาของสัมพันธมิตรก่อนที่ยุงร้ายเหล่านั้นจะมาปล่อยไข่ระเบิดใส่เบอร์ลิน
ขณะที่เกอร์ริ่งไม่เห็นด้วย กัลลานด์จึงมีหนังสือแสดงความคิดเห็นของเขาถึงฮิตเล่อร์โดยตรงว่าควรเร่งรัดโครงการเครื่องบินขับไล่ไอพ่นให้เร็วที่สุด
เกอร์ริ่งคิดว่ากัลลานด์กำลังเลื่อยขาเก้าอี้ของเขาจึงปลดกัลลานด์ออกจากตำแหน่งผู้บังคับการนักบินขับไล่
โดยอ้างว่าเขาล้มเหลวในการป้องกันเครื่องบินทิ้งระเบิดของข้าศึกและส่งตัวเขาขึ้นศาลทหาร
เป็นเหตุให้โครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ไอพ่นต้องล่าช้าไปกว่าแผนงานเดิมมาก ฮิตเล่อร์แก้ไขปัญหาความขัดแย้งนี้โดยมอบหมายให้กัลป์ลานด์รับผิดชอบโครงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ไอพ่นโดยตรง
และเมื่อมีการผลิตขึ้นใช้งานจริง เขาได้แต่งตั้งกัลลานด์ให้เป็นผู้บังคับการกองบินขับไล่ไอพ่นที่
44 (Jagdverband 44:
JV 44) ซึ่งเป็นฝูงบินขับไล่ไอพ่นฝูงแรกของโลก
และรวบรวมยอดนักบินจากทุกกองบิน ไม่ว่าจะเป็น เกอร์ฮาร์ด บาร์คฮอน ฮายริช แบล์
วอลเทอร์ โนวอทนี่ เป็นต้น มาปฏิบัติหน้าที่ป้องกันเบอร์ลิน
เนื่องจากกองบินขับไล่ไอพ่นที่ 44
ออกปฏิบัติการช้ามากเพราะความขัดแย้งภายในลุฟท์วาฟเฟ่ จึงออกปฏิบัติการได้เพียงไม่กี่ภารกิจเท่านั้น
แต่ก็นับว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะความก้าวหน้าในระบบขับเคลื่อน
และระบบอาวุธ สำหรับกัลลานด์เองนั้น
เขาสามารถจัดการเครื่องบินข้าศึกในขณะบินกับเมสเซอร์ชมิดท์ Me-262
ได้ 7 เครื่อง ทำให้สถิติของเขาอยู่ที่ 104 เครื่อง
โดยในเที่ยวบินสุดท้ายในสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1945 นั้น
เขาจัดการ B-26
ได้สองลำ ก่อนถูกเครื่องบินคุ้มกันฝูงบินทิ้งระเบิด P-47
Thunderbolt ของอเมริกันรุมกระหน่ำด้วยปืนใหญ่อากาศ
จนเขาได้รับบาดเจ็บและแผงควบคุมได้รับความเสียหาย จนต้องร่อนลงฉุกเฉินในที่สุด
ซึ่งเป็นการปิดฉากการรบของเขาในสงครามโลกครั้งที่สองก่อนที่พลโท โยเดิล
จะลงนามยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไขอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 (พ.ศ.
2488)
หลังสงคราม กัลลานด์กลายเป็นนักโทษสงคราม
(Prisoner of War: POW)
และถูกปล่อยตัวในปี ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) หลังจากนั้นหนึ่งปี ประธานาธิบดี ฮวน
เปรอง แห่งอาร์เจนติน่า ได้เชิญเขาไปช่วยพัฒนากองทัพอากาศอาร์เจนติน่า
ซึ่งเขาได้นำประสบการณ์ต่าง ๆ
ไปปูพื้นฐานให้แก่กองทัพอากาศอาร์เจนติน่าจนทำให้กองทัพอากาศอาร์เจนติน่ากลายเป็นกองทัพอากาศที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในละตินอเมริกาในขณะนั้น
เขากลับมาเยอรมันในปี ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2498) และเป็นที่ปรึกษาทางการบินให้แก่หน่วยงานต่าง
ๆ ตลอดมาจนเสียชีวิตอย่างสงบด้วยอาการหัวใจล้มเหลวที่บ้านของเขาในโอเบอร์วินเท่อร์
(Oberwinter) ในวันที่ 9
กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) ด้วยวัย 83 ปี
เป็นบทความที่ผมอยากอ่านมากเกี่ยวกับเรื่อง นักบินรบสมัย WW II
ตอบลบขอบคุณสำหรับบทความดีๆ จะติดตามอ่านต่อไปนะครับ
เสืออากาศเยอรมันมีหลายคนเลยครับ
ตอบลบนอกจากอดอล์ฟ กัลลันด์แล้ว ยังมี
เอริค ฮาร์ทมันน์
วอลเธอร์ โอซอร์
เฮลมุท วิค
เวอร์เนอร์ โมเดอร์ส
ฮันส์ อูลริช รูเดล คนนี้ไม่ใช่สายเครื่องบินขับไล่แต่เป็นสายเครื่องบินทิ้งระเบิดสตูก้า ทำลายรถถังรัสเซียไป530 คัน ปืนใหญ่รัสเซียอีก 150 กระบอก เรือรบอีก 3 ลำ และเรือยกพลขึ้นบกอีก 70ลำ เป็นคนเดียวที่ได้รับเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็กชั้นอัศวินประดับใบโอ๊คทองคำ ดาบและเพชร
ฮอร์สท์ ริพเพิร์ด คนนี้ก็เป็นหนึ่งในเสืออากาศของเยอรมนีอีกคนที่สอยเครื่องบินของผู้ประพันธุ์เรื่องเจ้าชายน้อยตก
ตอบลบWerner Mölders ไม่ได้เสียชีวิตในการรบนะครับ แต่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบิน He-111 ที่โดยสารตกเนื่องจากพายุครับ ยศขณะนั้นเป็นนาวาอากาศเอก
ตอบลบ