ปกรณ์ นิลประพันธ์
ออสเตรเลียเป็นประเทศในเครือจักรภพอังกฤษที่อยู่อย่างเป็นเอกเทศในซีกโลกใต้ที่ห่างไกลจากยุโรปและแอฟริกามาก แต่จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมากลับปรากฏว่าประเทศที่อยู่ในดินแดนอันแสนสุขเช่นออสเตรเลียนี้เข้าไปมีบทบาทมากมายในสงครามทั่วทุกภูมิภาคของโลกสืบมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ไครฟ์ โรเบอร์ตสัน คอลเวล
สำหรับสงครามโลกครั้งที่สอง นักรบจากแดนจิงโจ้ก็มีบทบาททั้งในสมรภูมิยุโรป
แอฟริกา และแปซิกฟิก โดยในส่วนของสงครามทางอากาศนั้น
สุดยอดนักบินของกองบินหลวงออสเตรเลีย (Royal Australian Air Force: RAAF) เห็นจะไม่มีใครเกิน
ไครฟ์ โรเบอร์ตสัน คอลเวล (Clive Robertson Caldwell)
เจ้าของฉายา “เดอะ คิลเลอร์”
(The Killer) นักบินมือหนึ่งของออสเตรเลีย
ผู้รั้งอันดับที่ ๗ ของนักบินขับไล่ในเครือจักรภพอังกฤษที่ยิงเครื่องบินข้าศึกตกมากที่สุด
คอลเวล
เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๑๙๑๑ (๒๔๕๔) ที่ตำบลเลวิสแช่ม (Levisham) เขตมาริควิล
(Marrickville) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซิดนีย์
ประเทศออสเตรเลีย คอลเวลชอบการบินมากและมุ่งมั่นที่จะเอาดีทางด้านนี้ ดังนั้น หลังจากจบการศึกษาชั้นมัธยมจากซิดนีย์
แกรมมาร์ สกูล (Sydney
Grammar School)
โรงเรียนชายล้วนที่เก่าแก่และโด่งดังมากที่สุดแห่งหนึ่งของออสเตรเลีย เขาสมัครเข้ารับการฝึกบินที่สโมสรการบินหลวง
(Royal Aero Club) จนได้ใบอนุญาตนักบินพลเรือน
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติขึ้นในยุโรป
คอลเวลผู้ชมชอบความท้าทายจึงสมัครเป็นนักบินของกองบินหลวงออสเตรเลียในปี ๑๙๓๙ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เป็นนักบินขับไล่
แต่โดยที่เวลานั้นเขามีอายุปาเข้าไปถึง ๒๘ ปีแล้ว
ซึ่งเกินเกณฑ์ที่กองบินหลวงออสเตรเลียกำหนดสำหรับนักบินที่จะไปฝึกบินขับไล่
คอลเวลถึงกับโกงอายุของเขาในสำเนาใบสูติบัตร (birth certificate) ที่ใช้ประกอบการสมัครว่ามีอายุเพียง
๒๖ ปี ซึ่งต้องนับว่าเป็นโชคดีของเขาที่เวลานั้นเป็นช่วงสงครามซึ่งกองทัพต้องการกำลังพลอาสาสมัครจำนวนมากและยังไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้
เพราะมิฉะนั้นแล้วเขาอาจต้องติดคุกหัวโตฐานปลอมเอกสารราชการก็ได้
การปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอายุของคอลเวลและประวัติการบินพลเรือนที่ยอดเยี่ยมของเขาทำให้กองบินหลวงออสเตรเลียรับคอลเวลไว้ฝึกบินเป็นนักบินขับไล่สมใจอยากของเขา
