ปกรณ์ นิลประพันธ์
หลักการสงครามที่เป็นที่ยอมรับกันเป็นสากลประการหนึ่งนั้นถือว่า
หากฝ่ายใดมีอำนาจการยิงที่รุนแรงและแม่นยำกว่า
ฝ่ายนั้นย่อมมีโอกาสที่จะได้รับชัยชนะมากกว่า
เมื่อฝ่ายเสนาธิการของเยอรมันประยุกต์หลักการสงครามดังกล่าวเข้ากับบทเรียนที่ได้รับในมหาโลกครั้งที่หนึ่งอันเป็นการรบในสนามเพลาะ
ซึ่งทำให้การเคลื่อนย้ายปืนใหญ่อันเป็นราชาแห่งสนามรบจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งทางยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มอำนาจการยิงและเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการของทหารราบถูกขัดขวางโดยอุปสรรคทางธรรมชาติ
จึงเกิดแนวคิดที่จะทำ “ปืนใหญ่บินได้”
ขึ้นมาเพื่อขจัดอุปสรรคที่ว่านี้ นอกจากนี้
ปืนใหญ่บินได้ยังสามารถใช้เป็นหัวหอกในการบุกทะลวงในสงครามแบบสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg) อันเป็นหลักนิยมของฝ่ายเสนาธิการเยอรมันในเวลานั้นได้อีกด้วย ด้วยเหตุนี้เอง
เฮอร์มาน เกอริ่ง มือขวาของฮิตเล่อร์ จึงยื่นข้อเสนอให้เอินส์ท อูเด็ต (Ernst
Udet)
หนึ่งในยอดนักบินสมัยมหาสงครามโลกครั้งที่หนึ่งซึ่งสนใจแทคติคปืนใหญ่บินได้เช่นกัน
ให้เข้ามาร่วมพรรคนาซีและรับผิดชอบการพัฒนาเครื่องบินสำหรับแทคติคที่ว่า และได้สั่งซื้อเคอร์ติส
ฮอว์ค ของสหรัฐมาให้อูเด็ตใช้ศึกษาเพื่อเป็นต้นเแบบในการพัฒนา
เอินส์ท
อูเด็ต
อูเด็ตกับบริษัทการบินชั้นยอดของเยอรมันหลายบริษัทได้พัฒนาเครื่องบินขึ้นมาหลายแบบ
แต่แบบที่เขากับทีมเห็นว่าเหมาะสมที่สุด คือ เครื่องบินแบบที่ 87 ของยุงเคอร์ แบบ “สตูก้าอัมฟลุคซอย” (Sturzkampfflugzeung) ที่แปลว่าเครื่องบินดำลงโจมตี หรือที่รู้จักกันทั่วโลกว่า
“สตูก้า” (Junkers Ju-87 Stuka)
Junkers Ju-87 Stuka
เหตุที่ทำให้สตูก้าเป็นที่หวาดหวั่นของข้าศึกเนื่องจากมันติดไซเร็นที่ใช้แรงลม
หรือที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเรียกกันเล่น ๆ ว่า “ทรัมเป็ตของเจริโค่” (Trumpets
of Jericho) อันเป็นเพลงดังในยุคนั้นไว้ที่ฐานล้อที่พับไม่ได้ของมัน ทั้งยังติดนกหวีดไว้ที่ลูกระเบิดด้วย
การดำลงมาโจมตีทิ้งระเบิดของสตูก้าจึงมาพร้อมกับเสียงครวญครางที่โหยหวนและน่าหวาดหวั่น
ราวกับเสียงพญามัจจุราชมาทวงชีวิต ซึ่งเดิมทีมพัฒนาทดลองติดไซเร็นดังกล่าวไว้เล่น
ๆ แต่ฝ่ายเสนาธิการกลับเห็นว่าไซเร็นและนกหวีดมีคุณค่ามากกว่าของเล่น เพราะเสียงที่โหยหวนช่วยทำลายขวัญของข้าศึกไปพร้อม
ๆ กับการทำลายทางกายภาพ ทั้งไซเร็นและนกหวีดจึงกลายมาเป็นอุปกรณ์ประกอบฉากของสตูก้านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
