วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ไครฟ์ คอลเวล (Clive Caldwell) “ดาวน์ อันเดอร์ คิลเล่อร์”

                                                                                                                             ปกรณ์ นิลประพันธ์

                        ออสเตรเลียเป็นประเทศในเครือจักรภพอังกฤษที่อยู่อย่างเป็นเอกเทศในซีกโลกใต้ที่ห่างไกลจากยุโรปและแอฟริกามาก แต่จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมากลับปรากฏว่าประเทศที่อยู่ในดินแดนอันแสนสุขเช่นออสเตรเลียนี้เข้าไปมีบทบาทมากมายในสงครามทั่วทุกภูมิภาคของโลกสืบมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

                                                               ไครฟ์ โรเบอร์ตสัน คอลเวล


                  สำหรับสงครามโลกครั้งที่สอง นักรบจากแดนจิงโจ้ก็มีบทบาททั้งในสมรภูมิยุโรป แอฟริกา และแปซิกฟิก โดยในส่วนของสงครามทางอากาศนั้น สุดยอดนักบินของกองบินหลวงออสเตรเลีย (Royal Australian Air Force: RAAF) เห็นจะไม่มีใครเกิน ไครฟ์ โรเบอร์ตสัน คอลเวล (Clive Robertson Caldwell) เจ้าของฉายา เดอะ คิลเลอร์ (The Killer) นักบินมือหนึ่งของออสเตรเลีย ผู้รั้งอันดับที่ ๗ ของนักบินขับไล่ในเครือจักรภพอังกฤษที่ยิงเครื่องบินข้าศึกตกมากที่สุด



                    คอลเวล เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๑๙๑๑ (๒๔๕๔) ที่ตำบลเลวิสแช่ม (Levisham) เขตมาริควิล (Marrickville) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย  คอลเวลชอบการบินมากและมุ่งมั่นที่จะเอาดีทางด้านนี้  ดังนั้น หลังจากจบการศึกษาชั้นมัธยมจากซิดนีย์ แกรมมาร์ สกูล (Sydney Grammar School) โรงเรียนชายล้วนที่เก่าแก่และโด่งดังมากที่สุดแห่งหนึ่งของออสเตรเลีย เขาสมัครเข้ารับการฝึกบินที่สโมสรการบินหลวง (Royal Aero Club) จนได้ใบอนุญาตนักบินพลเรือน



                   เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติขึ้นในยุโรป คอลเวลผู้ชมชอบความท้าทายจึงสมัครเป็นนักบินของกองบินหลวงออสเตรเลียในปี ๑๙๓๙ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เป็นนักบินขับไล่ แต่โดยที่เวลานั้นเขามีอายุปาเข้าไปถึง ๒๘ ปีแล้ว ซึ่งเกินเกณฑ์ที่กองบินหลวงออสเตรเลียกำหนดสำหรับนักบินที่จะไปฝึกบินขับไล่ คอลเวลถึงกับโกงอายุของเขาในสำเนาใบสูติบัตร (birth certificate) ที่ใช้ประกอบการสมัครว่ามีอายุเพียง ๒๖ ปี ซึ่งต้องนับว่าเป็นโชคดีของเขาที่เวลานั้นเป็นช่วงสงครามซึ่งกองทัพต้องการกำลังพลอาสาสมัครจำนวนมากและยังไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้ เพราะมิฉะนั้นแล้วเขาอาจต้องติดคุกหัวโตฐานปลอมเอกสารราชการก็ได้ 



                    การปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอายุของคอลเวลและประวัติการบินพลเรือนที่ยอดเยี่ยมของเขาทำให้กองบินหลวงออสเตรเลียรับคอลเวลไว้ฝึกบินเป็นนักบินขับไล่สมใจอยากของเขา และกองบินหลวงออสเตรเลียส่งเขาไปฝึกบินขับไล่ตามโครงการ Empire Air Training Scheme (EATS) ของเครือจักรภพ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการสร้างนักบินพร้อมรบเพื่อประโยชน์ในการป้องกันประเทศในเครือจักรภพ