และกองบินหลวงออสเตรเลียส่งเขาไปฝึกบินขับไล่ตามโครงการ Empire Air
Training Scheme (EATS) ของเครือจักรภพ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการสร้างนักบินพร้อมรบเพื่อประโยชน์ในการป้องกันประเทศในเครือจักรภพ
โครงการ EATS ที่ริเริ่มขึ้นโดยอังกฤษและได้รับความสนับสนุนจากทุกประเทศประเทศในเครือจักรภพนี้กำหนดให้ทุกประเทศจัดให้มีการฝึกบินรบขั้นพื้นฐานในประเทศของตน
เมื่อผ่านการทดสอบฝีมือบินแล้ว นักบินจะถูกส่งต่อไปฝึกบินรบขั้นก้าวหน้าในแคนาดาเพื่อให้คุ้นเคยกับเครื่องบินและอาวุธหลักที่จะใช้ในกองทัพของประเทศในเครือจักรภพ
รวมทั้งมีการส่งไปฝึกบินจริงในสมรภูมิยุโรปก่อนสำเร็จการฝึกด้วย
ดังนั้น เมื่อคอลเวลผ่านการฝึกบินรบขั้นพื้นฐานในออสเตรเลียแล้ว
เขาก็ถูกส่งต่อไปฝึกบินรบขั้นก้าวหน้าในแคนาดา เมื่อจบหลักสูตรในปี ๑๙๔๐
กองบินหลวงออสเตรเลียได้บรรจุคอลเวลเป็นนักบินประจำการ และโดยที่คอลเวลขับเครื่องบินมานานและมีทักษะการบินที่โดดเด่น
ยิงปืนแม่น กองบินหลวงออสเตรเลียจึงบรรจุคอลเวลในตำแหน่งครูการบินแทนที่จะเป็นนักบินขับไล่ที่ต้องออกปฏิบัติการในแนวหน้าอย่างที่เขาตั้งความหวังไว้แต่แรก
หนุ่มเลือดร้อนพยายามวิ่งเต้นอยู่ระยะหนึ่งแต่ก็ไม่เป็นผล
เพราะกองบินหลวงออสเตรเลียต้องการให้ยอดนักบินอย่างเขาใช้ทักษะที่มีอยู่ในการสร้างนักบินใหม่จำนวนมากเพื่อรองรับสงครามในแปซิกฟิกที่อาจเกิดขึ้น
คอลเวลผิดหวังมากจนถึงกับลาออกจากราชการไป
อย่างไรก็ดี ความที่คอลเวลชมชอบการบินที่โลดโผนเร้าใจซึ่งการบินพาณิชย์ไม่สามารถตอบสนองความต้องการในส่วนนี้ของเขาได้
คอลเวลจึงสมัครเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่งในเดือนมกราคม ๑๙๔๑
และกองบินหลวงออสเตรเลียได้บรรจุเขากลับเข้ารับราชการในตำแหน่งนักบินขับไล่
ซึ่งคราวนี้เขาได้ออกบินรบสมใจอยากเมื่อกองบินหลวงออสเตรเลียส่งเขาไปปฏิบัติหน้าที่ในกองบินหลวงอังกฤษ
และกองบินหลวงอังกฤษได้มีคำสั่งให้เขาไปประจำการในฝูงบิน ๒๕๐ ซึ่งประจำการด้วยโทมาฮอว์ค
(Curtiss P-๔๐B และ P-๔๐C) ทำหน้าที่ครอบครองน่านฟ้าอียิปต์และลิเบีย
หลังจากออกปฏิบัติการมากว่า
๔๐ เที่ยวบิน และเข้าปะทะกับข้าศึกมาหลายครั้ง
แต่คอลเวลก็ยังยิงเครื่องบินข้าศึกตกลงไม่ได้สักเครื่องเดียวทั้งที่สมรภูมิทะเลทรายนี้มีเครื่องบินข้าศึกออกปฏิบัติการมากมายราวกับแมลงวัน
จนถูกเพื่อน ๆ ล้อว่าเป็น “หมูสนามจริง
สิงห์สนามซ้อม”