Stuka ขณะดำลงทิ้งระเบิด
เทคนิคการดำลงทิ้งระเบิด
สำหรับเทคนิคที่นักบินสตูก้าใช้ในการปฏิบัติการนั้น
นักบินต้องบินอยู่เหนือเป้าหมายที่ความสูง 15,000 ฟุต เปิดไซเร็น
หลังจากนั้นก็ปักหัวดำลงที่มุม 60-90 องศา ด้วยความเร็ว 350 ไมล์ต่อชั่วโมง (600
กิโลเมตรต่อชั่วโมง) เมื่อลงมาถึงระยะ 2,000 ฟุต ก็ปลดระเบิด
ซึ่งการปลดระเบิดดังกล่าวจะเป็นการเริ่มกลไกบังคับให้เครื่องบินเชิดหัวขึ้นเพื่อบินระดับโดยอัตโนมัติ
โดยกลไกดังกล่าวเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของสตูก้าเพื่อมิให้เกิดการสูญเสียกรณีนักบินหมดสติ
เพราะด้วยท่าบินดังกล่าวนักบินต้องรับภารกรรมถึง 4-6 จี ทีเดียว
Ju-87 G-1 “Kanonenvogel”
ในปี
1943 ลุฟท์วาฟเฟ่ได้พัฒนาสตูก้าขึ้นเพื่อรองรับภารกิจทำลายรถถังซึ่งเป็นภารกิจสำคัญในแนวรบด้านตะวันออก
โดยเพิ่มเกราะให้หนาขึ้นและติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 30 มิลลิเมตร จำนวน 2
กระบอกไว้ใต้ปีกด้วย และสตูก้าแบบนี้เองที่กลายเป็น “คาโนเน่นโฟลเก้ล” (Kanonenvogel) หรือ “ปืนใหญ่บินได้” อย่างแท้จริง
ห้องนักบิน
สำหรับนักบินสตูก้าที่โด่งดังที่สุดนั้นไม่มีใครเกิน
“ฮาน-อูลริช
รูเดิ้ล” (Hans-Ulrich Rudel) เพราะเมื่อใดที่เสียงทรัมเป็ตของเจริโค่ประจำเครื่องของเขาดังขึ้น นั่นหมายถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่กองทัพแดงอย่างเหลือคณานับ
สตาลินถึงกับโมโหนักบินสตูก้าผู้นี้จนหนวดกระดิกและตั้งค่าหัวของเขาไว้ถึง 100,000
รูเบิ้ล ไม่ว่าเป็นหรือตาย แต่กระนั้นก็ไม่มีใครสามารถขึ้นเงินกับสตาลินได้เลย
แม้ว่ารูเดิ้ลจะถูกยิงตกถึง 32 ครั้ง ด้วยกัน
Hans-Ulrich Rudel
นักบินซึ่งไม่เคยลากลับบ้านเลยตลอดระยะเวลาที่ออกปฏิบัติการผู้นี้เกิดเมื่อวันที่
2 กรกฎาคม 1916 ที่เมืองคอนราดวอลเดา (Konradwaldau) แคว้นไซเลเซีย (Silesia) ดินแดนที่เป็นไข่แดงระหว่าง 3 ประเทศ (เยอรมัน โปแลนด์ และสาธารณรัฐเชค) ซึ่งพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรปรัสเซียตั้งแต่ปี
1742 (หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไซเลเซียถูกผนวกเข้ากับโปแลนด์จนปัจจุบัน)
บุตรชายของนักบวชผู้เคร่งศาสนานี้แม้จะเรียนหนังสือไม่ค่อยเก่งนักซึ่งแตกต่างจากบรรดายอดนักบินของเยอรมันอื่น
ๆ แต่เขามีเลือดอารยันแท้และรักชาติเข้มข้นไม่แพ้ใคร
เมื่อเป็นวัยรุ่นก็บังเอิญว่าพรรคนาซีของฮิตเล่อร์ขึ้นครองอำนาจพอดี
เด็กหนุ่มรูเดิ้ลซึ่งเป็นนักกีฬาจึงถูกครอบงำโดยลัทธิชาตินิยมของฮิตเล่อร์ไปโดยปริยาย
ในปี