                   โครงการ EATS ที่ริเริ่มขึ้นโดยอังกฤษและได้รับความสนับสนุนจากทุกประเทศประเทศในเครือจักรภพนี้กำหนดให้ทุกประเทศจัดให้มีการฝึกบินรบขั้นพื้นฐานในประเทศของตน เมื่อผ่านการทดสอบฝีมือบินแล้ว นักบินจะถูกส่งต่อไปฝึกบินรบขั้นก้าวหน้าในแคนาดาเพื่อให้คุ้นเคยกับเครื่องบินและอาวุธหลักที่จะใช้ในกองทัพของประเทศในเครือจักรภพ รวมทั้งมีการส่งไปฝึกบินจริงในสมรภูมิยุโรปก่อนสำเร็จการฝึกด้วย

                   ดังนั้น เมื่อคอลเวลผ่านการฝึกบินรบขั้นพื้นฐานในออสเตรเลียแล้ว เขาก็ถูกส่งต่อไปฝึกบินรบขั้นก้าวหน้าในแคนาดา เมื่อจบหลักสูตรในปี ๑๙๔๐ กองบินหลวงออสเตรเลียได้บรรจุคอลเวลเป็นนักบินประจำการ และโดยที่คอลเวลขับเครื่องบินมานานและมีทักษะการบินที่โดดเด่น ยิงปืนแม่น กองบินหลวงออสเตรเลียจึงบรรจุคอลเวลในตำแหน่งครูการบินแทนที่จะเป็นนักบินขับไล่ที่ต้องออกปฏิบัติการในแนวหน้าอย่างที่เขาตั้งความหวังไว้แต่แรก หนุ่มเลือดร้อนพยายามวิ่งเต้นอยู่ระยะหนึ่งแต่ก็ไม่เป็นผล เพราะกองบินหลวงออสเตรเลียต้องการให้ยอดนักบินอย่างเขาใช้ทักษะที่มีอยู่ในการสร้างนักบินใหม่จำนวนมากเพื่อรองรับสงครามในแปซิกฟิกที่อาจเกิดขึ้น คอลเวลผิดหวังมากจนถึงกับลาออกจากราชการไป

                   อย่างไรก็ดี ความที่คอลเวลชมชอบการบินที่โลดโผนเร้าใจซึ่งการบินพาณิชย์ไม่สามารถตอบสนองความต้องการในส่วนนี้ของเขาได้ คอลเวลจึงสมัครเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่งในเดือนมกราคม ๑๙๔๑ และกองบินหลวงออสเตรเลียได้บรรจุเขากลับเข้ารับราชการในตำแหน่งนักบินขับไล่ ซึ่งคราวนี้เขาได้ออกบินรบสมใจอยากเมื่อกองบินหลวงออสเตรเลียส่งเขาไปปฏิบัติหน้าที่ในกองบินหลวงอังกฤษ และกองบินหลวงอังกฤษได้มีคำสั่งให้เขาไปประจำการในฝูงบิน ๒๕๐ ซึ่งประจำการด้วยโทมาฮอว์ค (Curtiss P-๔๐B และ P-๔๐C) ทำหน้าที่ครอบครองน่านฟ้าอียิปต์และลิเบีย



                    หลังจากออกปฏิบัติการมากว่า ๔๐ เที่ยวบิน และเข้าปะทะกับข้าศึกมาหลายครั้ง แต่คอลเวลก็ยังยิงเครื่องบินข้าศึกตกลงไม่ได้สักเครื่องเดียวทั้งที่สมรภูมิทะเลทรายนี้มีเครื่องบินข้าศึกออกปฏิบัติการมากมายราวกับแมลงวัน จนถูกเพื่อน ๆ ล้อว่าเป็น หมูสนามจริง สิงห์สนามซ้อม คอลเวลซึ่งทะนงตนมาตลอดว่าเป็นมือหนึ่งของแดนจิงโจ้จึงมีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่มาก เพราะทุกครั้งที่ยิงเขาพบว่าเครื่องบินข้าศึกทาบอยู่กลางศูนย์เล็งทุกครั้ง แต่ทำไมกระสุนถึงไม่โดนเป้า แต่แล้วในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๑๙๔๑ เขาก็รู้สึกโล่งใจไปได้เปลาะหนึ่งเมื่อหมู่บินของเขาได้รับคำสั่งให้ออกลาดตระเวนน่านฟ้าในเขตพื้นที่รับผิดชอบตามปกติ ก็บังเอิญไปจ๊ะเอ๋กับหมู่บินลาดตระเวนแมสเซอชมิดท์ บีเอฟ ๑๐๙ ของฝูงบิน ๑ กองบินขับไล่หนึ่งเครื่องยนต์ที่ ๒๗ (I/JG ๒๗) ของลุฟท์วาฟเฟ่เข้าโดยบังเอิญบริเวณคาพุซโซ่ (Capuzzo) คอลเวลจึงปรี่เข้าหาบีเอฟ ๑๐๙ ของเรืออากาศโท ไฮนซ์ ชมิดท์ (Heinz Schmidt)