คอลเวลซึ่งทะนงตนมาตลอดว่าเป็นมือหนึ่งของแดนจิงโจ้จึงมีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่มาก
เพราะทุกครั้งที่ยิงเขาพบว่าเครื่องบินข้าศึกทาบอยู่กลางศูนย์เล็งทุกครั้ง
แต่ทำไมกระสุนถึงไม่โดนเป้า แต่แล้วในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๑๙๔๑ เขาก็รู้สึกโล่งใจไปได้เปลาะหนึ่งเมื่อหมู่บินของเขาได้รับคำสั่งให้ออกลาดตระเวนน่านฟ้าในเขตพื้นที่รับผิดชอบตามปกติ
ก็บังเอิญไปจ๊ะเอ๋กับหมู่บินลาดตระเวนแมสเซอชมิดท์ บีเอฟ ๑๐๙ ของฝูงบิน ๑ กองบินขับไล่หนึ่งเครื่องยนต์ที่
๒๗ (I/JG ๒๗) ของลุฟท์วาฟเฟ่เข้าโดยบังเอิญบริเวณคาพุซโซ่ (Capuzzo) คอลเวลจึงปรี่เข้าหาบีเอฟ ๑๐๙ ของเรืออากาศโท ไฮนซ์
ชมิดท์ (Heinz Schmidt)
หลังจากพันตูกันระยะหนึ่งและเสียกระสุนไปหลายชุด
ในที่สุดเขาก็ส่งบีเอฟ ๑๐๙ ลำนั้นไปโหม่งโลกได้ แต่จนแล้วจนรอดเขาก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าทำไมเจ้าบีเอฟ ๑๐๙
ลำนั้นถึงไม่ตกตั้งแต่เขายิงชุดแรก ทั้งที่ตอนที่เขาเหนี่ยวไกปืนมันอยู่กลางเป้าพอดี!!!
บ่ายแก่ ๆ วันหนึ่งหลังจากนั้น ขณะบินกลับฐานหลังจากภารกิจลาดตระเวนตามปกติ
คอลเวลสังเกตเห็นเงาของเครื่องบินของเขาทอดอยู่บนพื้นทรายเบื้องหน้า ด้วยความหงุดหงิดจากสภาพจิตใจที่สับสน
เขาจึงเล็งปืนอย่างประณีตและยิงไปที่เงานั้นโดยสมมุติว่าเป็นเครื่องบินข้าศึก แต่ปรากฏว่าลูกปืนชุดนั้นยิงไม่ถูกเงาทั้ง
ๆ ที่ตอนเขาเล็งปืนนั้นเป้าอยู่กลางศูนย์เล็งพอดี โดยลูกปืนชุดนั้นกลับไปโดนพื้นทะเลทรายตรงที่ห่างจากเงานั้นไปทางด้านหลังเล็กน้อย
เมื่อเห็นเช่นนี้
พุทธิปัญญาจึงเกิดขึ้นแก่คอลเวลว่าขณะที่เขายิงนั้นข้าศึกเองได้เคลื่อนที่ออกห่างจากเขาไปด้วย
หากไม่แก้ปัญหาดังกล่าว ลูกปืนของเขาก็ไม่โดนข้าศึกอยู่ดี คอลเวลจึงลองยิงใหม่อีกชุดหนึ่ง
คราวนี้เขายิงตั้งแต่เป้าเริ่มทาบเข้าศูนย์เล็ง
และแน่นอนที่กระสุนโดนกลางเงาเป้าหมายทันที
บัดนี้
เขารู้แล้วว่าเขาจะยิงเครื่องบินข้าศึกที่กำลังเคลื่อนที่เหมือนกับเขาให้ตกลงได้อย่างไร
หลังจากรู้เคล็ดลับที่เขาเรียกว่าเทคนิคการยิงเงา (Shadow shooting) คอลเวลก็ได้นำมาทดลองใช้ปฏิบัติการจริง และในวันที่ ๓๐
มิถุนายน ๑๙๔๑
เจ้าหน้าที่ฝูงบินก็บันทึกข้อมูลในบันทึกการบินของคอลเวลว่าเขามีส่วนร่วมในการยิง
บีเอฟ ๑๑๐ ตกหนึ่งเครื่องนอกเมืองโทบรูค (Tobruk) ในลิเบีย ซึ่งเรียกความมั่นใจของคอลเวลกลับมาอีกครั้ง
และหลังจากนั้นสองสัปดาห์ คอลเวลส่งเครื่องบินของฝ่ายอักษะลงไปจมกองทรายอันร้อนระอุของแอฟริกาเหนือได้ถึง