1936 ขณะมีอายุ 20 ปี รูเดิ้ลได้รับคัดเลือกให้เข้าเป็นฟาห์เน่นยุงเคอร์ (Fahnenjunker)
หรือนักเรียนนายร้อยในส่วนของลุฟท์วาฟเฟ่เนื่องจากทักษะทางการกีฬาที่โดดเด่น
และเข้ารับการฝึกบินในปีต่อมา รูเดิ้ลมีความสามารถทางการบินในระดับดี
แต่ด้วยความที่เป็นคนชอบเอาชนะและมีทัศนะที่แตกต่างจากเพื่อนนักเรียนนายร้อยด้วยกันเป็นอย่างมาก
โดยส่วนใหญ่เลือกที่จะเป็นนักบินขับไล่ ขณะที่เขาเห็นว่าการเป็นนักบินโจมตี
โดยเฉพาะนักบินดำทิ้งระเบิด เป็นสายงานที่ท้าทายความสามารถมากกว่า เพราะนอกจากต้องดำดิ่งลงไป
60-90 องศาเพื่อทิ้งระเบิดแล้วดึงเครื่องขึ้นทันทีแล้ว
ยังต้องคอยหลบกระสุนจากภาคพื้นดินด้วย จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าเหตุใดเขาจึงสมัครเข้ารับการทดสอบเพื่อฝึกเป็นนักบินดำทิ้งระเบิดประจำสตูก้าซึ่งเป็นเครื่องบินดำทิ้งระเบิดรุ่นใหม่ล่าสุดของลุฟท์วาฟเฟ่ในทันทีที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อย
และถูกส่งไปทดสอบที่เมืองกราซ (Graz) ในออสเตรียเมื่อเดือนมิถุนายน 1938 แต่ปรากฏว่าเขาสอบไม่ผ่าน
ลุฟท์วาฟเฟ่จึงส่งเขาไปฝึกบินลาดตระเวนระยะไกลแทน
แต่ก็ไม่ตัดสิทธิเขาที่จะสมัครมาเข้ารับการทดสอบเป็นนักบินสตูก้าใหม่
และเมื่อจบการฝึก ลุฟท์วาฟเฟ่มีคำสั่งให้เรืออากาศโท ฮาน อูลริช รูเดิ้ล ไปปฏิบัติหน้าที่บินลาดตระเวนระยะไกลตลอดช่วงการบุกโปแลนด์ในปี
1939 และเขาได้รับเหรียญกางเขนเหล็กชั้นที่ 2 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 1939
ฝูงบินสตูก้าขณะออกปฏิบัติการ
การโจมตีแบบสายฟ้าแลบต่อโปแลนด์แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพอันยอดเยี่ยมของสตูก้าได้เป็นอย่างดีและยิ่งเร่งเร้าให้เรืออากาศโท
รูเดิ้ล อยากไปขับสตูก้ามากยิ่งขึ้น
จนต้องยื่นใบสมัครเข้ารับการฝึกบินกับสตูก้าอีกคำรบหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 1940
คราวนี้เขาผ่านการทดสอบไปได้ และเข้ารับการฝึกบินกับสตูก้าในเดือนพฤษภาคม 1940
เมื่อจบหลักสูตรและกลายเป็นนักบินสตูก้าเต็มตัว
ลุฟท์วาฟเฟ่เลื่อนยศเขาเป็นเรืออากาศเอก
และมีคำสั่งให้เขาปฏิบัติหน้าที่นักบินดำทิ้งระเบิดประจำหน่วยบินดำทิ้งระเบิดที่ 1
กองบินสตูก้าโจมตีภาคพื้นดินที่ 168 (Stukaverband I./Sturzkampfgeschwader
168)
มีฐานปฏิบัติการที่เมืองคานส์ (Caen ) ประเทศฝรั่งเศส และปฏิบัติหน้าที่ตลอดช่วงการบุกฝรั่งเศส แต่งานหลักของเขากลับเป็นการทำลายอาคารและสะพานยุทธศาสตร์
มิได้เข้าร่วมปฏิบัติการในยุทธบริเวณ
ในเดือนเมษายน
1941 ลุฟท์วาฟเฟ่มีคำสั่งย้ายรูเดิ้ลไปเป็นนักบินประจำฝูงบิน 1