                        หลังจากพันตูกันระยะหนึ่งและเสียกระสุนไปหลายชุด ในที่สุดเขาก็ส่งบีเอฟ ๑๐๙ ลำนั้นไปโหม่งโลกได้ แต่จนแล้วจนรอดเขาก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าทำไมเจ้าบีเอฟ ๑๐๙ ลำนั้นถึงไม่ตกตั้งแต่เขายิงชุดแรก ทั้งที่ตอนที่เขาเหนี่ยวไกปืนมันอยู่กลางเป้าพอดี!!!



                    บ่ายแก่ ๆ วันหนึ่งหลังจากนั้น ขณะบินกลับฐานหลังจากภารกิจลาดตระเวนตามปกติ คอลเวลสังเกตเห็นเงาของเครื่องบินของเขาทอดอยู่บนพื้นทรายเบื้องหน้า ด้วยความหงุดหงิดจากสภาพจิตใจที่สับสน เขาจึงเล็งปืนอย่างประณีตและยิงไปที่เงานั้นโดยสมมุติว่าเป็นเครื่องบินข้าศึก แต่ปรากฏว่าลูกปืนชุดนั้นยิงไม่ถูกเงาทั้ง ๆ ที่ตอนเขาเล็งปืนนั้นเป้าอยู่กลางศูนย์เล็งพอดี โดยลูกปืนชุดนั้นกลับไปโดนพื้นทะเลทรายตรงที่ห่างจากเงานั้นไปทางด้านหลังเล็กน้อย เมื่อเห็นเช่นนี้ พุทธิปัญญาจึงเกิดขึ้นแก่คอลเวลว่าขณะที่เขายิงนั้นข้าศึกเองได้เคลื่อนที่ออกห่างจากเขาไปด้วย หากไม่แก้ปัญหาดังกล่าว ลูกปืนของเขาก็ไม่โดนข้าศึกอยู่ดี คอลเวลจึงลองยิงใหม่อีกชุดหนึ่ง คราวนี้เขายิงตั้งแต่เป้าเริ่มทาบเข้าศูนย์เล็ง และแน่นอนที่กระสุนโดนกลางเงาเป้าหมายทันที  บัดนี้ เขารู้แล้วว่าเขาจะยิงเครื่องบินข้าศึกที่กำลังเคลื่อนที่เหมือนกับเขาให้ตกลงได้อย่างไร

                        หลังจากรู้เคล็ดลับที่เขาเรียกว่าเทคนิคการยิงเงา (Shadow shooting) คอลเวลก็ได้นำมาทดลองใช้ปฏิบัติการจริง และในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๑๙๔๑ เจ้าหน้าที่ฝูงบินก็บันทึกข้อมูลในบันทึกการบินของคอลเวลว่าเขามีส่วนร่วมในการยิง บีเอฟ ๑๑๐ ตกหนึ่งเครื่องนอกเมืองโทบรูค (Tobruk) ในลิเบีย ซึ่งเรียกความมั่นใจของคอลเวลกลับมาอีกครั้ง และหลังจากนั้นสองสัปดาห์ คอลเวลส่งเครื่องบินของฝ่ายอักษะลงไปจมกองทรายอันร้อนระอุของแอฟริกาเหนือได้ถึง ๔ เครื่อง และคอลเวลได้แนะนำเทคนิคนี้ให้แก่เพื่อนนักบินจนทำให้เทคนิคการยิงเงากลายเป็นหลักสูตรการฝึกมาตรฐานของนักบินสัมพันธมิตรในสมรภูมิทะเลทราย