๔ เครื่อง
และคอลเวลได้แนะนำเทคนิคนี้ให้แก่เพื่อนนักบินจนทำให้เทคนิคการยิงเงากลายเป็นหลักสูตรการฝึกมาตรฐานของนักบินสัมพันธมิตรในสมรภูมิทะเลทราย
ในวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๑๙๔๑
หลังจากออกปฏิบัติการทางตะวันตกเฉียงเหนือของอียิปต์
คอลเวลได้แยกจากฝูงบินของเขาเพื่อกลับฐานที่ซิดิ เฮนิช (Sidi Haneish)
แต่ระหว่างทาง
คอลเวลถูกรุมโดย บีเอฟ ๑๐๙ สองเครื่อง เหนือเมืองซิดิ บารานี (Sidi
Barrani) อันเป็นเมืองชายทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของอียิปต์
และหนึ่งในสองเครื่องที่รุมเขานั้นคือ แบล็ค ๘ (Black ๘)
แห่งกองบินขับไล่หนึ่งเครื่องยนต์ที่ ๒๗ (JG
๒๗) บังคับโดยนาวาอากาศตรี แวร์เนอร์ ชโรเออร์ (Werner Schroer)
(นักบินผู้นี้มีประวัติการรบทางอากาศที่โดดเด่นมากโดยเมื่อสิ้นสุดสงคราม ชโรเออร์ยิงเครื่องบินสัมพันธมิตรตกรวม
๑๑๔ เครื่อง ในการออกปฏิบัติภารกิจเพียง ๑๙๗ ภารกิจเท่านั้น)
หลังจากถูกโฉบเข้าโจมตีของบีเอฟ
๑๐๙ เครื่องที่หนึ่ง คอลเวลถูกกระสุนเข้าที่หลัง ไหล่ซ้ายและขาซ้าย
ในการโฉบเข้าโจมตีของเครื่องที่สองซึ่งขับโดยชโรเออร์
กระสุนเจาะคาโนปี้แตกและทำให้เศษกระจกบาดหน้าและคอของเขาจนเลือดโชก แต่จิงโจ้อันตรายก็ยอดเยี่ยมสมเป็นมือหนึ่งของออสเตรเลีย แทนที่เขาจะตื่นกลัว
สถานการณ์เช่นนี้กลับทำให้เขามีสติและไม่กลัวตาย คอลเวลพาโทมาฮอว์คพิการเลี้ยววงแคบตามไปจั่วผู้ร้ายสองลำนั้นอย่างไม่หวาดหวั่น
คนที่ตกใจจึงกลายเป็นนักบิน บีเอฟ ๑๐๙ ทั้งสองลำนั้น คอลเวลตามแบล็ค ๘ ที่เพิ่งจะโฉบยิงเขาหยก
ๆ ไปติด ๆ และกระหน่ำแบล็ค ๘ ตามเทคนิคยิงเงาที่เขาค้นพบจนแบล็ค ๘ เสียหายหนักจนต้องถอนตัวออกจากการรบ
นาวาอากาศตรี แวร์เนอร์ ชโรเออร์
จากนั้น คอลเวลหันไปต่อกับลูกหมู่ของชโรเออร์ที่กำลังเสียขวัญและซัด
บีเอฟ ๑๐๙ ลำนั้นลงไปล้อยอดคลื่นของทะเลทรายได้หลังจากเครื่องบินพิการของชโรเออร์บินจากไปได้ไม่นานนัก
แต่เมื่อท้องฟ้าปลอดโปร่งเครื่องยนต์ของจอมอึดคู่ทุกข์คู่ยากของเขาดันเกิดไฟลุกขึ้นมาอีก
คอลเวลจึงต้องประคองมันกลับมาลงที่ฐานอย่างทุลักทุเล
เมื่อกลับมาถึงฐานบิน
คอลเวลพบว่าเขาต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่ JG ๒๗ ไปไม่น้อยเช่นกัน
เพราะนอกจากบาดแผลที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเองแล้ว โทมาฮอว์คคู่ชีพก็มีสภาพเหมือนคนเป็นอีสุกอีใส
ช่างประจำฝูงต้องทำงานกับเกือบเป็นลมเพราะต้องอุดรูกระสุน ๗.๙ มิลลิเมตร ของบีเอฟ