กองบินสตูก้าโจมตีภาคพื้นดินที่ 2 (I Staffel/Sturzkampfgeschwader 2
“Immelmann”)
ภายใต้การบังคับบัญชาของนาวาอากาศเอก ออสการ์ ดินอท (Oskar
Dinort) และเข้าร่วมปฏิบัติการยึดเกาะครีต
(Crete ) ประเทศกรีซในเดือนพฤษภาคม 1941 แต่ที่กรีซนี้ รูเดิ้ลก็ยังไม่ได้เข้าร่วมปฏิบัติการในยุทธบริเวณแต่อย่างใด
สัญลักษณ์กองบินสตูก้าโจมตีภาคพื้นดินที่ 2 “อิมเมลมาน”
เมื่อฮิตเล่อร์กำหนดแผนยุทธการบาบารอสซ่า
(Operation Barbarossa) ในการเข้าตีรัสเซียเพื่อครอบครองทรัพยากรน้ำมัน
ฝ่ายเสนาธิการจึงหยิบหลักนิยมสงครามสายฟ้าแลบมาปัดฝุ่นใช้อีกครั้งหนึ่ง
และเพื่อให้การโจมตีสมบูรณ์แบบจึงกำหนดให้ลุฟท์วาฟเฟ่โจมตีเพื่อทำลายสถานที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ตลอดจนเครื่องบินของรัสเซียให้เรียบก่อนที่กองทัพบกจะเข้ายึดพื้นที่
ดังนั้น ลุฟท์วาฟเฟ่จึงมีคำสั่งให้กองบินสตูก้าโจมตีภาคพื้นดินที่
2 ย้ายจากกรีซที่มีภารกิจน้อยมาเตรียมปฏิบัติการในแนวรบด้านตะวันออกแทน
และการออกปฏิบัติการตามแผนยุทธการบาบารอสซ่าเมื่อเวลา 3 นาฬิกา ของวันที่ 23
มิถุนายน 1941 ถือเป็นการออกปฏิบัติการดำทิ้งระเบิดในยุทธบริเวณอย่างเป็นทางการเที่ยวแรกของรูเดิ้ล
และภายในเวลา 18 ชั่วโมง เขาออกปฏิบัติการถึง 4 เที่ยวด้วยกัน
ซึ่งจากการที่เขากระหายที่จะออกรบมานาน รูเดิ้ลได้ออกดำทิ้งระเบิดอย่างห้าวหาญและประสบความสำเร็จอย่างงดงามจนได้รับเหรียญกางเขนเหล็ก
ชั้นที่ 1 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม
ฝูงบินสตูก้าขณะออกปฏิบัติการ
ผลงานของรูเดิ้ลในสนามรบโดดเด่นมาก
และในวันที่ 23 กันยายน ฝูงบินของ รูเดิ้ลได้รับคำสั่งให้ออกปฏิบัติการชายฝั่งเพื่อทำลายกองเรือบอลติกของกองทัพเรือรัสเซียบริเวณอ่าวครอนสตัท
(Kronstadt Harbor) ในเลนินกราด ซึ่งรูเดิ้ลดำทิ้งระเบิดขนาด 1,000 กิโลกรัม ใส่เรือลาดตระเวน
“มารัต” (Marat) ระวางขับน้ำ 23,600 ตัน
ลูกระเบิดตกลงบริเวณคลังอาวุธของเรืออย่างแม่นยำจนเกิดการระเบิดอย่างรุนแรง
และเรือลาดตระเวนดังกล่าวขาดหายไปครึ่งลำภายในพริบตา ดังนั้น เมื่อออกปฏิบัติการครบ 500 เที่ยวบิน
ในวันที่ 24 ธันวาคม 1941 รูเดิ้ลจึงได้รับการประดับเหรียญกางเขนเหล็กทองคำ (Deutsches
Kreuz) จากจอมพลอากาศ
โวลฟราม ฟอน ริชโธเฟ่น (Wolfram von Richthofen) ด้วยตนเอง
หลังประสบความสำเร็จมากมาย
ลุฟท์วาฟเฟ่มีคำสั่งให้รูเดิ้ลไปเป็นครูฝึกเทคนิคการบินดำทิ้งระเบิดในแนวรบตะวันออกแก่นักบินใหม่ของสตูก้าที่เมืองกราซ
เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่นักบินใหม่ก่อนเข้าร่วมสงคราม และในวันที่ 6 มกราคม