                      ในวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๑๙๔๑ หลังจากออกปฏิบัติการทางตะวันตกเฉียงเหนือของอียิปต์ คอลเวลได้แยกจากฝูงบินของเขาเพื่อกลับฐานที่ซิดิ เฮนิช (Sidi Haneish) แต่ระหว่างทาง คอลเวลถูกรุมโดย บีเอฟ ๑๐๙ สองเครื่อง เหนือเมืองซิดิ บารานี (Sidi Barrani) อันเป็นเมืองชายทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของอียิปต์ และหนึ่งในสองเครื่องที่รุมเขานั้นคือ แบล็ค ๘ (Black ) แห่งกองบินขับไล่หนึ่งเครื่องยนต์ที่ ๒๗ (JG ๒๗) บังคับโดยนาวาอากาศตรี แวร์เนอร์ ชโรเออร์ (Werner Schroer) (นักบินผู้นี้มีประวัติการรบทางอากาศที่โดดเด่นมากโดยเมื่อสิ้นสุดสงคราม ชโรเออร์ยิงเครื่องบินสัมพันธมิตรตกรวม ๑๑๔ เครื่อง ในการออกปฏิบัติภารกิจเพียง ๑๙๗ ภารกิจเท่านั้น)


                   หลังจากถูกโฉบเข้าโจมตีของบีเอฟ ๑๐๙ เครื่องที่หนึ่ง คอลเวลถูกกระสุนเข้าที่หลัง ไหล่ซ้ายและขาซ้าย ในการโฉบเข้าโจมตีของเครื่องที่สองซึ่งขับโดยชโรเออร์ กระสุนเจาะคาโนปี้แตกและทำให้เศษกระจกบาดหน้าและคอของเขาจนเลือดโชก แต่จิงโจ้อันตรายก็ยอดเยี่ยมสมเป็นมือหนึ่งของออสเตรเลีย แทนที่เขาจะตื่นกลัว สถานการณ์เช่นนี้กลับทำให้เขามีสติและไม่กลัวตาย คอลเวลพาโทมาฮอว์คพิการเลี้ยววงแคบตามไปจั่วผู้ร้ายสองลำนั้นอย่างไม่หวาดหวั่น คนที่ตกใจจึงกลายเป็นนักบิน บีเอฟ ๑๐๙ ทั้งสองลำนั้น คอลเวลตามแบล็ค ๘ ที่เพิ่งจะโฉบยิงเขาหยก ๆ ไปติด ๆ และกระหน่ำแบล็ค ๘ ตามเทคนิคยิงเงาที่เขาค้นพบจนแบล็ค ๘ เสียหายหนักจนต้องถอนตัวออกจากการรบ

                                               นาวาอากาศตรี แวร์เนอร์ ชโรเออร์

                   จากนั้น คอลเวลหันไปต่อกับลูกหมู่ของชโรเออร์ที่กำลังเสียขวัญและซัด บีเอฟ ๑๐๙ ลำนั้นลงไปล้อยอดคลื่นของทะเลทรายได้หลังจากเครื่องบินพิการของชโรเออร์บินจากไปได้ไม่นานนัก แต่เมื่อท้องฟ้าปลอดโปร่งเครื่องยนต์ของจอมอึดคู่ทุกข์คู่ยากของเขาดันเกิดไฟลุกขึ้นมาอีก คอลเวลจึงต้องประคองมันกลับมาลงที่ฐานอย่างทุลักทุเล