๑๐๙ มากกว่า ๑๐๐ รู แถมยังต้องอุดรูที่เกิดจากปืนใหญ่อากาศ ๒๐ มิลลิเมตร
ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นลูกปืนของชโรเออร์หรือลูกหมู่ที่ถูกยิงตกไป อีก ๕ รู และนับแต่นั้นมานักบินร่วมฝูงของเขาถึงกับมั่นใจว่าจิงโจ้หนังเหนียวตัวนี้ต้องไม่ตายในสงครามเป็นแน่
เมื่อช่างซ่อมเครื่องบินของเขาเสร็จ
คอลเวลก็ออกอาละวาดในทะเลทรายอันไพศาลของแอฟริกาเหนืออีกครั้งด้วยความมั่นใจมากกว่าเดิม
และสามารถส่ง บีเอฟ ๑๐๙ ลงไปจมทรายได้อีก ๔ เครื่อง เครื่องแรกเมื่อวันที่ ๒๗
กันยายน ๑๙๔๑ เหนือเมืองบุคบุค (BuqBuq)
และจัดการเครื่องที่สองในวันถัดไปเหนือบาเดีย (Badia)
เครื่องที่สามเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๑๙๔๐ เหนือเมืองโทบรูค และเหยื่อลำที่สี่ของเขาเป็น
บีเอฟ ๑๐๙ ของนาวาอากาศตรี โวฟกัง ลิพเพอร์ท (Wolfgang Lippert) ผู้บังคับฝูงบิน
๒ กองบินขับไล่หนึ่งเครื่องยนต์ที่ ๒๗ (II/JG ๒๗) ผู้มีสถิติยิงเครื่องบินสัมพันธมิตรตกมาแล้ว
๓๐ ลำ ซึ่งแม้ลิพเพอร์ทจะสามารถกระโดดร่มหนีออกมาได้แต่เขาขาหักและถูกจับเป็นเชลยศึก
ต่อมาบาดแผลที่ขาทั้งสองข้างเกิดติดเชื้ออย่างรุนแรงจนเสียชีวิต
นาวาอากาศตรี โวฟกัง ลิพเพอร์ท
ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๑๙๔๑
(หรือก่อนญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิลล์ ๒ วัน) เป็นวันที่ชื่อของคอลเวลกระฉ่อนไปทั่วทะเลทรายเมื่อเขาสามารถจัดการเครื่องดำทิ้งระเบิดสตูก้า
(Junkers Ju ๘๗)
ได้ถึง ๕ เครื่อง ทางตอนใต้ของเอล เอเด็ม (El Adem) ในการออกปฏิบัติการเพียงเที่ยวเดียวระหว่างยุทธการครูเซเดอร์
(Crusader) ซึ่งแผนยุทธการนี้กำหนดวันปฏิบัติการระหว่าง
๑๘ พฤศจิกายน ถึง ๓๐ ธันวาคม ๑๙๔๑ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลดปล่อยโทบรูคเมืองยุทธศาสตร์ในลิเบีย
หลังจากแอฟริกาคอร์ป (Afrika
Korps)
ของจิ้งจอกทะเลทราย เออร์วิล รอมเมล (Erwin Rommel) เข้ายึดมาตั้งแต่วันที่
๑๐ เมษายน ๑๙๔๑
คอลเวลเล่าว่า
“ผมได้รับวิทยุว่าฝูงบินขนาดใหญ่ของข้าศึกกำลังบินอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ฝูงบิน ๒๕๐ จึงบ่ายหน้าเข้าหน้าฝูงบินข้าศึกนั้นในฐานะผู้คุ้มกันของฝูงบิน ๑๑๒
เราบินตามฝูงบินข้าศึกทางด้านหลัง
และผมสังเกตว่าหมู่บินที่รั้งท้ายฝูงประกอบด้วยสตูก้า ๓ ลำ เมื่อเข้าไปในระยะ ๓๐๐
หลา ผมยิงปืนทุกกระบอกไปที่สตูก้าลำที่เป็นของของหัวหน้าหมู่บิน มันโดนเข้าไปเต็ม