1942 เขาได้รับเหรียญริตเตอร์คร้อยส์ (Ritterkreuz) หรือเหรียญอัศวิน อย่างไรก็ดี
การสอนนักบินใหม่กลับกลายเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายของนักบินหนุ่มเป็นอย่างมาก
รูเดิ้ลผู้ชมชอบการออกปฏิบัติการในสนามรบจึงทำเรื่องขออนุญาตกลับไปสู่สนามรบเช่นเดิม
เมื่อประกอบกับสถานการณ์สงครามในแนวรบตะวันออกทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที
ลุฟท์วาฟเฟ่จึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม
1942 ให้รูเดิ้ลไปประจำแนวหน้าได้ตามที่ร้องขอ
โดยได้ตั้งเขาเป็นผู้บังคับฝูงบินที่ 3 กองบินสตูก้าโจมตีภาคพื้นดินที่ 2
(III Stffel/Sturzkampfgeschwader 2 “Immelmann”) มีพื้นที่รับผิดชอบบริเวณสตาลินกราด
และที่นี่เองที่ฝูงบินของเขาได้รับคำสั่งให้ออกไปโจมตีรถถังของกองทัพแดงแทนการทิ้งระเบิดทำลายรถถังแบบปูพรม
Hans-Ulrich Rudel
วันที่
10
กุมภาพันธ์ 1943 เมื่อออกปฏิบัติการครบ 1,000
เที่ยวบิน ลุฟท์วาฟเฟ่มีคำสั่งย้ายรูเดิ้ลมาทำหน้าที่นักบินทดสอบประจำหน่วยบิน “แพนเซอร์จั๊กด์คอมมานโด
ไว้ซ์”
(Panzerjagdkommando
Weiss) หรือหน่วยล่ารถถัง (กลุ่มสีขาว)
ซึ่งกำลังพัฒนาสตูก้ารุ่น Ju-87
D-3 ขึ้นมาเพื่อทำภารกิจล่ารถถังโดยเฉพาะ โดยติดปืนใหญ่ไรเมตัล-บอซิก
ขนาด 37 มิลลิเมตร 3 กระบอก
ซึ่งสามารถยิงทะลุเกราะของรถถังของกองทัพแดงได้ง่ายราวกับเอาตะปูจิ้มเข้าไปในก้อนเนยเหลว
ในการทดลองบินกับเครื่องต้นแบบที่บริเวณทะเลดำ รูเดิ้ลได้แสดงให้เห็นว่าสตูก้ารุ่นล่ารถถังนี้มีดีเพียงใด
โดยเขายิงเป้าทดสอบซึ่งเป็นรถเกราะทุกแบบที่ยึดได้จากรัสเซีย จำนวน 70 คัน กระจุยทุกคัน ในวันที่ 14 เมษายน 1943 เรืออากาศเอก รูเดิ้ล จึงได้รับใบโอ๊คมาประดับเหรียญริตเตอร์คร้อยส์ของเขา หลังจากนั้น
ลุฟท์วาฟเฟ่จึงมีคำสั่งให้ทดสอบในสนามรบจริง โดยให้ฝูงบินของรูเดิ้ลซึ่งประกอบด้วยนักล่ารถถัง จำนวน
9 ลำ ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการสนับสนุนกองพลยานเกราะที่ 3 “กระโหลกผี”
(III SS Panzer Division
“Totenkopf”) ในการปฏิบัติการซิต้าเดล (Operation Citadel)
ในการออกปฏิบัติการเที่ยวแรกของวันแรก เขายิงรถถังของกองทัพแดงระเบิดไป 4 คัน
พอตกเย็น เหยื่อของเขาเพิ่มขึ้นเป็น 12 คัน
เขาเล่าถึงความยอดเยี่ยมของปืนใหญ่บินได้แบบ
Ju-87 D-3
ในสนามรบจริงกับเหยื่อคันแรกว่า “...พลปืนหลังของผมถึงกับอุทานออกมาว่ามันระเบิดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยราวกับดอกไม้ไฟ
และเศษชิ้นส่วนกระเด็นมาเกือบโดนเราทีเดียว...”