                   เมื่อกลับมาถึงฐานบิน คอลเวลพบว่าเขาต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่ JG ๒๗ ไปไม่น้อยเช่นกัน เพราะนอกจากบาดแผลที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเองแล้ว โทมาฮอว์คคู่ชีพก็มีสภาพเหมือนคนเป็นอีสุกอีใส ช่างประจำฝูงต้องทำงานกับเกือบเป็นลมเพราะต้องอุดรูกระสุน ๗.๙ มิลลิเมตร ของบีเอฟ ๑๐๙ มากกว่า ๑๐๐ รู แถมยังต้องอุดรูที่เกิดจากปืนใหญ่อากาศ ๒๐ มิลลิเมตร ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นลูกปืนของชโรเออร์หรือลูกหมู่ที่ถูกยิงตกไป อีก ๕ รู และนับแต่นั้นมานักบินร่วมฝูงของเขาถึงกับมั่นใจว่าจิงโจ้หนังเหนียวตัวนี้ต้องไม่ตายในสงครามเป็นแน่

                   เมื่อช่างซ่อมเครื่องบินของเขาเสร็จ คอลเวลก็ออกอาละวาดในทะเลทรายอันไพศาลของแอฟริกาเหนืออีกครั้งด้วยความมั่นใจมากกว่าเดิม และสามารถส่ง บีเอฟ ๑๐๙ ลงไปจมทรายได้อีก ๔ เครื่อง เครื่องแรกเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๑๙๔๑ เหนือเมืองบุคบุค (BuqBuq) และจัดการเครื่องที่สองในวันถัดไปเหนือบาเดีย (Badia) เครื่องที่สามเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๑๙๔๐ เหนือเมืองโทบรูค และเหยื่อลำที่สี่ของเขาเป็น บีเอฟ ๑๐๙ ของนาวาอากาศตรี โวฟกัง ลิพเพอร์ท (Wolfgang Lippert) ผู้บังคับฝูงบิน ๒ กองบินขับไล่หนึ่งเครื่องยนต์ที่ ๒๗ (II/JG ๒๗) ผู้มีสถิติยิงเครื่องบินสัมพันธมิตรตกมาแล้ว ๓๐ ลำ ซึ่งแม้ลิพเพอร์ทจะสามารถกระโดดร่มหนีออกมาได้แต่เขาขาหักและถูกจับเป็นเชลยศึก ต่อมาบาดแผลที่ขาทั้งสองข้างเกิดติดเชื้ออย่างรุนแรงจนเสียชีวิต 

                                             นาวาอากาศตรี โวฟกัง ลิพเพอร์ท 

                   ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๑๙๔๑ (หรือก่อนญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิลล์ ๒ วัน) เป็นวันที่ชื่อของคอลเวลกระฉ่อนไปทั่วทะเลทรายเมื่อเขาสามารถจัดการเครื่องดำทิ้งระเบิดสตูก้า (Junkers Ju ๘๗) ได้ถึง ๕ เครื่อง ทางตอนใต้ของเอล เอเด็ม (El Adem) ในการออกปฏิบัติการเพียงเที่ยวเดียวระหว่างยุทธการครูเซเดอร์ (Crusader) ซึ่งแผนยุทธการนี้กำหนดวันปฏิบัติการระหว่าง ๑๘ พฤศจิกายน ถึง ๓๐ ธันวาคม ๑๙๔๑ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลดปล่อยโทบรูคเมืองยุทธศาสตร์ในลิเบีย หลังจากแอฟริกาคอร์ป (Afrika Korps) ของจิ้งจอกทะเลทราย เออร์วิล รอมเมล (Erwin Rommel) เข้ายึดมาตั้งแต่วันที่ ๑๐ เมษายน ๑๙๔๑