ๆ จนเสียศูนย์ร่วงลงพื้นไปอย่างหมดสภาพ ผมจึงยิงลำที่สอง
กระสุนถูกสตูก้าเคราะห์ร้ายลำนั้นอย่างจังจนมันระเบิดขึ้นในพริบตา
ผมจึงหลบการระเบิดไปทางลำที่สามซึ่งอยู่ที่ความสูงประมาณ ๑,๐๐๐ ฟุต
และยิงทันทีที่เป้าเริ่มทาบศูนย์เล็ง มันไฟลุกท่วม ควันโขมง และหัวปักลงดิน
ผมตามไปดูจนเห็นมันตกกระแทกพื้นแหลกละเอียด ผมจึงเงยหัวขึ้นก็พบสตูก้าลำที่สี่บินอยู่ข้างหน้าเหนือเครื่องบินของผม
ผมจึงเร่งเครื่องจี้เข้าไปใกล้แล้วกระหน่ำออกไปหนึ่งชุดโดนใต้ท้องของเครื่องบินข้าศึกลำนั้นอย่างจังจนฉีกเป็นชิ้น
ๆ แล้วพลิกท้องปักหัวตกทะเลทรายไป
ผมไม่ได้ตามไปดูแต่เร่งเครื่องเข้าหาสตูก้าอีกลำหนึ่งและเข้าไปจ่อยิงมันใกล้ ๆ
จนมันลุกเป็นไฟและเกิดระเบิดขึ้นทันทีเหมือนกับลำที่สอง จากนั้นผมเร่งเครื่องไปหาเจยู ๘๗ อีกเครื่องหนึ่ง
และยิงมันจนไฟลุก แต่นักบินเยอรมันคนนั้นยอดเยี่ยมมากที่พาเครื่องบินพิการลำนั้นหนีกลับฐานไปได้”
เพื่อนนักบินพากันตั้งฉายาให้เขาว่า
“นักฆ่า”
(The Killer) และรู้กันทั่วในทะเลทรายว่า “เดอะ คิลเลอร์” หมายถึงคอลเวล แต่คอลเวลหาได้ภูมิใจกับฉายานี้ไม่ บ๊อบบี้ กิ๊บส์ (R.H. “Bobby” Gibbes) อดีตนักบินในบังคับบัญชาของคอลเวล เล่าถึงที่มาของฉายาของคอลเวลว่า
จริง ๆ แล้วเขาไม่ได้กระหายเลือดตามฉายาที่ว่านั้นหรอก “แต่เป็นพราะเขามีนิสัยชอบดำลงไปยิงขบวนรถของข้าศึกที่เขาพบบนพื้นดินระหว่างบินกลับฐานหลังเสร็จภารกิจ
ทำนองว่าไม่อยากเหลือลูกกระสุนไว้ในรังปืนให้เสียเที่ยว และเครื่องบินของเขาก็ไม่เคยมีลูกปืนเหลือกลับมาให้เห็นที่ฐานเลยแม้แต่ครั้งเดียว”
วันที่
๑๒ และ ๒๐ ธันวาคม ๑๙๔๑ คอลเวล ยิงบีเอฟ ๑๐๙ ตกอีกสองเครื่อง
เขาจึงมีชัยชนะเหนือข้าศึก ๑๗ ครั้ง และได้รับเหรียญกล้าหาญ DFC and Bar ในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ต่อมา ในเดือนมกราคม ๑๙๔๒
กองบินหลวงอังกฤษได้แต่งตั้งเขาเป็นผู้บังคับฝูงบิน ๑๑๒
ซึ่งประกอบด้วยนักบินอาสาสมัครโปแลนด์ถึง ๑๒ คน
และเปลี่ยนเครื่องบินใหม่เป็นคิตตี้ฮอว์ค (Curtiss P-๔๐E และรุ่นหลังจากนั้น) หลังจากนั้น เขายิงบีเอฟ ๑๐๙ ตกอีก ๒ เครื่อง และมัคชี่
(Macchi) ซี ๒๐๒ โฟลโกเร (Folgore) ตกอีก ๒ เครื่อง
หลังจากนั้น
รัฐบาลออสเตรเลียได้ขอตัวคอลเวลกลับมาปฏิบัติราชการสงครามในประเทศบ้านเกิดเพราะญี่ปุ่นได้ขยาย
“วงไพบูลย์แห่งเอเชียตะวันออก” มาถึงตอนเหนือของออสเตรเลีย
และมีการส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดเมืองดาร์วินในเขตปกครองตนเอง Northern