ความสำเร็จดังกล่าวทำให้ลุฟท์วาฟเฟ่ไม่รีรอที่จะมีคำสั่งให้ปรับปรุง
Ju-87 D-3
ทั้งหมด เป็นนักล่ารถถังเป็นการด่วน
และกำหนดหมายเลขรุ่นของเครื่องที่ได้รับการปรับปรุงใหม่เป็น Ju-87 G-1
เพื่อส่งกลับเข้าประจำแนวรบตะวันออก พร้อมกันนั้น
ก็มีคำสั่งให้จัดตั้งฝูงบินล่ารถถัง (Panzerstaffels) ขึ้นเป็นการเฉพาะ
โดยมอบหมายให้รูเดิ้ลพัฒนาเทคนิคการล่ารถถัง ซึ่งรูเดิ้ลพบว่ารถถัง ที-34 ของกองทัพแดง
ถูกออกแบบมาให้เป็นนักบู๊แบบเดินหน้าฆ่าให้ตาย จึงห่วงหน้ามากกว่าพะวงหลัง
ด้านหน้าของ ที-34 จึงมีเกราะหนา
ส่วนด้านหลังเป็นจุดอ่อนเพราะใช้วางเครื่องและระบบระบายความร้อน
จึงไม่สามารถติดเกราะป้องกันได้ การยิง ที-34
แบบโป้งเดียวจอดจึงต้องยิงด้านหลัง แต่การ “เข้าข้างหลัง”
เช่นนี้ก็เสี่ยงไม่น้อย เพราะต้องบินข้ามแนวข้าศึกเข้าไปก่อนที่จะวกกลับมาจัดการกับเหยื่อ
ซึ่งแน่นอนว่าข้าศึกต้องไม่ลืมเตรียมการต้อนรับสตูก้าอย่างแน่นอน
ในฐานะนักล่ารถถังที่ประสบความสำเร็จ
รูเดิ้ลได้รับดาบมาประดับริตเตอร์คร้อยส์เพิ่มจากใบโอ๊ค เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม
1943 หลังจากนั้น เขาได้ออกปฏิบัติการล่ารถถังแทบทุกวันเนื่องจากรัสเซียเริ่มรุกโต้ตอบอย่างหนักหน่วง
เมื่อออกปฏิบัติการครบ 1,500 เที่ยวบิน เมื่อต้นเดือนมีนาคม 1944
ลุฟท์วาฟเฟ่จึงเลื่อนยศเขาเป็นนาวาอากาศตรี แต่ในวันที่ 20 มีนาคม ฝูงบินของรูเดิ้ลที่ได้รับคำสั่งให้ออกไปทิ้งระเบิดสะพานข้ามแม่น้ำดนีเปอร์ที่จัมโปล
(Jumpol) ประมาณ 50
กิโลเมตร หลังแนวข้าศึก ถูกฝูงบินขับไล่ Lavochkin
La-5
เข้าโจมตีระหว่างออกปฏิบัติการสนับสนุนภาคพื้นดิน
โชคไม่ดีนัก
ลูกฝูงหมายเลข 8 ถูกพวกอีวานยิงตก 1 ลำ แต่ลูกเรือไม่ได้รับบาดเจ็บ
ผู้บังคับฝูงรูเดิ้ลทราบดีว่าหากลูกเรือสตูก้าถูกพวกรัสเซียจับได้จะต้องถูกทรมานอย่างสาหัส
เขาจึงบินลงเพื่อช่วยเหลือลูกน้องอย่างห้าวหาญ แต่เจ้ากรรมที่ดินบริเวณชายฝั่งแม่น้ำนั้นอ่อนเกินไป
ทำให้ไม่สามารถบินขึ้นได้ ทั้ง 4 ชีวิตต้องทำลายเครื่องบินทิ้ง แล้วรีบหนีกลับแนว
โดยด่านแรกต้องว่ายข้ามแม่น้ำดนีเปอร์ที่ทั้งลึกทั้งกว้าง (ประมาณ 600 เมตร) และหนาวเหน็บก่อน
แต่สิบเอกเออร์วิล เฮนท์เชล (Erwin Hentschel)
พลปืนหลังของรูเดิ้ลที่ออกปฏิบัติการร่วมเป็นร่วมตายกันมากว่า 1,400 เที่ยวบิน
ทนความหนาวเหน็บของแม่น้ำไม่ไหว จมน้ำลงไปก่อนที่จะถึงฝั่ง ส่วนลูกเรืออีก 2 คน