                    คอลเวลเล่าว่า ผมได้รับวิทยุว่าฝูงบินขนาดใหญ่ของข้าศึกกำลังบินอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ฝูงบิน ๒๕๐ จึงบ่ายหน้าเข้าหน้าฝูงบินข้าศึกนั้นในฐานะผู้คุ้มกันของฝูงบิน ๑๑๒ เราบินตามฝูงบินข้าศึกทางด้านหลัง และผมสังเกตว่าหมู่บินที่รั้งท้ายฝูงประกอบด้วยสตูก้า ๓ ลำ เมื่อเข้าไปในระยะ ๓๐๐ หลา ผมยิงปืนทุกกระบอกไปที่สตูก้าลำที่เป็นของของหัวหน้าหมู่บิน มันโดนเข้าไปเต็ม ๆ จนเสียศูนย์ร่วงลงพื้นไปอย่างหมดสภาพ ผมจึงยิงลำที่สอง กระสุนถูกสตูก้าเคราะห์ร้ายลำนั้นอย่างจังจนมันระเบิดขึ้นในพริบตา ผมจึงหลบการระเบิดไปทางลำที่สามซึ่งอยู่ที่ความสูงประมาณ ๑,๐๐๐ ฟุต และยิงทันทีที่เป้าเริ่มทาบศูนย์เล็ง มันไฟลุกท่วม ควันโขมง และหัวปักลงดิน ผมตามไปดูจนเห็นมันตกกระแทกพื้นแหลกละเอียด ผมจึงเงยหัวขึ้นก็พบสตูก้าลำที่สี่บินอยู่ข้างหน้าเหนือเครื่องบินของผม ผมจึงเร่งเครื่องจี้เข้าไปใกล้แล้วกระหน่ำออกไปหนึ่งชุดโดนใต้ท้องของเครื่องบินข้าศึกลำนั้นอย่างจังจนฉีกเป็นชิ้น ๆ แล้วพลิกท้องปักหัวตกทะเลทรายไป ผมไม่ได้ตามไปดูแต่เร่งเครื่องเข้าหาสตูก้าอีกลำหนึ่งและเข้าไปจ่อยิงมันใกล้ ๆ จนมันลุกเป็นไฟและเกิดระเบิดขึ้นทันทีเหมือนกับลำที่สอง  จากนั้นผมเร่งเครื่องไปหาเจยู ๘๗ อีกเครื่องหนึ่ง และยิงมันจนไฟลุก แต่นักบินเยอรมันคนนั้นยอดเยี่ยมมากที่พาเครื่องบินพิการลำนั้นหนีกลับฐานไปได้

                   เพื่อนนักบินพากันตั้งฉายาให้เขาว่า นักฆ่า (The Killer) และรู้กันทั่วในทะเลทรายว่า เดอะ คิลเลอร์ หมายถึงคอลเวล แต่คอลเวลหาได้ภูมิใจกับฉายานี้ไม่ บ๊อบบี้ กิ๊บส์ (R.H. “Bobby” Gibbes) อดีตนักบินในบังคับบัญชาของคอลเวล เล่าถึงที่มาของฉายาของคอลเวลว่า จริง ๆ แล้วเขาไม่ได้กระหายเลือดตามฉายาที่ว่านั้นหรอก แต่เป็นพราะเขามีนิสัยชอบดำลงไปยิงขบวนรถของข้าศึกที่เขาพบบนพื้นดินระหว่างบินกลับฐานหลังเสร็จภารกิจ ทำนองว่าไม่อยากเหลือลูกกระสุนไว้ในรังปืนให้เสียเที่ยว และเครื่องบินของเขาก็ไม่เคยมีลูกปืนเหลือกลับมาให้เห็นที่ฐานเลยแม้แต่ครั้งเดียว

                   วันที่ ๑๒ และ ๒๐ ธันวาคม ๑๙๔๑ คอลเวล ยิงบีเอฟ ๑๐๙ ตกอีกสองเครื่อง เขาจึงมีชัยชนะเหนือข้าศึก ๑๗ ครั้ง และได้รับเหรียญกล้าหาญ DFC and Bar ในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ต่อมา ในเดือนมกราคม ๑๙๔๒ กองบินหลวงอังกฤษได้แต่งตั้งเขาเป็นผู้บังคับฝูงบิน ๑๑๒ ซึ่งประกอบด้วยนักบินอาสาสมัครโปแลนด์ถึง ๑๒ คน และเปลี่ยนเครื่องบินใหม่เป็นคิตตี้ฮอว์ค (Curtiss P-๔๐E และรุ่นหลังจากนั้น) หลังจากนั้น เขายิงบีเอฟ ๑๐๙ ตกอีก ๒ เครื่อง และมัคชี่ (Macchi) ซี ๒๐๒ โฟลโกเร (Folgore) ตกอีก ๒ เครื่อง