Territory เป็นประจำ
เมื่อกลับมาถึงบ้าน
กองบินหลวงออสเตรเลียได้แต่งตั้งเขาให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับกองบิน ๑
มีฐานปฏิบัติการที่เมืองดาร์วิน โดยกองบินนี้ประกอบด้วยฝูงบิน ๕๔
ของกองบินหลวงอังกฤษ และฝูงบิน ๔๕๒ และ ๔๕๗ ของกองบินหลวงออสเตรเลีย ทั้งหมดประจำการด้วยสปิตร์ไฟร์ Mk Vc
แม้จะประสบกับความเปลี่ยนแปลงนานัปการ
ทั้งการเปลี่ยนตัวข้าศึกจากเยอรมันและอิตาลีมาเป็นญี่ปุ่น
การเปลี่ยนแปลงอาวุธของข้าศึกจาก บีเอฟ ๑๐๙ และมัคชี่ มาเป็นซีโร่และฮายาบูซ่า
เปลี่ยนแปลงสนามรบจากทะเลทรายมาเป็นป่าดงดิบ
และเปลี่ยนเครื่องบินคู่ชีพจากคิตตี้ฮอว์คที่แสนจะอึดมาเป็นสปิตร์ไฟร์ที่คล่องตัวแต่บอบบาง
แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปเลยคือความยอดเยี่ยมของผู้บังคับกองบินคอลเวล
โดยสามไตรมาสแรกของปี ๑๙๔๓ เขาส่งเครื่องบินของชาวอาทิตย์อุทัยไปเก็บในทะเลบ้าง
ป่าดงดิบบ้าง ถึง ๘ เครื่อง และกลายเป็นตัวแสบของนักรบบูชิโดไปโดยปริยาย
มัคชี่ ซี ๒๐๒ โฟลโกเร
(เครื่องนี้ตั้งแสดง ณ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งมิลาน)
เมื่อครองน่านฟ้าได้แล้ว
สถานการณ์รบทางอากาศได้เบาบางลงจนอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่าปลอดภัย กองบินหลวงออสเตรเลียจึงสั่งให้คอลเวลไปปฏิบัติหน้าที่ผู้บังคับกองบินฝึกทางยุทธวิธี
ที่ ๒ (Operational
Training Unit: ๒ OTU) ที่มิลดูร่า (Mildura) เมืองเล็ก ๆ
ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐวิคตอเรียที่มีชื่อเสียงในการปลูกส้มและองุ่น
แต่ที่มิลดูร่านี้ก็เป็นฐานฝึกบินทางยุทธวิธีที่สำคัญของออสเตรเลีย หน้าที่ของคอลเวลในครั้งนี้เป็นการฝึกนักบินให้คุ้นเคยกับการบินทางยุทธวิธีก่อนออกปฏิบัติการจริง
อย่างไรก็ดี
เมื่อญี่ปุ่นหันกลับมาตีหัวออสเตรเลียอีกครั้งในปี ๑๙๔๔ กองบินหลวงออสเตรเลียจึงไม่รีรอที่จะส่งมือปราบหนวดหินกลับมาครองอากาศเหนือดาร์วินอีกคำรบหนึ่ง
คราวนี้ในฐานะผู้บังคับกองบินที่ ๘๐ ซึ่งประจำการด้วยสปิตร์ไฟร์ Mk VIII แต่เมื่อเขากลับมา สถานการณ์รบในแปซิกฟิกได้ผันแปรไปอย่างรวดเร็ว
ญี่ปุ่นกำลังถูกตีโต้กลับอย่างหนักหน่วงจนถอยร่นไม่เป็นขบวน
และสัมพันธมิตรยึดหมู่เกาะอีสต์ อินดีส (Dutch East Indies) คืนจากญี่ปุ่นได้ กองบินหลวงออสเตรเลียจึงจัดตั้งหน่วยบินยุทธวิธีที่หนึ่ง
(First Tactical Air
Force) ขึ้น
โดยให้กองบินที่ ๘๐ ขึ้นอยู่กับหน่วยบินดังกล่าว ทำให้คอลเวลและกองบินที่ ๘๐