ขึ้นฝั่งได้อย่างสะบักสะบอม และหมดแรงไม่สามารถไปต่อได้ จนถูกจับไปโดยทหารรัสเซียเป็นร้อย
ๆ คนที่ตามล่าพวกเขาโดยใช้หมาและม้านำทาง เหตุที่พวกอีวานระดมกันมาล่ารูเดิ้ลก็เพราะหวังจะได้เงินค่าหัวของเขาที่สติลินตั้งไว้ถึง
100,00 รูเบิ้ล นั่นเอง ส่วนรูเดิ้ลซึ่งถูกยิงที่ไหล่ขณะถูกตามล่าและต้องเดินเท้าแบบหลบ
ๆ ซ่อน ๆ ตลอด 24 ชั่วโมง ท่ามกลางความหนาวเย็นและกองทหารรัสเซีย โดยไม่มีเสื้อผ้า
อาหารและเข็มทิศนั้น สามารถกลับไปถึงค่ายได้เพียงคนเดียว
วีรกรรมครั้งนี้ทำให้รูเดิ้ลได้รับเพชรมาประดับกางเขนเหล็กประดับใบโอ๊คและดาบเมื่อวันที่
29 มีนาคม 1944
แผนที่เส้นทางหลบหนีของรูเดิ้ล
ในเดือนกันยายน
1944 ฝูงบินของรูเดิ้ลได้รับมอบหมายให้คุ้มครองปฏิบัติการของทหารราบในฮังการี
และในระหว่างออกปฏิบัติการเหนือน่านฟ้าบูดาเปสท์ รูเดิ้ลถูก
ปตอ.ยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสที่โคนขา แต่หลังจากพักอยู่ 3-4 วัน
เขาก็ออกปฏิบัติการอีกทั้งที่ยังมีผ้าพันแผลหนาเตอะพันอยู่ที่โคนขานั่นเอง
การปฏิบัติการอย่างทุ่มเทของเขาทำให้ฮิตเล่อร์มอบเหรียญกางเขนเหล็กประดับใบโอ๊คทองคำ
ดาบทองคำ และเพชรให้เขาเป็นกรณีพิเศษในวันที่ 1 มกราคม 1945
และมีเขาเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่ได้รับเหรียญนี้ตลอดสงคราม แต่ในเดือนกุมภาพันธ์
1945 ขณะปฏิบัติการใกล้กับแฟรงก์เฟิร์ต รูเดิ้ลก็ถูกสอยด้วย ปตอ.จนบาดเจ็บสาหัสอีกคำรบหนึ่ง
โดยที่ขาขวาโดนสะเก็ดระเบิดเข้าไปเต็ม ๆ จนเกือบสิ้นสภาพ
แต่ผู้ฝูงกระดูกเหล็กก็ไม่ยอมลาโลกไปง่าย ๆ เขาถูกส่งไปรักษาที่แบลีน (Berlin ) และต้องใส่ขาเทียม เมื่อกลับมาโขยกเขยกได้
เขาได้รับแต่งตั้งเป็นนาวาอากาศโท ปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับกองบินสตูก้าโจมตีภาคพื้นดินที่
2 “อิมเมลมาน”
(Sturzkampfgeschwader 2 “Immelmann”) ที่เขารัก
กางเขนเหล็กประดับใบโอ๊คทองคำ ดาบทองคำ และเพชร
เมื่อมีข่าวว่าเยอรมันจะยอมแพ้
รูเดิ้ลผู้รักชาติและบูชาท่านผู้นำอย่างแรงกล้าถึงกับรับไม่ได้
เขากับผู้ใต้บังคับบัญชาจึงวางแผนพลีชีพให้แก่สงครามที่จะสิ้นสุดลง
โดยจะขับสตูก้าคู่ใจดำทิ้งระเบิดเป็นครั้งสุดท้าย
แต่จะไม่เชิดหัวขึ้นบินระดับอีกตลอดกาล อย่างไรก็ดี
เมื่อผู้บังคับบัญชาของเขาเตือนสติว่า “...เยอรมันต้องการพวกคุณเพื่อฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม...”