                   หลังจากนั้น รัฐบาลออสเตรเลียได้ขอตัวคอลเวลกลับมาปฏิบัติราชการสงครามในประเทศบ้านเกิดเพราะญี่ปุ่นได้ขยาย วงไพบูลย์แห่งเอเชียตะวันออก มาถึงตอนเหนือของออสเตรเลีย และมีการส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดเมืองดาร์วินในเขตปกครองตนเอง Northern Territory เป็นประจำ

                   เมื่อกลับมาถึงบ้าน กองบินหลวงออสเตรเลียได้แต่งตั้งเขาให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับกองบิน ๑ มีฐานปฏิบัติการที่เมืองดาร์วิน โดยกองบินนี้ประกอบด้วยฝูงบิน ๕๔ ของกองบินหลวงอังกฤษ และฝูงบิน ๔๕๒ และ ๔๕๗ ของกองบินหลวงออสเตรเลีย ทั้งหมดประจำการด้วยสปิตร์ไฟร์ Mk Vc

                   แม้จะประสบกับความเปลี่ยนแปลงนานัปการ ทั้งการเปลี่ยนตัวข้าศึกจากเยอรมันและอิตาลีมาเป็นญี่ปุ่น การเปลี่ยนแปลงอาวุธของข้าศึกจาก บีเอฟ ๑๐๙ และมัคชี่ มาเป็นซีโร่และฮายาบูซ่า เปลี่ยนแปลงสนามรบจากทะเลทรายมาเป็นป่าดงดิบ และเปลี่ยนเครื่องบินคู่ชีพจากคิตตี้ฮอว์คที่แสนจะอึดมาเป็นสปิตร์ไฟร์ที่คล่องตัวแต่บอบบาง แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปเลยคือความยอดเยี่ยมของผู้บังคับกองบินคอลเวล โดยสามไตรมาสแรกของปี ๑๙๔๓ เขาส่งเครื่องบินของชาวอาทิตย์อุทัยไปเก็บในทะเลบ้าง ป่าดงดิบบ้าง ถึง ๘ เครื่อง และกลายเป็นตัวแสบของนักรบบูชิโดไปโดยปริยาย

                                                     มัคชี่ ซี ๒๐๒ โฟลโกเร 
                                 (เครื่องนี้ตั้งแสดง ณ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งมิลาน)

                   เมื่อครองน่านฟ้าได้แล้ว สถานการณ์รบทางอากาศได้เบาบางลงจนอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่าปลอดภัย กองบินหลวงออสเตรเลียจึงสั่งให้คอลเวลไปปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับกองบินฝึกทางยุทธวิธี ที่ ๒ (Operational Training Unit: OTU) ที่มิลดูร่า (Mildura) เมืองเล็ก ๆ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐวิคตอเรียที่มีชื่อเสียงในการปลูกส้มและองุ่น แต่ที่มิลดูร่านี้ก็เป็นฐานฝึกบินทางยุทธวิธีที่สำคัญของออสเตรเลีย หน้าที่ของคอลเวลในครั้งนี้เป็นการฝึกนักบินให้คุ้นเคยกับการบินทางยุทธวิธีก่อนออกปฏิบัติการจริง

                   อย่างไรก็ดี เมื่อญี่ปุ่นหันกลับมาตีหัวออสเตรเลียอีกครั้งในปี ๑๙๔๔ กองบินหลวงออสเตรเลียจึงไม่รีรอที่จะส่งมือปราบหนวดหินกลับมาครองอากาศเหนือดาร์วินอีกคำรบหนึ่ง คราวนี้ในฐานะผู้บังคับกองบินที่ ๘๐ ซึ่งประจำการด้วยสปิตร์ไฟร์ Mk VIII แต่เมื่อเขากลับมา สถานการณ์รบในแปซิกฟิกได้ผันแปรไปอย่างรวดเร็ว ญี่ปุ่นกำลังถูกตีโต้กลับอย่างหนักหน่วงจนถอยร่นไม่เป็นขบวน และสัมพันธมิตรยึดหมู่เกาะอีสต์ อินดีส (Dutch East Indies) คืนจากญี่ปุ่นได้ กองบินหลวงออสเตรเลียจึงจัดตั้งหน่วยบินยุทธวิธีที่หนึ่ง (First Tactical Air Force) ขึ้น โดยให้กองบินที่ ๘๐ ขึ้นอยู่กับหน่วยบินดังกล่าว ทำให้คอลเวลและกองบินที่ ๘๐ ต้องย้ายไปประจำการที่ฐานบินบนเกาะโมโรตาอิ (Morotai) เกาะขนาด ๑,๘๐๐ ตารางกิโลเมตร ทางตะวันออกของหมู่เกาะโมลุกกะ