ต้องย้ายไปประจำการที่ฐานบินบนเกาะโมโรตาอิ (Morotai) เกาะขนาด ๑,๘๐๐ ตารางกิโลเมตร ทางตะวันออกของหมู่เกาะโมลุกกะ
เนื่องจากสถานการณ์สงครามขณะนั้นกองทัพแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิที่เคยเกรียงไกรถูกตีถอยร่นจนเกือบถึงแผ่นดินญี่ปุ่น
โดยมีอเมริการับบทพระเอกในโรงละครแห่งแปซิกฟิก ปฏิบัติการต่าง ๆ
ที่สำคัญจึงอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพอเมริกันทั้งสิ้น กองทัพสัมพันธมิตรอื่นทั้งอังกฤษ
ออสเตรเลีย ฮอลแลนด์ ได้รับบทตัวประกอบในปฏิบัติการที่ไม่มีความสลักสำคัญ สำหรับภารกิจที่กองบินขับไล่ที่
๘๐ รับผิดชอบ แทนที่จะเป็นการบินขับไล่ กลับได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการโจมตีภาคพื้นดินที่ไม่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เพราะห่างไกลจากแนวหน้ามาก
ซึ่งนอกจากจะไม่ใช่ภารกิจของเครื่องบินขับไล่แล้ว ยังเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุด้วย
คอลเวลกับนักบินชั้นเซียนแห่งกองบินที่ ๘๐ อีก ๗ คน จึงขอลาออกจากราชการเพื่อประท้วงการที่ผู้บังคับบัญชากำหนดภารกิจไม่เหมาะสมที่ว่า
การยื่นใบลาออกของคอลเวลกับพวกได้กลายเป็นข่าวใหญ่โตและรู้จักกันในนาม
“กบฏแห่งโมโรตาอิ” (Morotai
Mutiny) ซึ่งทางการเห็นว่าเป็นการกระทำที่ขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาจึงระงับใบลาออกและตั้งกรรมการสอบสวน
และต่อมากบฏแห่งโมโรตาอิทั้ง ๘ นายถูกดองเค็มและลดยศ
อย่างไรก็ดี
ผลการสอบสวนปรากฏต่อมาในภายหลังว่าเหตุผลที่คอลเวลกับพวกอ้างในการขอลาออกเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนัก
และการมอบหมายให้กองบินขับไล่ไปปฏิบัติหน้าที่โจมตีภาคพื้นดินต่อเป้าหมายที่ไม่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เกิดจากความบกพร่องของผู้บังคับบัญชาที่กำหนดภารกิจไม่เหมาะสมและไม่คุ้มค่า
การกระทำของคอลเวลกับพวกจึงไม่เป็นความผิด และพวกเขาได้รับบรรดาสิ่งที่เสียไปกลับคืน
ไครฟ์
โรเบอร์ตสัน คอลเวล ยุติบทบาทของเขาในสงครามอันแสนโหดร้ายในตำแหน่งประจำกองบัญชาการหน่วยบินยุทธวิธีที่หนึ่งที่เมลเบอร์น และลาออกจากราชการในปี ๑๙๔๖ แล้วหันมาทำธุรกิจนำเข้าเสื้อผ้าที่ซิดนีย์บ้านเกิดจนร่ำรวย
“เดอะ คิลเล่อร์” ซึ่งเป็นตำนานของนักบินออสเตรเลียที่ระเหเร่ร่อนไปสร้างชื่อเสียงในแอฟริกาเหนือผู้นี้เสียชีวิตอย่างสงบในซิดนีย์บ้านเกิดเมื่อวันที่
๕ สิงหาคม ๑๙๙๔ รวมอายุ ๘๔ ปี