รูเดิ้ลกับหนุ่มใจร้อนทั้งหลายจึงได้คิดและเลิกล้มแผนการบ้า ๆ นั้นเสีย
เมื่อพลโทโยเดิ้ลลงนามสงบศึก
รูเดิ้ลยังอยู่โบฮีเมีย ปฏิบัติการครั้งสุดท้ายของเขากับสตูก้าเป็นการบินไปมอบตัวที่สนามบินคิทซินเก้น
(Kitzingen)
ซึ่งอยู่ในเขตยึดครองของทหารอเมริกัน
เพื่อมิให้พวกอีวานจับเขาไปขึ้นค่าหัวจากสตาลิน
เขาถูกส่งตัวไปสอบสวนที่อังกฤษและต่อมาที่ฝรั่งเศส (ซึ่งทหารผู้สัมภาษณ์นิยามว่าเขาเป็นพวกทหารนาซีแท้)
ก่อนจะถูกปล่อยตัวกลับไปพักฟื้นที่โรงพยาบาลในบาวาเรีย
ในระหว่างสงคราม
รูเดิ้ลออกปฏิบัติการ 2,530 เที่ยวบิน บินเป็นระยะทางกว่า 6
แสนกิโลเมตรทิ้งระเบิดไปมากกว่า 1 ล้านกิโลกรัม ทำลายป้อมปืนใหญ่ไปกว่า 150 ป้อม
รถถังกว่า 518 คัน รถบรรทุกทหารกว่า 700 คัน เรือประจัญบาน 1 ลำ (เรือ October Revolution ของกองทัพเรือรัสเซีย) เรือลาดตระเวน 1 ลำ (เรือ Marat ของกองทัพเรือรัสเซีย) เครื่องบินที่ปฏิบัติการในอากาศ 9 ลำ
เครื่องบินที่จอดอยู่ 70 ลำ สะพาน ทางรถไฟ ถนนหนทาง และบังเกอร์อีกนับร้อยแห่ง
เขาถูกยิงตกรวม 32 ครั้ง แต่ไม่ตาย และเป็นนักบินหนึ่งในไม่กี่คนที่เข้าร่วมสงครามมาตั้งแต่ต้นและอยู่รอดมาได้จนสงครามเลิก
หลังสงครามรูเดิ้ลได้ทำงานด้านการขนส่งสินค้าที่เขารู้สึกว่าน่าเบื่อ
พอกองทัพอากาศอาเจนติน่าติดต่อให้เขาไปร่วมงานในปี 1948
ในฐานะที่ปรึกษาเช่นเดียวกับหัวกระทิคนอื่น ๆ ของลุฟท์วาฟเฟ่ เขาจึงไม่รีรอที่จะเดินทางไปอาเจนติน่า
และกลับมาเยอรมันในช่วงปี 1950 และแม้จะต้องใส่ขาเทียม
บุรุษเหล็กอย่างรูเดิ้ลยังคงชมชอบการทำงานที่ท้าทายเป็นชีวิตจิตใจ
เขายังไปปีนเขาและเล่นสกีอย่างสม่ำเสมอ พิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในทวีปอเมริกา คือ
อะคอนคากัว (7,020 เมตร) และเป็นครูฝึกเล่นสกีผู้ชำนาญ
ยอดนักบินสตูก้าผู้นี้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่
18 ธันวาคม 1982 ขณะที่มีอายุ 66 ปีที่บ้านของเขาในโรเซ่นไฮม์