                   เนื่องจากสถานการณ์สงครามขณะนั้นกองทัพแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิที่เคยเกรียงไกรถูกตีถอยร่นจนเกือบถึงแผ่นดินญี่ปุ่น โดยมีอเมริการับบทพระเอกในโรงละครแห่งแปซิกฟิก ปฏิบัติการต่าง ๆ ที่สำคัญจึงอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพอเมริกันทั้งสิ้น กองทัพสัมพันธมิตรอื่นทั้งอังกฤษ ออสเตรเลีย ฮอลแลนด์ ได้รับบทตัวประกอบในปฏิบัติการที่ไม่มีความสลักสำคัญ สำหรับภารกิจที่กองบินขับไล่ที่ ๘๐ รับผิดชอบ แทนที่จะเป็นการบินขับไล่ กลับได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการโจมตีภาคพื้นดินที่ไม่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เพราะห่างไกลจากแนวหน้ามาก ซึ่งนอกจากจะไม่ใช่ภารกิจของเครื่องบินขับไล่แล้ว ยังเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุด้วย คอลเวลกับนักบินชั้นเซียนแห่งกองบินที่ ๘๐ อีก ๗ คน จึงขอลาออกจากราชการเพื่อประท้วงการที่ผู้บังคับบัญชากำหนดภารกิจไม่เหมาะสมที่ว่า

                   การยื่นใบลาออกของคอลเวลกับพวกได้กลายเป็นข่าวใหญ่โตและรู้จักกันในนาม กบฏแห่งโมโรตาอิ (Morotai Mutiny) ซึ่งทางการเห็นว่าเป็นการกระทำที่ขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาจึงระงับใบลาออกและตั้งกรรมการสอบสวน และต่อมากบฏแห่งโมโรตาอิทั้ง ๘ นายถูกดองเค็มและลดยศ

                   อย่างไรก็ดี ผลการสอบสวนปรากฏต่อมาในภายหลังว่าเหตุผลที่คอลเวลกับพวกอ้างในการขอลาออกเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนัก และการมอบหมายให้กองบินขับไล่ไปปฏิบัติหน้าที่โจมตีภาคพื้นดินต่อเป้าหมายที่ไม่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เกิดจากความบกพร่องของผู้บังคับบัญชาที่กำหนดภารกิจไม่เหมาะสมและไม่คุ้มค่า การกระทำของคอลเวลกับพวกจึงไม่เป็นความผิด และพวกเขาได้รับบรรดาสิ่งที่เสียไปกลับคืน

                   ไครฟ์ โรเบอร์ตสัน คอลเวล ยุติบทบาทของเขาในสงครามอันแสนโหดร้ายในตำแหน่งประจำกองบัญชาการหน่วยบินยุทธวิธีที่หนึ่งที่เมลเบอร์น และลาออกจากราชการในปี ๑๙๔๖ แล้วหันมาทำธุรกิจนำเข้าเสื้อผ้าที่ซิดนีย์บ้านเกิดจนร่ำรวย

                   เดอะ คิลเล่อร์ ซึ่งเป็นตำนานของนักบินออสเตรเลียที่ระเหเร่ร่อนไปสร้างชื่อเสียงในแอฟริกาเหนือผู้นี้เสียชีวิตอย่างสงบในซิดนีย์บ้านเกิดเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๑๙๙๔ รวมอายุ ๘๔ ปี